TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

Vaccine Passport กับความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

Digital Trend Documents
  • 01 ก.ค. 64
  • 4919

Vaccine Passport กับความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้หลายประเทศกำหนดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศขึ้นโดยกิจกรรมทางธุรกิจที่สำคัญหลายอย่างถูกเลื่อน ยกเลิก หรือเปลี่ยนเป็นการประชุมผ่านทางออนไลน์ หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค แนะนำให้ธุรกิจทั้งหมดยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้เกิดการหดตัวอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศ

เมื่อหันมาพิจารณาผลกระทบของรายได้จากภาคการท่องเที่ยว จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ยังพบว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้รับความเสียหายจากปริมาณการเดินทางทางอากาศที่หดตัวอย่างรุนแรงมากที่สุด โดยมีจำนวนที่นั่งโดยสารลดลงกว่าร้อยละ 64 – 73 ซึ่งลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจำนวน 377 – 419 ล้านคน[1]

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากรายได้หลักของประเทศไทยมาจากภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง โดยในปี 2562 มี สัดส่วนถึงร้อยละ 16 ของ GDP โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อยละ 10 ของ GDP ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 61 จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด[2] โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคส่วนอื่น ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 6.1[3]

ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย หลังจากที่ได้มีการทยอยฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแนวคิดการใช้ Vaccine Passport[4] ซึ่งหมายถึงเอกสารหรือหลักฐานที่ยืนยันว่าบุคคลนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เรียบร้อยตามที่กำหนด โดยอาจมีข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลตรวจหา COVID-19 ล่าสุดอีกด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือเข้ามาช่วยคัดกรองและลดอุปสรรคในการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น ระยะเวลาการกักตัวที่น้อยลงหรือไม่ต้องกักตัวเลย เพื่อช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของประเทศสามารถขับเคลื่อนได้

สถานการณ์ Vaccine Passport ในต่างประเทศ

ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศแรกในโลกที่นำแนวคิดเรื่อง Vaccine Passport มาใช้ในชื่อ Green Pass[5] ซึ่งสามารถขอรับได้ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนได้ครบตามที่กำหนดหรือเป็นผู้ป่วยที่มีการรักษาหายแล้ว โดยประชาชนที่มี Green Pass นี้จะมีสิทธิพิเศษในการเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศที่อยู่ในข้อกำหนด ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม บาร์ ร้านอาหาร สระว่ายน้ำ รวมถึงสามารถเดินทางระหว่างประเทศกรีซ และไซปรัส ได้โดยที่ไม่ต้องมีการกักตัวจากที่ทั้งสามประเทศได้ทำความร่วมมือระหว่างกัน โดยสามารถแสดง Green Pass ได้ทั้งในรูปแบบกระดาษ และรูปแบบ QR code  

ประเทศจีนเปิดตัวแอปพลิเคชัน Virus Passport[6] ซึ่งอยู่ในแพลตฟอร์ม Social Media ชื่อดังอย่าง WeChat และแพลตฟอร์มอื่น ๆ บนสมาร์ตโฟน โดยจะมี QR health code  ที่ช่วยแสดงข้อมูลสุขภาพของผู้เดินทางไปต่างประเทศ หรือใช้เพื่อเข้าพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ในประเทศจีน อีกทั้ง แอปพลิเคชันนี้ยังสามารถใช้ติดตามตำแหน่งของผู้ใช้งานได้อีกด้วย โดยผู้ที่สุขภาพดีและไม่ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะแสดงสัญลักษณ์เป็นสีเขียว

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พัฒนา Travel Pass Application[7] โดยทำความร่วมมือกับบริษัท Evernym เพื่อให้ข้อมูลรับรองผู้โดยสารที่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 แก่สายการบินและประเทศจุดหมายปลายทางที่เป็นสมาชิกอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมีการนำระบบเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารรับรอง โดยไม่มีฐานข้อมูลกลางในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ผู้โดยสารสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้บนโทรศัพท์มือถือส่วนตัวในการสร้างหนังสือเดินทางดิจิทัล ตรวจสอบเอกสารรับรองการตรวจและการฉีดวัคซีนว่าตรงตามข้อกำหนดสำหรับการเดินทางหรือไม่ และส่งเอกสารรับรองรับรองให้กับเจ้าหน้าที่สายการบินและเจ้าหน้าที่ชายแดนเพื่อใช้ประกอบการเดินทาง โดยผู้โดยสารจำเป็นต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ตัวตน เช่น การถ่ายรูปหนังสือเดินทางของเทียบกับการถ่ายรูปใบหน้า จากนั้นผู้โดยสารจะได้รับหนังสือเดินทางดิจิทัลในรูปแบบ Verifiable Credentials จาก IATA ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญในการทำ Travel Pass คือการออกแบบระบบให้สามารถทำงานร่วมกันกับมาตรฐานและระบบที่ออกโดยองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น IBM, Microsoft ทาง Evernym จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Good Health Pass Collaborative ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับหนังสือเดินทางดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

หลังจากการทดลองโดยสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ หน่วยงานด้านสุขภาพและการควบคุมชายแดนของสิงคโปร์ ก็ยอมรับ Travel Pass นี้ ในรูปแบบการนำเสนอผลการทดสอบก่อนออกเดินทางของ COVID-19 สำหรับการเข้าสู่สิงคโปร์ ข้อมูลที่นำเสนอบน Travel Pass จะอยู่ในรูปแบบที่ตรงตามข้อกำหนดการทดสอบก่อนออกเดินทางของ COVID-19 ของสิงคโปร์สำหรับการเข้าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีสายการบินกว่า 20 แห่งที่ได้ประกาศทดลองใช้ Travel Pass นี้ [8] โดยรัฐบาลสิงคโปร์ เปิดประเทศต้อนรับผู้เดินทางจากทุกประเทศที่มีผลการตรวจ COVID-19 เป็นลบและใช้บัตร Travel Pass ของ IATA ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2564 เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ[9]

Vaccine Passport ประเทศไทย

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการลดวันกักตัวสำหรับชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย สำหรับชาวต่างชาติที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อทิศทางการท่องเที่ยวของไทย โดยหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการจัดทำ Vaccine Passport พร้อมกับติดตามความคืบหน้าจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในการจัดทำเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข[10] ได้ให้เหตุผลว่าการทำ Vaccine Passport นั้น จำเป็นต้องรอหลักเกณฑ์มาตรฐานโลกที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก ทำให้ระหว่างที่รอ ประเทศไทยจะออก Vaccine Certificate สำหรับบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 เรียบร้อยตามที่กำหนดก่อน เพื่อเริ่มเสนอให้ทำได้ทันที หาก WHO ออกมาตรฐานโลกมาเมื่อไร ประเทศไทยก็จะสามารถปรับให้เข้ากับมาตรฐานโลกได้อย่างรวดเร็ว 

ต่อมา ในวันที่ 20 เมษายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์แบบหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือ Vaccine Certificate[11] กรณีโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาของราชอาณาจักรไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเท่านั้น และจะต้องมีลายมือชื่อของอธิบดีกรมควบคุมโรคหรือผู้ที่อธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมายให้ออกเอกสารรับรอง พร้อมประทับตราหน่วยงานของผู้ที่ออกเอกสารรับรองนั้น โดยเอกสารรับรองนี้จะรับรองเป็นรายบุคคลเท่านั้น ซึ่งหนังสือรับรองนี้มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย ชื่อ และข้อมูลส่วนบุคคล เกี่ยวกับการได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ Vaccine Certificate และ Vaccine Passport มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในด้านการใช้งาน[12] คือ Vaccine Passport นั้น คาดหมายว่าประเทศอื่น ๆ จะให้การยอมรับและปฏิบัติต่อผู้ถือ Vaccine Passport เหมือน ๆ กัน ขณะที่ Vaccine Certificate นั้น แต่ละประเทศอาจมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามข้อตกลงของแต่ละหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศนั้น ซึ่งถ้าอ้างอิงตามนิยามนี้จะพบว่า Vaccine Passport ที่หลายประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในเวลานี้เป็น
e-Vaccine Certificate หรือ ใบรับรองการฉีดวัคซีนอิเล็กทรอนิกส์ ในสมาร์ตโฟน ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามีการฉีดวัคซีนจริง เพื่อให้สอดรับกับโลกยุคปัจจุบันที่เป็นโลกยุคดิจิทัล ในขณะที่ประเทศไทยนั้น ในกรณีที่จะเดินทางไปต่างประเทศจะต้องนำเอกสารรับรองมาขอสมุดเล่มเหลืองที่รับรองการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือ Vaccine Passport ได้ที่สถานพยาบาลที่ทำการฉีด โดยมีทั้งในรูปแบบเป็นเล่มกระดาษ และเป็นเล่มดิจิทัล

ผลกระทบทางสังคมต่อการทำ Vaccine Passport

แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ในการพยายามทำ Vaccine Passport มาปรับใช้ในประเทศ คือเพื่อต้องการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่นับเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย[13] มองว่า กรณีที่มาตรการของทางการสามารถดำเนินการได้ตามแผน และไม่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่จนเป็นอุปสรรคต่อแผนการเปิดประเทศ ทั้งปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีโอกาสแตะที่ 2 ล้านคน

แม้ว่า Vaccine Passport จะเป็นความหวังในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลาย ประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านกลับตั้งคำถามว่า เมื่อพิจารณาในมุมมองด้านสังคม Vaccine Passport นี้จะนำมาซึ่งประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม และรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของบุคคลหรือไม่

ในกรณีประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม[14] การมี Vaccine Passport จะแบ่งประชาชนทั่วโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 และมี Vaccine Passport ติดตัว และกลุ่มประเทศที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ผ่านการรับรองนั้น โดยทั่วไปจะแจกจ่ายให้กับประเทศที่ร่ำรวยพอที่จะซื้อหรือผลิตได้ ทำให้ประชาชนกลุ่มแรกจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ การต้อนรับเข้าสู่สถานที่ หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ในขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มจะไม่สามารถทำได้ เป็นการสร้างช่องว่างทางสังคมให้ย่ำแย่ลงไปอีก อีกทั้ง ถ้าพิจารณาลงไปถึงระดับประเทศ แม้ประเทศนั้น ๆ จะร่ำรวยพอที่จะซื้อวัคซีนเข้าประเทศ แต่ถ้าประชาชนในประเทศกลุ่มหนึ่งไม่มีสมาร์ทโฟนที่สามารถรองรับใบรับรองการฉีดวัคซีนอิเล็กทรอนิกส์ได้ แสดงว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการยืนยันตัวตนใช่หรือไม่

เมื่อพิจารณาในประเด็นเรื่องการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของบุคคล[15] Vaccine Passport ที่หลายประเทศกำลังพัฒนาอยู่จะต้องมี Digital ID เพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยข้อมูลที่จะบันทึกใน Vaccine Passport จะครอบคลุมทั้งข้อมูลสุขภาพทางการแพทย์ ข้อมูลการเดินทาง และข้อมูล Biometric ต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวล และรู้สึกเหมือนสูญเสียเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เมื่อรู้สึกว่าข้อมูลของตนนั้นจะถูกรวบรวมไว้ที่หน่วยงานรัฐ นำไปสู่การที่บางประเทศได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการเก็บข้อมูล เพื่อที่จะลดความกังวลในประเด็นด้านนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ดร.มาร์การ์เรต แฮร์ริส โฆษกของ WHO ได้ออกมากล่าวว่า[16] “ณ ขณะนี้ เราไม่ต้องการให้ Vaccine Passport เป็นข้อกำหนดในการเข้าหรือออกประเทศ เพราะเรายังไม่แน่ใจในขณะนี้ว่าวัคซีนจะป้องกันการแพร่เชื้อได้” และเธอยังระบุด้วยว่า วัคซีนพาสปอร์ตอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีผลกระทบด้านสังคม ในกรณีที่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้

บทสรุป

ในอนาคตกรณีที่ประเทศไทยจะมีการพัฒนา Vaccine Passport นั้น ก็อาจต้องพัฒนาเพื่อรองรับทั้งรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Holder) และแบบกระดาษ (Paper Holder) เพื่อให้ครอบคลุมและลดประเด็น Digital Divide ด้วย
         
ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่จะพัฒนา Vaccine Passport ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้นั้น นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนแล้ว ประเทศปลายทาง รวมไปถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่มีมาตรการให้แสดงข้อมูลดังกล่าว ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ว่ามีการฉีดวัคซีนจริง และป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร โดย e-Vaccine Passport นี้จำเป็นต้องมีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานข้างหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการนำเทคโนโลยีมารองรับการทำงาน เช่น การนำเทคโนโลยี Blockchain ในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารรับรองการรับวัคซีน ผลการตรวจสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Blockchain ที่สามารถคุยกันได้แบบ Cross-border มีเพียงแต่การใช้เฉพาะเครือข่ายภายในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เท่านั้น (Industry Network) หากลองยกตัวอย่างกรณีต่างประเทศอย่าง  EU ก็เลือกใช้เทคโนโลยี PKI เป็นทางออกที่ใช้ทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ ของประเทศในกลุ่ม EU จึงเห็นได้ว่า มีทางเลือกของการใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการทำงานของ Vaccine Passport ที่หลากหลาย

และอีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การจัดเก็บข้อมูลกลาง ซึ่งอาจจำเป็นต้องจัดเก็บเพื่อประโยชน์ในการทำงาน โดยต้องกำหนดการเข้าถึงฐานข้อมูลหลัก ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) ส่วนข้อมูลของแต่ละบุคคล อาจจัดเก็บไว้ที่เจ้าของข้อมูล เว้นแต่กรณีผู้เยาว์ หรือ บุคคลที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ (เช่น ทุพลภาพ) ก็อาจจัดเก็บที่ ผู้แทนโดยชอบธรรม (เช่น บิดา มารดา ผู้ปกครอง) ผู้พิทักษ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของการยืนยันตัวตนผ่าน Digital ID นั้น ทาง ETDA ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาและประกาศข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ เกี่ยวกับแนวทางการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับประเทศไทย (Digital Identity Guideline for Thailand)[17] ในส่วนของเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการจากทางภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับการปกป้องและคุ้มครอง อีกทั้ง ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์[18] เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมกับการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ

รวมทั้ง ในส่วนของเอกสารรับรองการรับวัคซีนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Vaccine Certificate ก็อาจจะนำ ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการจัดทำหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์[19] และ ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยโครงสร้างข้อมูลของเอกสารรับรองและเอกสารสำแดง[20] เลขที่ ขมธอ. 24-2563 (ETDA Recommendation: Data Structure of Verifiable Credentials and Presentations) ที่เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดโครงสร้างข้อมูลสำหรับเอกสารรับรอง (verifiable credential: VC) และเอกสารสำแดง (verifiable presentation: VP) ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาและความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล รวมถึงอธิบายความเชื่อมโยงในการใช้งาน VC และ VP ระหว่างเอนทิตีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยผู้ออกเอกสาร (issuer) ผู้ถือเอกสาร (holder) และผู้ตรวจสอบเอกสาร (verifier) เพื่อให้ผู้ถือเอกสารสามารถใช้ VC และ VP ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน การให้ความยินยอม การมอบอำนาจ หรือการแสดงข้อมูลที่ถูกรับรองแก่ผู้อื่น ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย มีการรักษาความเป็นส่วนตัว สามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการเข้ารหัสลับ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างกันตามมาตรฐานสากล มาใช้ประกอบในการทำงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Vaccine Passport ได้อีกด้วย

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ในกระบวนการพัฒนา Vaccine Passport นั้น มีกระบวนการ ขั้นตอนที่ต้องพิจารณาและร่วมกันออกแบบ เพื่อกำหนดมาตรฐานในการทำงานซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน เพื่อร่วมหาทางออกหรือ Solution ที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้มากที่สุด
 
 
[7] Business Use Cases ของระบบตัวตนดิจิทัลแบบ Self Sovereign Identity, ETDA
[8] Singapore Accepts IATA Travel Pass 

Vaccine Passport เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

Rating :
Avg: 5 (2 ratings)