TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

สถานการณ์ Cryptocurrency ของประเทศไทย

Digital Service Documents
  • 29 ก.ย. 61
  • 11453

สถานการณ์ Cryptocurrency ของประเทศไทย

Cryptocurrency เกิดจาก คำว่า “Crypto” มาจากคำว่า “Cryptography” ซึ่งมีความหมายว่า การเข้ารหัส และคำว่า “Currency” แปลว่า สกุลเงิน หรือแปลตรงตัว ก็คือ "สกุลเงินเข้ารหัส”

Cryptocurrency หากอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ คือ 1) ไม่มีลักษณะกายภาพ เป็นกลไกทางคณิตศาสตร์ กลไกทางคอมพิวเตอร์ 2) การมีอยู่แบบกระจาย เมื่อใช้งานแล้วจะมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ใดเครื่องหนึ่ง และ 3) ต้องมีการถอดรหัสออกมาถึงจะสามารถใช้งานได้


crypto_currency_definition-(1).jpg
 
ภาพที่ 1 : คำนิยาม Cryptocurrency
 
ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้กำหนดนิยามของ“Cryptocurrency” ไว้ว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศกําหนด”

Cryptocurrency ไม่ได้ถือว่าเป็นเงินตรา ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากเงินตราต้องถูกกำหนดโดยรัฐ ซึ่งจะต้องมีทุนสำรองเงินตรา เช่น ทองคำ เงินตราต่างประเทศที่พึงเปลี่ยนได้ หลักทรัพย์ เป็นต้น ประกอบกับ มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตราฯ กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทํา จําหน่าย ใช้ หรือนําออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี”

จำนวนสกุลเงิน cryptocurrency
ข้อมูลจาก  https://coinmarketcap.com ซึ่งถือว่าเป็นเว็บไซต์กลางที่รวบรวมข้อมูลสถิติของสกุลเงินดิจิทัลเพื่อเปิดเผยแก่สาธารณะ พบว่าปัจจุบันประเภทสกุลเงิน Cryptocurrency มีมากถึง 2,149 สกุลเงิน โดยพบว่า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่ามากที่สุดตามราคาตลาด คำนวณจากจำนวนเหรียญคูณด้วยอัตราการซื้อขายมากที่สุด ได้แก่ Bitcoin, Ethereum, Ripple, Bitcoin Cash, Litecoin ตามที่กล่าวในข้างต้นกว่า Cryptocurrency ไม่ได้มีการกำหนดมูลค่า ด้วยทองคำ หรือสินทรัพย์อื่นใดในการค้ำประกันของรัฐบาลกลางเหมือนสกุลเงินตราปกติ แต่ราคาถูกกำหนดตามอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งมีความนิยมแตกต่างกันไป ดังนั้น ราคาต่อหน่วยจึงมีความผันผวน และมีความอ่อนไหว อาจทำให้คิดว่าไม่มียั่งยืน หรือความมั่นในใจมูลค่าได้
 
Type_Cyptocurrency.jpg

ภาพที่ 2 : สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าสูง 5 อันดับแรก
 
สถานการณ์และพฤติการณ์ในการกระทำผิดเกี่ยวกับ Cryptocurrency
หลายคนอาจจะได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนเรื่อง Cryptocurrency มาบ้าง ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอข่าวเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ปี 2557 เมานท์ก็อกซ์ (Mt. Gox) เว็บค้า bitcoin รายใหญ่ที่สุดในโลกของญี่ปุ่น สั่งระงับการแลกเปลี่ยน ปิดเว็บไซต์และยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ โดยอ้างว่า Bitcoin ของบริษัทและลูกค้าถูกขโมยไปร่วม 850,000 หน่วย มูลค่าในเวลานั้นกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 14,400 ล้านบาท

ปี 2560 มีการรายงานข่าวว่า กรณี ยูบิท เว็บไซต์ตลาดแลกเปลี่ยน cryptocurrency ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ปิดตัวและยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะล้มละลาย สาเหตุเพราะถูกเจาะระบบขโมยเงินดิจิทัลเป็นครั้งที่สองของปี ทำให้ทรัพย์สินหาย ส่งผลต่อ Cryptocurrency ของลูกค้าลดลง 75%

สำหรับประเทศไทย มีการแจ้งความดำเนินคดีว่า ผู้เสียหายได้มีการถูกชักชวนในกลุ่ม Line ให้เข้ามาลงทุนใน Bitcoin โดยการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ แล้วจะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนให้ โดยทางมิจฉาชีพมี Package ในการลงทุน Bitcoin เป็นการชี้ชวนให้ลูกค้าเข้ามาลงทุนเช่น Package ลงทุน 3,000 ดอลลาร์ ได้เงิน 108,000 บาทต่อเดือน และหากชวนคนมาลงทุนจะได้อีก 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่เพื่อนนำมาลงทุน หรือลงทุนสี่แสนบาทก็จะได้รางวัลไปเที่ยวต่างประเทศอีกด้วย แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลาที่จะถอนเงินก็โดนประวิงเวลาและทางมิจฉาชีพก็ทำการปิดเว็บไซต์หนีไป และล่าสุด สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กองปราบบุกจับนายแบบชื่อดัง ฐานฟอกเงิน หลังหลอกต่างชาติลงทุนเงินสกุล bitcoin เสียหายกว่า 700 ล้านบาท นั้น เป็นลักษณะการแอบอ้าง หรือใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการหลอกลวง

จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า เมื่อ cryptocurrency เริ่มมีความนิยมมากขึ้นในระดับหนึ่ง ส่งผลทำให้มีนักฉวยโอกาสขึ้นมาหลายกลุ่มและหลายรูปแบบ บางคนก็ฉวยโอกาสรีบซื้อในขณะที่ราคามันยังน้อย เพราะต้องการเก็งกำไรในอนาคต บางคนฉวยโอกาสรีบกว้านซื้อการ์ดจอเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับขุดเหมือง bitcoin มาตุน เพราะคิดว่าในอนาคตมันจะขาดตลาด แต่ในขณะที่คนบางกลุ่มเลือกที่จะหลอกลวงผู้คนโดยการนำมันมาประยุกต์เขากับแชร์ลูกโซ่

แต่หากพิจารณาแล้วสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการกระทำผิดเกี่ยวกับ Cryptocurrency นั้น เกิดจากประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัลที่เพียงพอ คนไม่มีความรู้อาจถูกหลอกลวงไปเล่นได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องยังอาสาเล่น เมื่อเล่นก็อาจจะถูกหลอกลวงได้ง่าย Cryptocurrency หากถูกเปรียบเทียบกับเงินแล้ว ก็เหมือนกับธนบัตร บัตรเครดิต ถ้าวันนี้ถูกล้วงกระเป๋า จะเกิดอะไรขึ้น หรือ โจรขโมยขึ้นบ้าน ขนตู้เซฟ สำหรับ Cryptocurrency ก็สามารถถูกโจรกรรมได้เหมือนกัน นั่น คือการแฮ็กข้อมูล การเข้าถึงและเอาข้อมูลไปใช้โดยมิชอบ จนทำให้จำนวนเงินที่เรามีอยู่ลดลงไปได้
 
Crypto_risk.jpg

ภาพที่ 3 : ความเสี่ยงของ Cryptocurrency
 
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถแบ่งกลุ่มความเสี่ยงของ Cryptocurrency ได้ ดังนี้
  1. การใช้ฟอกเงิน สนับสนุนการก่อการร้าย เป็นช่องทางมิจฉาชีพ
  2. การเก็งกำไร การหลอกระดมทุน ภัยคุกคามระบบสารสนเทศ และการแฮ็กกระเป๋าเงิน
  3. การหลอกให้ลงทุน แชร์ลูกโซ่

Law_related_Crypto.jpg

ภาพที่ 4 : กฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง
 
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุน ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม อาศัยอำนาจตามกฎหมาย ดังนี้

พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์ในการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม โดยส่งเสริมให้เกิดมาตรฐาน หรือกฎเกณฑ์ กำหนดนโยบายการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกันเพื่อให้การทํางานระหว่างระบบสามารถทํางานเชื่อมโยงกันได้อย่างมีความมั่นคงปลอดภัย อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมตลอดทั้งทําให้ระบบหรือการให้บริการมีความน่าเชื่อถือ และแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมีหลักประกัน การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของประชาชนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ

พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551
พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายระหว่างเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์กับเอกสารในรูปแบบเดิม ทั้งนี้ รวมถึงการกำหนดเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และกิจกรรมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ โดยเปิดช่องไว้ว่า ศาลไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่รับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดว่าวิธีการนำสืบเพื่อให้ศาลรับฟังต้องทำอย่างไร เนื่องจากเพราะในกฎหมายวิธีพิจารณาความทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาพูดถึงเรื่องพยานหลักฐานไว้ค่อนข้างจำกัดเกี่ยวกับรูปแบบ กล่าวคือ มีการระบุว่าพยานหลักฐานที่ใช้ในคดีความ มีทั้ง พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานผู้เชี่ยวชาญ แต่พยานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อาจมีปัญหาว่าไม่เข้าพวกตามที่กล่าวข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก็กำหนดให้ศาลมิอาจปฏิเสธได้ สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้

พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560
พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันนำไปสู่การก่อให้เกิดความเสียหายกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของรัฐ ความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากเกิดการหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อมูลเท็จถือว่า มีความผิดตามข้อกฎหมายของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ นั้น มาตรา 14 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  1. โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
  2. นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  3. นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
  4. นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
  5. เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม 1. 2. 3. หรือ 4. ...”
Cryptocurrency มีผลกระทบกับรูปแบบการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ การโอนเงินหรือหลักทรัพย์ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ การยืนยันตัวตน (Digital ID) แนวคิด Sharing Economy คือ แนวคิดที่จะใช้ความสามารถในการสร้างรายได้ที่มาจากการแลกเปลี่ยนการบริโภคสินค้าหรือบริการ ที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้แล้ว ระหว่างบุคคลและกลุ่มคนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ)

Cryptocurrency ใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นหลักการ Distributed Ledger ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกลไกของตัวกลางหรือหน่วยงานกลาง ในการดำเนินการกับธุรกรรมนั้นๆ ทำให้ในทางกลับกัน อาจเกิดปัญหาในเชิงนโยบายที่จะพิจารณาติดตามหรือกำกับดูแลในบางเรื่อง ซึ่งถ้ากฎหมายยังไม่ครอบคลุม หากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบหรือผู้ใช้บริการ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาในเชิงการคุ้มครองผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้ ประกอบกับประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือ เช่น ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับระบบการเงิน การเจาะระบบของผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Cryptocurrency การหลอกลวง (Scam) การปลอมตัวตนและปัญหาการยืนยันตัวบุคคล ได้

ดังนั้น เพื่อให้ลดความเสี่ยง จึงต้องมีการพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ หรือกำหนดนโยบายเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต แต่ประเด็นที่สำคัญมากกว่าการปราบปรามการกระทำผิด คือ การป้องกันการกระทำผิด หรือการรู้เท่าทัน จากการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการกิจกรรมหรือเกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้งานอย่างปลอดภัย รวมถึงความท้าทายด้านนโยบายของภาครัฐคือ การค้นหาหน่วยงานหรือรูปแบบที่เหมาะสมที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Blockchain มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์รูปแบบ ต้นทุนและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอย่างถี่ถ้วนก่อน นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างการออกกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่จะมากำกับดูแล กับการเฝ้าติดตาม Monitor การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในเรื่องนี้ เพราะหากคุมเข้มงวดมากเกินไป นวัตกรรมต่างๆ หรือบริการรูปแบบใหม่ๆ ก็อาจจะไม่เกิด และอาจกลายเป็นข้อจำกัดบางประการในการไปสู่ Thailand 4.0

เอกสารอ้างอิง:
  1. เอกสารงาน Fintech & Cryptocurrency VS Law Enforcement, 24 พ.ค. 2561
  2. พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
  3. https://coinmarketcap.com
  4. https://siamblockchain.com
  5. https://www.posttoday.com
ผู้เขียน: กลุ่มงานกำกับฯ

Rating :
Avg: 5 (4 ratings)

Related Articles

SMART CONTRACT คืออะไร ?
  • 29 ก.ย. 61
  • 50533
Bit Coin กับ Block Chain
  • 17 ต.ค. 60
  • 945