Digital Law
- 09 ก.ย. 64
-
11220
-
อัปเดตร่างกฎหมาย Digital Platform กับข้อสงสัยที่ใคร ๆ อยากรู้
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 คณะรัฐมนตรี ได้ให้การอนุมัติหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... และปัจจุบันร่างกฎหมายดุังกล่าวได้อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการฯ ได้ให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อนำความคิดเห็นมาวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน และปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนเข้าสู่กระบวนการในลำดับถัดไป
ในการนี้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นต่อร่างฯ พ.รฎ. ได้ที่ ระบบกลางทางกฎหมาย คลิกที่นี่
(ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .… ซึ่ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง และได้ปรับแก้ตามข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ไปแล้ว ปัจจุบัน ร่างนี้ อยู่ในขั้นนำเสนอให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณา (ดาวน์โหลดร่างล่าสุดได้ท้ายบทความ) ซึ่งยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนก่อนประกาศใช้
ถาม |
ตอบ |
1. กฎหมายฉบับนี้กำหนดหน้าที่อะไรบ้าง |
ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ มุ่งเน้นไปที่การควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยกำหนดหน้าที่ในการประกอบธุรกิจ ในเรื่องหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1) หน้าที่ในการแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ
2) หน้าที่เพิ่มเติม สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะหรือประเภทตามที่ ETDA ประกาศกำหนด ในการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างชัดเจนก่อนหรือขณะใช้บริการ
3) หน้าที่เพิ่มเติม สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่หรือที่มีลักษณะเฉพาะ ตามประกาศของ ETDA โดยความเห็นชอบของ คธอ. |
2. กฎหมายฉบับนี้กำหนดหน้าที่ให้ใครบ้าง |
ขอบเขตนิยามของ “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายความว่า
1. การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่
2. มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว(E-tailer) จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายนี้ เช่น Brand.com อย่างไรก็ตามถ้าหากมีการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยให้บุคคลภายนอกสามารถเป็นผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มได้ ก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ |
3. ใครได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากการมีกฎหมายฉบับนี้ |
ผู้ประกอบธุรกิจ:
- มีความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจและปฏิบัติตามกฎหมาย
- บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะหรือประเภทของการให้บริการที่เหมือนกัน อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
- การประกอบธุรกิจและการดำเนินธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด
- ผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้น
ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป) :
- มีมาตรการที่ดีในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการ
- ได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็น เพื่อความเป็นธรรมในการใช้งาน
- มีความเชื่อมั่นในการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
- ได้รับบริการจากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม
- กรณีที่เกิดปัญหา ผู้ใช้บริการมีข้อมูลเพียงพอในการติดต่อกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้แจ้งให้ ETDA ทราบ
หน่วยงานภาครัฐ:
- มีตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศในการติดต่อประสานงานหรือขอข้อมูล
- เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับรูปแบบและการดำเนินธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีเวทีในการหารือกับ Stakeholders เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกัน
- เมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้บริการบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งผลให้เป็นการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโต
- มีกลไกที่ใช้ดูแลเพื่อลดความเสี่ยงในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
|
4. มีข้อมูลที่หน่วยงานอื่นหมดแล้ว จะลดภาระให้ผู้ประกอบธุรกิจอย่างไร |
ในร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ มีการกำหนดกลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยภาครัฐในการเชื่องโยงข้อมูลระหว่างกัน เพื่อที่จะลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจในการส่งข้อมูลซ้ำ ๆ ให้กับ ETDA จึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่จำเป็นที่จะต้องส่งข้อมูลที่เคยส่งให้กับหน่วยงานอื่นมาแล้วให้กับ ETDA ซ้ำอีก โดยข้อมูลที่เชื่อมโยงกันนั้นเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบุรกิจจะต้องให้ ETDA ตามแบบฟอร์ม หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งให้ทราบอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการลดภาระในการดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจ จึงกำหนดให้หน่วยงานที่มีข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน |
5. ความเท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจไทยกับต่างประเทศ |
ผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในไทยหรือต่างประเทศ หากมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการผู้บริโภคในไทย จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดียวกันตามที่กฎหมายนี้กำหนด โดยมีกลไกและมาตรการต่าง ๆ เสริมในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายนี้ให้เกิดความเท่าเทียมกัน เช่น การกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่นอกราชอาณาจักรต้องมีการแต่งตั้งตัวแทนในไทย และกลไกการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวข้อง ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะอยู่ในไทยหรือต่างประเทศ |
6.เหตุผลในการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศแต่งตั้งตัวแทนในไทย |
เพื่อให้มีช่องทางทางในการติดต่อประสานงานกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ ในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ โดยอ้างอิงการกำหนดในเรื่องการแต่งตั้งตัวแทนมาจากมาตรา 37 (5) แห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเป็นการกำหนดให้แต่งตั้งตัวแทนในไทยที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนโดยไม่จำกัดความรับผิดเกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมายนี้ |
7. ตัวอย่างมาตรการเพื่อประชาชน |
มีทะเบียนการรับแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหมายรับรองการแจ้งให้ทราบ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ถึงสถานะของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่าได้มีการแจ้งให้ ETDA ทราบแล้วหรือยัง ประกอบกับเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงความเสี่ยง และมีความระมัดระวังในการตัดสินใจเลือกใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล |
8. กฎหมายฉบับนี้จะไม่ไปทับซ้อนกับกฎหมายอื่นอย่างไร |
ในกรณีที่มีบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลอื่นอยู่แล้ว ETDA สามารถอาศัยกลไกตามกฎหมายนี้ในการออกประกาศยกเว้นหน้าที่ในการแจ้งให้ทราบของบริการดังกล่าวได้ โดย ETDA จะใช้กลไกในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลบริการดังกล่าวแทน
ส่วนในกรณีมีกฎหมายอื่น กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้อยู่แล้ว ETDA มีหน้าที่ในการส่งเสริมหรือสนับสนุน ให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลปัญหาเฉพาะและผู้ประกอบธุรกิจ ปรึกษาหารือร่วมกัน ในการออกแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หรือแนวทางการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม (Self-regulate) เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน |
9. กฎหมายนี้ครอบคลุมถึงปัญหาสำคัญ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ และสามารถแก้ไขได้อย่างไร |
ในกรณีที่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยีหรือรูปแบบของการประกอบธุรกิจ กฎหมายได้กำหนดในเรื่องการออกหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ หรือที่มีลักษณะเฉพาะ เพื่อเป็นกลไกในการรองรับความจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากการที่รูปแบบและการดำเนินธุรกิจของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงไป เช่น Super app |
10. กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด? และผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจไปก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง |
เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ผู้ประกอบุรกิจยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้กำหนด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้มีผลใช้บังคับ (มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม 180 + 30 = 210 วัน) และหากผู้ประกอบธุรกิจต้องการที่จะประกอบธุรกิจต่อไป ก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้สำนักงานทราบภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว |
เหตุผลและความจำเป็น
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของสาธารณชน ทั้งยังตอบสนองต่อรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลาย จึงทำให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญ ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจึงมีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการกำหนดขอบเขตของการประกอบธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจบริการสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลบางลักษณะหรือบางประเภทเพื่อให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการซึ่งรวมถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเหมาะสม และหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจบริการสำหรับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะ
ตลอดจนกำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมกลไกการบังคับใช้ของกฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งยังเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ใช้บริการในกรณีที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่นอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน
ขับเคลื่อนร่างกฎหมาย Digital Platform เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทยไปด้วยกัน