TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

ลัคนาไหนก็ปังรับปี 65! ETDA (เอ็ตด้า) เปิดความลับ 5 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Signature  แบบไม่รู้ตัว รู้แล้วพาชีวิตไหลลื่น ธุรกิจปัง รับยุคดิจิทัล

Digital Law Documents
  • 12 ม.ค. 65
  • 2172

ลัคนาไหนก็ปังรับปี 65! ETDA (เอ็ตด้า) เปิดความลับ 5 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Signature แบบไม่รู้ตัว รู้แล้วพาชีวิตไหลลื่น ธุรกิจปัง รับยุคดิจิทัล

เพราะลายมือชื่อเป็นเครื่องมือสำคัญประเภทหนึ่งของบุคคลในการแสดงเจตนาที่จะผูกพันตนเองเข้ากับข้อความที่ระบุในเอกสาร ซึ่งทุกคนหลีกหนีการเซ็นชื่อไม่ได้...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) หรือ ETDA(เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงขอพาทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มวัยทีน และกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ที่ชอบช้อปปิ้งกับร้านค้าทางออนไลน์ หรือใช้บริการผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รวมถึงชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เปลี่ยนจากการใช้น้ำหมึก จับปากกาจรดลายเซ็นลงบนกระดาษแบบเดิม ๆ ทรานส์ฟอร์มสู่รูปแบบ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Signature (e-Signature) เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยยกระดับชีวิตให้สะดวกสบายยิ่งขึ้นรับยุคดิจิทัล พร้อมทั้งมีผลทางกฎหมาย ทรงพลังเทียบเท่าการเซ็นกระดาษ! อย่างไรก็ตาม ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้มีเพียงการเซ็นลงบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต หรือเซ็นลงบนกระดาษแล้วสแกนเป็นอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้งานเท่านั้น แล้วลายมือชื่อดังกล่าวมีประเภทใด ลักษณะใดบ้าง รวมถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้ลายมือมีผลทางกฏหมาย ใช้งานได้จริง ดีลธุรกิจคล่อง ชีวิตไหลลื่นรับปีขาล 2565 วันนี้ เอ็ตด้า จึงหยิบ 5 ตัวอย่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Signature มาแนะนำให้ทุกคนได้ร่วมทำความรู้จักไปพร้อมๆ กัน
ภาพประกอบบทความ-(1).jpg

1. ตวัดลายเซ็นบนหน้าจอ โบกมือลากระดาษตัวจริง

การตวัดลายเซ็น ด้วยชื่อ-นามสกุล หรือชื่อเล่น บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต สามารถเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แม้ไม่ได้มีรูปแบบการเซ็นเฉพาะตัวเหมือนเซ็นลงบนกระดาษตัวจริงตามความเชื่อส่วนบุคคล เช่น ต้องมีจุดหลังชื่อเพื่อเสริมความสำเร็จ เลี่ยงการขีดเส้นทับกลางชื่อเพื่อป้องกันการโดนหักหลัง หรือห้ามมีช่องว่างระหว่างตัวอักษรมากเกินไปจะทำให้เก็บเงินไม่อยู่ เพราะตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับคำว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้มีคำนิยามที่กินความถึง “อักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคล ผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น” ซึ่งการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบนี้ได้กระจายอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น การเซ็นชื่อในไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การเซ็นชื่อผ่านอุปกรณ์ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เวลาทำธุรกรรมกับธนาคาร หรือตอนชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิตในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

2. ลงชื่อท้ายอีเมล เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้นะรู้ยัง!

การติดต่อลูกค้า หรือประสานงานต่างๆ ผ่านทางอีเมล แล้วพิมพ์ชื่อต่อท้ายข้อความของอีเมล ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล ชื่อย่อ ชื่อเล่น หรือกำกับด้วยตำแหน่งหรือชื่อองค์กรต่อท้าย เช่น “นายเอ็ตด้า เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” “นางสาวมะลิ มะลิลา” สามารถเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน  โดยชื่อท้ายอีเมลจะเปรียบเสมือนลายมือชื่อที่เซ็นกำกับไว้ท้ายข้อความของจดหมายหรือหนังสือ เพื่อแสดงเจตนายอมรับหรือให้การรับรองข้อความในจดหมายหรือหนังสือดังกล่าว

3. เพียงกรอก Username และ password ก็สามารถเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

การใส่ Username กับ Password ล็อกอินเข้าระบบ เว็บไซต์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น LINE (ไลน์) Lazada (ลาซาด้า) Shopee (ช้อปปี้) เพื่อทำธุรกรรม ติดต่อสื่อสาร หรือซื้อขายสินค้าออนไลน์ รู้หรือไม่ว่า เหล่านี้ก็สามารถเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Signature ได้ ยกตัวอย่างกรณีการทักหาเพื่อนผ่านแชทไลน์ เพื่อขอยืมเงิน แม้ไม่มีเอกสารสัญญา แต่เมื่อผู้ให้ยืมเงินไม่ได้รับเงินคืนตามข้อตกลง ก็สามารถนำหลักฐานข้อความสนทนาในแชทไลน์มาใช้เป็นหลักฐานทางกฏหมายได้ เนื่องจากการล็อกอิน Username กับ Password ของผู้ยืมเงินนั้น จะเปรียบเสมือนลายมือชื่อที่ได้เซ็นบนเอกสารสัญญากู้เงินนั่นเอง

4. คลิก “I Accept” หรือ “ฉันยอมรับ” ถือเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

การคลิก “I Accept” หรือ “ฉันยอมรับ” บนหน้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ สามารถเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ในยุคดิจิทัลนี้ โดยมักจะพบเห็นได้ในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ เช่น การกู้ยืมเงิน หรือการสมัครใช้บริการต่างๆ ทางออนไลน์ที่ก่อนที่จะทำธุรกรรมหรือใช้บริการใดๆ จะมีข้อความ ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขปรากฏขึ้นเป็นข้อความ popup ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่จะทำธุรกรรมหรือใช้บริการได้อ่าน และคลิกปุ่ม “I Accept” หรือ “ฉันยอมรับ” ซึ่งการคลิกนี้จะแทนการลงลายมือชื่อเพื่อแสดงเจตนายอมรับข้อตกลง ข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการทำธุรกรรมหรือการใช้บริการนั่นเอง

5. เสียบบัตรและใส่รหัส ATM แสดงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ สู่อ้อมกอดเงินที่รัก

ส่งท้ายด้วย การใช้บัตร ATM กดเงินจากตู้ ATM ซึ่งต้องใส่รหัสส่วนตัว 4-6 หลัก ก่อนเข้าเมนูถอนเงิน ระบุจำนวนเงิน และรับเงินสดออกจากตู้ ATM ไป ซึ่งการเสียบบัตรและใส่รหัสส่วนตัวนี้ สามารถเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Signature ได้ โดยปัจจุบันมีคำพิพากษาฎีกาที่ 8089/2556 ซึ่งเป็นเรื่องของการนำบัตรกดเงินสดไปกดเงินจากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยตัดสินแล้วว่า การนำบัตรกดเงินสดไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือ ชื่อตนเองในการทำรายการเบิกถอนเงิน

img_2.jpg

จะเห็นว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Signature ข้างต้นนั้นมีหลายรูปแบบ และล้วนมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมากทีเดียว พร้อมมีประโยชน์ช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น ประหยัดพื้นที่จัดเก็บเอกสาร ประหยัดการใช้กระดาษ ประหยัดค่าส่งเอกสาร และช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์เช่นนี้ได้ด้วย  

ทั้งนี้ การนำรูปแบบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามตัวอย่างข้างต้นมาใช้งาน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ คือองค์ประกอบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดให้ต้องมี โดยหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งแล้วอาจส่งผลถึงผลผูกพันหรือการบังคับใช้ทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้ โดยองค์ประกอบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่กฎหมายกำหนด อย่างน้อยต้อง

1. ระบุได้ว่าเป็นลายมือชื่อของใครหรือใครเป็นเจ้าของลายมือชื่อ โดยไม่ว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นจะอยู่ในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็น ตัวอักษร ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือ สัญลักษณ์ใด ๆ จะต้องสามารถเชื่อมโยงไปยังตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านี้ได้

2. ระบุเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อต่อข้อความที่ลงนามได้ โดยต้องบอกได้ว่ามีเจตนาอะไร เช่น ยอมรับ รับรอง หรืออนุมัติตามข้อความที่ระบุในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือยอมรับข้อความซึ่งเป็นข้อตกลงในสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

3. ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ โดยอาจดูจากวิธีการว่ามีความมั่นคงปลอดภัยหรือไม่ มีลักษณะและขนาดของธุรกรรมเป็นอย่างไร มีความเหมาะสมกับวิธีการที่ใช้หรือไม่ หรือมีระบบการสื่อสารที่รัดกุมมากน้อยเพียงใด เป็นต้น


อย่างไรก็ดี ETDA ได้จัดทำ ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) เลขที่ ขมธอ.23-2563 และได้ประกาศเผยแพร่ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 เพื่อเป็นแนวทางและมาตรฐานให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการเลือกใช้วิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้เหมาะสมกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยตามข้อเสนอแนะมาตรฐานดังกล่าว จะแบ่งลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ 3 ประเภท ได้แก่


ประเภทที่ 1 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป โดยจะเป็นอักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 9 ของกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น การใช้สไตลัส (Stylus) เขียนลายมือชื่อด้วยมือลงบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต การเข้าล็อกอิน Username กับ Password การใส่รหัสบัตร ATM เป็นต้น


ประเภทที่ 2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้  โดยเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 26 ของแห่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ลายมือชื่อดิจิทัล ที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ หรือ Public Key Infrastructure (PKI) ซึ่งสามารถยืนยันตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของได้ว่าคน ๆ นั้นเป็นใคร และสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ หากว่ามีใครมาแก้ไขข้อมูล


ประเภทที่ 3 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งใช้ใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง  โดยเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่ 2 ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 26 ของแห่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับอาศัยใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดในมาตรา 28 ของแห่งกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่างเช่น ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง ซึ่งปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ให้บริการออกใบรับรองดังกล่าวแล้ว เช่น บริษัทไทยดิจิทัล ไอดี (TDID) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET) หรือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เป็นต้น
 

Rating :
Avg: 5 (4 ratings)