TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

รู้จัก และทำความเข้าใจ Crowdfunding

Digital Service Documents
  • 30 ก.ย. 59
  • 4244

รู้จัก และทำความเข้าใจ Crowdfunding

1. Crowdfunding คืออะไร
Crowdfunding คือ การระดมทุนจากฝูงชนคนละจำนวนไม่มาก เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โครงการ หรือธุรกิจ ผ่านเว็บไซต์กลาง หรือที่เรียกว่า Platform การระดมทุนในรูปแบบดังกล่าวเหมาะสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มกิจการ เนื่องจากทำได้ง่ายและสะดวก

2. วิธีการระดมทุน และขั้นตอน
Crowdfunding จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์กลาง หรือ Platform มีขั้นตอน คือ ผู้ประกอบการ หรือผู้ต้องการระดมทุนจะนำเสนอโครงการ หรือธุรกิจของตนกับ Platform จากนั้น Platform จะนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ หรือธุรกิจดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ หากผู้ลงทุนมีความสนใจในธุรกิจดังกล่าว สามารถสนับสนุนเงินทุนโดยการโอนเงินให้กิจการ โครงการ หรือธุรกิจที่ตนเองสนใจผ่าน Platform ได้


Crowdfunding.png
แหล่งที่มาของภาพ : https://www.iosco.org/research/pdf/swp/Crowd-funding-An-Infant-Industry-Growing-Fast.pdf
 
3. รูปแบบของการระดมทุน
รูปแบบการระดมทุนของ Crowdfunding แบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบคือ

3.1 Donation-based Crowdfunding
Donation-based Crowdfunding เป็นการระดมทุนในรูปแบบการบริจาค มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมหรือการกุศล การลงทุนในรูปแบบนี้ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทน

3.2 Reward Crowdfunding
Reward Crowdfunding เป็นการระดมทุนเพื่อสังคมอีกประเภทหนึ่ง คล้ายกับ Donation-based Crowdfunding โดยการลงทุนในรูปแบบนี้ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน แต่จะได้รับผลตอบแทนเป็นสิ่งของ หรือสิทธิพิเศษตามที่เจ้าของโครงการกำหนด

3.3 Peer-to-Peer Lending
Peer-to-Peer Lending เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยการจับคู่ระหว่างผู้ให้ยืมกับผู้กู้ยืม ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมอาจเป็นได้ทั้งบุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจ ในการระดมทุน Platform จะเป็นผู้รวบรวมเงินทุนจากผู้ให้ยืมซึ่งเมื่อมีจำนวนที่เพียงพอตามที่ผู้กู้ยืมต้องการแล้ว ก็จะถูกส่งให้ผู้กู้ จากนั้นผู้กู้จะต้องชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนี้จะถูกกำหนดโดย Platform โดยมากจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแต่จะต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้โดยทั่วไป และจะถูกจ่ายให้แก่ผู้ให้ยืมจนกระทั่งครบอายุการกู้ยืม เมื่อผู้กู้ชำระเงินกู้คืนครบถ้วนแล้ว หรือเมื่อผู้กู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญา

3.4 Equity-based Crowdfunding
Equity-based Crowdfunding คล้ายคลึงกับ Peer-to-Peer Lending แต่การระดมทุน ในรูปแบบนี้ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นและได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นนั้นแทน ธุรกิจที่ระดมทุนด้วยวิธีนี้โดยมากเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น และการลงทุนในรูปแบบนี้มีความเสี่ยงมาก

4. ตัวอย่างผู้ให้บริการ Platform ในปัจจุบัน
4.1 Platform ที่ให้บริการประเภท Donation-based Crowdfunding ได้แก่

เทใจ
เทใจเป็น Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding ประเภท Donation-based Crowdfunding มีขั้นตอนการทำงาน ดังนี้
  1. เจ้าของโครงการนำเสนอข้อมูลโครงการให้เทใจตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม และสามารถรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
  2. เมื่อตรวจสอบแล้ว เทใจจะนำเสนอโครงการแก่สมาชิกผ่านเว็บไซต์ โดยรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ งบประมาณที่ต้องการ ยอดบริจาค ณ ปัจจุบัน และระยะเวลาที่เหลือในการบริจาค
  3. หากสมาชิกมีความสนใจจะทำการบริจาคเงินผ่านเทใจ โดยไม่มีการกำหนดยอดขั้นต่ำในการบริจาค ทั้งนี้ เทใจจะหักค่าธรรมเนียมในการให้บริการร้อยละ 10 ในทุกการบริจาค และมอบเงินบริจาคให้แก่เจ้าของโครงการและติดตามผลการดำเนินงานต่อไป
สำหรับการใช้งาน ผู้ใช้งานจะต้องสมัครสมาชิก หรือล็อกอินผ่าน Facebook เพื่อเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถร่วมบริจาคผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ Payment Gateway ต่างๆ ได้

4.2 Platform ที่ให้บริการประเภท Reward Crowdfunding ได้แก่

Cliquefund
Cliquefund เป็น Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding ประเภท Reward-based Crowdfunding สามารถเผยแพร่โครงการพร้อมรายละเอียดบนเว็บไซต์ ได้แก่ จำนวนเงินที่ต้องการระดมทุน วันสิ้นสุดการระดมทุน รายละเอียดผลตอบแทนตามจำนวนเงินที่สนับสนุน ซึ่งอาจอยู่ในรูปของ Financial หรือ Non-financial โดยการให้บริการ Platform จะไม่รับผิดชอบในการโอนเงิน และไม่รับประกันหรือรับรองในการทำสัญญาระหว่างบริษัทผู้ระดมทุนกับผู้บริจาค โดย Platform ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าบริษัทผู้ระดมทุนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำใดๆ ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทได้กำหนดขึ้น ดังนั้น การทำ Transactions ใดๆ ผู้บริจาคจะต้องพิจารณาด้วยตนเองอย่างรอบคอบ และในการทำ Financial Transaction ทุกครั้ง จะต้องแจ้งให้ Platform ทราบด้วย สำหรับการใช้งาน ผู้ใช้งานจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี และจะต้องสมัครสมาชิกเพื่อสร้าง Account ของตนเอง สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นบริษัทผู้ระดมทุนจะต้อง ชำระค่าบริการเป็นจำนวนร้อยละ 10 จากมูลค่าที่ระดมทุนได้ของแต่ละโครงการ

Crowdtivate
Crowdtivate เป็น Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding ในรูปแบบ Reward-based Crowdfunding โดยเว็บไซต์จะแสดงรายละเอียดโครงการ ระยะเวลาที่นำเสนอบนเว็บไซต์ เป้าหมาย การระดมทุน จำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุน จำนวนผู้สนับสนุน พร้อมข้อกำหนดสิทธิพิเศษที่ได้รับ ตามจำนวนเงินที่บริจาค สำหรับการโอนเงินระหว่างเจ้าของโครงการและผู้สนับสนุนสามารถทำได้โดย ใช้บริการของ Payment Gateway (ต่างประเทศ) หรือบัตรเครดิต สำหรับเจ้าของโครงการ Crowdtivate จะเรียกเก็บค่าบริการเป็นอัตรา ร้อยละ 4 ของมูลค่าที่ระดมทุนได้ในแต่ละโครงการ

เปิดหมวก
เปิดหมวกเป็นอีกหนึ่ง Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding ประเภท Reward-based Crowdfunding ผู้นำเสนอโครงการ จะต้องนำเสนอรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย เป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินโครงการ งบประมาณที่ต้องใช้ และข้อกำหนดสิทธิพิเศษที่ได้รับตามจำนวนเงินที่บริจาค เป็นต้น เพื่อให้เปิดหมวกพิจารณาก่อนนำเสนอแก่สมาชิกบนเว็บไซต์ ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ เปิดหมวกคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 จากเจ้าของโครงการจากยอดที่ระดมทุนได้ทั้งหมด โดยจะเรียกเก็บเมื่อโครงการสามารถระดมทุนได้สำเร็จแล้ว

4.3 Platform ที่ให้บริการประเภท Peer-to-Peer Lending ได้แก่

Prosper
Prosper เป็น Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding ในรูปแบบ Peer-to-Peer Lending โดยเว็บไซต์จะแสดงรายละเอียดโครงการ เป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการระดมทุน ระยะเวลาในการใช้คืน ผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้จะได้รับ อันดับความเสี่ยงในการลงทุนซึ่งโหวตโดยผู้ให้กู้ ยอดเงินที่ระดมทุนได้ ยอดที่เหลือ และค่าบริการของผู้ให้ยืม เป็นต้น สำหรับอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมในการกู้จะคิดเป็น ร้อยละตามอัตราที่ Platform กำหนด นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าปรับกรณีชำระเงินกู้ล่าช้า ซึ่งค่าปรับดังกล่าวจะถูกส่งให้ผู้ให้กู้ต่อไป

4.4 Platform ที่ให้บริการประเภท Equity-based Crowdfunding ได้แก่

Crowdcube
Crowdcube เป็น Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding ในรูปแบบ Equity-based Crowdfunding ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ 3 รูปแบบ คือ 1. Equity 2. Venture Fund และ 3. Mini-Bond แต่ละรูปแบบมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้
  1. Equity เป็นการลงทุนในธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูง โดยผู้ลงทุนจะเลือกธุรกิจที่ตนเองต้องการลงทุน การลงทุนในรูปแบบดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง การลงทุนเริ่มต้น ขั้นต่ำที่ 10 ยูโร
  2. Venture Fund เป็นการลงทุนที่มีผู้จัดการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุนเลือกการลงทุน ให้ผู้ลงทุนสามารถรับทราบสถานะความก้าวหน้าจากผู้จัดการกองทุน การลงทุนเริ่มต้นขั้นต่ำที่ 2,500 ยูโร
  3. Mini-Bond เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับรายได้คงที่ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ขึ้นไป ผู้ลงทุนสามารถเลือกบริษัทที่จะลงทุน โดยประเภทธุรกิจที่เปิดให้ลงทุนส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นธุรกิจที่จัดตั้งแล้ว การลงทุนประเภทนี้เป็นการลงทุนที่ไม่มีความปลอดภัย ไม่สามารถโอนหรือแปลงสภาพได้ และต้องรับภาระความเสี่ยงสูง การลงทุนเริ่มต้นขั้นต่ำที่ 500 ยูโร
สำหรับบริษัทผู้กู้ยืม เมื่อยอดระดมทุนบรรลุตามเป้าหมายแล้วจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดเงินกู้ และค่าบริหารจัดการอีก 2,500 ยูโร พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม

4.5 Platform ที่ให้บริการ Crowdfunding หลายประเภท ได้แก่

Crowdo
Crowdo เป็นบริษัท Platform ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลูกค้าที่เป็น ผู้ต้องการระดมทุนตั้งแต่บริษัทที่พึ่งเริ่มกิจการ บริษัทขนาดใหญ่ และองค์กรทางสังคมระดับโลก Crowdo มีการให้บริการ Crowdfunding ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ Reward Crowdfunding Peer to Peer lending และ Equity Crowdfunding ซึ่งการระดมทุนในรูปแบบ Reward Crowdfunding บริษัทสามารถนำเสนอรายละเอียดโครงการ พร้อมรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ ระยะเวลาในการนำเสนอบนเว็บ เป้าหมายการระดมทุน จำนวนผู้สนับสนุนและเงินที่ได้รับการสนับสนุน พร้อมข้อกำหนดและสิทธิพิเศษที่ได้รับจากการสนับสนุนเงินทุนในจำนวนต่างๆ

สำหรับการระดมทุนในรูปแบบ Peer to Peer lending และรูปแบบ Equity Crowdfunding ผู้ลงทุนหรือบริษัทผู้ต้องการระดมทุนจะต้องทำการสมัครสมาชิก และรอการตรวจสอบยืนยันโดยเว็บไซต์ ก่อนเริ่มใช้งาน สำหรับค่าบริการ เจ้าของโครงการจะต้องจ่ายค่าบริการจำนวนร้อยละ 9.5 ของมูลค่าเงินทุน ที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละโครงการ

5. ข้อดี และความเสี่ยงของการทำ Crowdfunding
5.1 ข้อดี
  1. การระดมทุนสามารถทำได้ง่าย และสะดวก
  2. ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในจำนวนไม่มาก แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง
  3. เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจเจ้าใหม่หรือขนาดเล็กที่ไม่สามารถระดมทุนจาก IPO มีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ
5.2 ความเสี่ยง
  1. ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำกับควบคุมการทำ Crowdfunding โดยเฉพาะ จึงอาจเกิดความเสี่ยงในการถูกล่อลวง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก Platform
  2. มีความเสี่ยงในการลงทุน หรือไม่ได้รับเงินลงทุนคืน เนื่องจากธุรกิจที่ต้องการระดมทุนส่วนมากเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น จึงมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจสูง
  3. มีความเสี่ยงในเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัย หรือไม่มีประสิทธิภาพของเว็บไซต์ Platform
6. ข้อเสนอแนะ
นอกจากความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุน ยังมีประเด็นความเสี่ยงเรื่องความน่าเชื่อถือของ Platform เช่น การถูกหลอกลวงจากเว็บไซต์ หรือเว็บไซต์ไม่ปลอดภัยจากการถูกโจมตี เป็นต้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับการกำกับดูแล Platform ดังนั้น จึงต้องมีการออกกฎหมาย หรือหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลการระดมทุนต่อไป

เอกสารอ้างอิง:
  1. https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/616084#sthash.DojewzOi.dpuf
  2. https://capital.sec.or.th/webedu/upload/file-09062015160156866.pdf
  3. https://www.iosco.org/research/pdf/swp/Crowd-funding-An-Infant-Industry-Growing-Fast.pdf
  4. https://taejai.com
  5. https://www.crowdo.com
  6. https://www.cliquefund.com
  7. https://www.prosper.com
ผู้เขียน: กลุ่มงานกำกับฯ

Rating :
Avg: 4 (1 ratings)