Digital Platform Services
- 06 ส.ค. 67
-
383
-
ETDA เปิดข้อเงื่อนไข ‘กฎหมาย DPS’ ที่ ‘แพลตฟอร์มดิจิทัล’ ต้องทำก่อนเลิกให้บริการ พร้อมชี้ช่องรักษาสิทธิที่ ‘ผู้ใช้’ ต้องรู้!
การใช้งาน “แพลตฟอร์มดิจิทัล” น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันกันไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ สั่งอาหาร การรับชมความบันเทิง ไปจนถึงขั้นการสืบค้นข้อมูลก็สามารถใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยอำนวยความสะดวกแต่เราเคยตั้งคำถามกันไหมว่า…ถ้าหากวันหนึ่งบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันที่เรา เคยใช้กันจนคุ้นเคย หรือ เป็นแหล่งรายได้ของเรา อยู่ๆ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มนั้นเกิดยุติการให้บริการ หรือเลิกประกอบธุรกิจไป เราในฐานะผู้ใช้บริการที่มีการทำธุรกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์มอาจได้รับผลกระทบจากการเลิกประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มดิจิทัล เราจะทำอย่างไร? และแพลตฟอร์มดิจิทัลเองในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มที่ต้องการเลิกประกอบธุรกิจ หรือยุติการให้บริการสามารถทำได้ทันทีเลยไหม? หรือมีข้อกำหนด หน้าที่อะไรที่ต้องทำบ้าง? เพื่อให้การเลิกประกอบธุรกิจนั้นๆ ไม่สร้างความเสี่ยงและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด
วันนี้ ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมาย DPS หรือ Digital Platform Services จะมาไขข้อสงสัย เปิดข้อเงื่อนไขของประกาศที่เกี่ยวข้องภายใต้ กฎหมาย DPS ที่ ‘บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ต้องทำก่อน เลิกประกอบธุรกิจ…พร้อมชี้ช่องรักษาสิทธิที่ ‘ผู้ใช้’ ต้องรู้!
กฎหมาย DPS ชี้ชัด ‘บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ต้องแจ้งก่อนเลิกประกอบธุรกิจ
อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า วันนี้เรามี “พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565” หรือที่ใครก็รู้จักในชื่อ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่เข้ามากำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการแก่คนไทย เพื่อให้ระบบนิเวศของการให้บริการแพลตฟอร์มมีความโปร่งใส เป็นธรรม เมื่อผู้ใช้เข้าใช้งานแล้วเกิดปัญหาจากการใช้งาน เช่น ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้วถูกโกง ถูกหลอก ผู้ใช้ก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือ มีช่องทางในการติดต่อทั้งผู้ขายและผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมาย DPS ไม่เพียงกำหนดหน้าที่ให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็น “บริการสื่อกลาง” ต้องมาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจเมื่อเริ่มประกอบธุรกิจให้บริการเท่านั้น แต่เมื่อต้องการจะเลิกประกอบธุรกิจบริการ หรือ ยุติการให้บริการก็ต้องมา “แจ้งเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ให้ สำนักงาน ในทีนี้หมายถึง ETDA รวมถึง ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้าแม่ค้าบนแพลตฟอร์ม ผู้บริโภค รวมถึงไรเดอร์ เป็นต้น ทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีเวลาในการปรับตัวและหาทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้บริการ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีคุณลักษณะไหนบ้าง? ที่ต้องแจ้งก่อนเลิกให้บริการ
ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนเลิกประกอบธุรกิจหรือเลิกให้บริการ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
กลุ่มแพลตฟอร์มที่มีหน้าที่ต้องมาแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ กลุ่มนี้จะมีทั้งหมด 3 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลประเภททั่วไป ตาม มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 รายต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) อีกประเภทคือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ตาม มาตรา 16 ที่เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะให้บริการโดยคิดค่าบริการ, ให้บริการเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ, ผู้ประกอบธุรกิจมีสัญญากับผู้ประกอบการในการเสนอสินค้าหรือบริการ หรือเป็นบริการ search engine และแพลตฟอร์มดิจิทัล ตามมาตรา 18 วรรคสอง ที่มีขนาดใหญ่ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร หรือ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยงที่มีผลกระทบในระดับสูง ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.)
ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ขอความร่วมมือให้แจ้งเลิกประกอบธุรกิจ โดยทาง ETDA มีกระบวนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสและความมั่นใจต่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ETDA จึงได้ขอความร่วมมือให้มาแจ้ง ซึ่งบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกลุ่มนี้ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็ก ตามมาตรา 8 วรรคสามและวรรคสี่ ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานไม่เกิน 5,000 รายต่อเดือน หรือ แพลตฟอร์มที่มีผลกระทบต่ำ ตามประกาศ คธอ. นั่นเอง
เปิดขั้นตอนที่ต้องทำ…ก่อนเลิกประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล
เมื่อเราทราบแล้วว่า กลุ่มแพลตฟอร์มที่มีหน้าที่ต้องมาแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ มีประเภทไหนบ้าง ก็มาเจาะลึกในประเด็นเรื่องของขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อต้องแจ้งเลิกกันต่อซึ่งตาม ประกาศ สพธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งการเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขของการแจ้งเลิกที่แพลตฟอร์มดิจิทัลแต่ละประเภทที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เริ่มที่ แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ถือเป็นบริการแพลตฟอร์มที่ให้บริการแก่คนไทยในวงกว้าง ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดว่าหากจะต้องการเลิกประกอบธุรกิจ ก็จะต้องแจ้งวันที่จะเลิก ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิก เช่น ต้องการให้วันที่เลิกประกอบธุรกิจ มีผลวันที่ 1 สิงหาคม ก็ต้องดำเนินการแจ้งเลิกกับ ETDA และผู้ใช้บริการ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน คือ ต้องแจ้งเลิกไม่เกินวันที่ 2 มิถุนายน เป็นต้น ขณะที่ แพลตฟอร์มดิจิทัลตามมาตรา 16 และมาตรา 18 วรรคสอง จะต้องแจ้งวันที่จะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยข้อมูลที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบกรณีแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจ เช่น วันที่และเหตุผลที่จะเลิก ช่องทางหรือวิธีการที่จะประกาศการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ ผู้ประสานงาน และช่องทางการติดต่อ เป็นต้น
แผนมาตรการเยียวยาห้ามขาด! สิทธิที่ผู้ใช้บริการต้องรู้
นอกจากระยะเวลาของการแจ้งเลิกล่วงหน้าที่แตกต่างกันแล้ว แพลตฟอร์ม มาตรา 16 และ มาตรา 18 วรรคสอง ก็จะต้องมีหน้าที่ต้องทำเพิ่มเติมต่างจาก บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ซึ่งในส่วนนี้ถือว่า มีความสำคัญ เพราะผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเองจะต้องรู้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการดูแลเยียวยาที่พึงมีได้ เพราะหน้าที่เพิ่มเติมที่ว่านั่นคือการจัดทำแผนและมาตรฐานในการดูแล เยียวยาผู้ใช้บริการภายใต้ ประกาศ คธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้หรือเยียวยาผู้ใช้บริการซึ่งได้รับความเสียหายจากการใช้ บริการ หรือการอื่นที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ ที่อย่างน้อยๆ แพลตฟอร์มที่มีลักษณะตามข้างต้น จะต้องมีมาตรการและกระบวนการในการดูแลผู้ใช้บริการก่อนเลิกประกอบธุรกิจ เช่น 1.แนวทางการหยุดการให้บริการเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการในการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการเลิกประกอบธุรกิจ 2. มาตรการในการชดใช้หรือเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหาย เช่น การจัดการชำระหรือโอนค่าบริการ การคืนค่าบริการ หรือการเก็บรักษาค่าบริการของผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถติดต่อได้หรือไม่ติดต่อขอรับภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงการจัดการข้อมูลต่างๆ 3. กระบวนการจัดการข้อพิพาทและช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ ที่อย่างน้อยจะต้องมี กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน, ช่องทางการให้ความช่วยเหลือและขั้นตอนการเยียวยาความเสียหาย และ 4. มาตรการอื่นๆ ที่ETDA อาจกำหนดเพิ่มเติม ถ้าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อสาธารณะชนในวงกว้างหรือไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้
ทั้งนี้การคุ้มครองให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มได้รับการดูแล เข้าถึงการเยียวยาและความเป็นธรรม ในการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลิกประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่เพียงช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการร่วมยกระดับบริการที่มีคุณภาพของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ไม่เพียงมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ยังใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการด้วย
ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจสามารถแจ้งข้อมูลแล หลักฐานต่างๆ ผ่านระบบแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของ ETDA ได้ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/login และหากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเงื่อนไขการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-123-1234 (ติดต่อทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS) ในช่วงวัน และเวลาราชการ (9.00-17.00 น.) หรือที่เพจ ETDA Thailand ส่วนผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1212 ETDA พร้อมรับเรื่องร้องเรียน ประสานงานการดูแลอย่างเต็มที่ ตลอด 24 ชั่วโมง
เรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมาย DPS ที่จะช่วยให้คุณชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ติดตามข้อมูล ความรู้ดีๆ เกี่ยวกับกฏหมาย DPS เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx หรือที่เพจ ETDA Thailand