TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553 Documents

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553

พระราชกฤษฎีกา

ว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

พ.ศ. ๒๕๕๓

                  

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

เป็นปีที่ ๖๕ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๕๓

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ในพระราชกฤษฎีกานี้

วิธีการแบบปลอดภัย หมายความว่า วิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ทรัพย์สินสารสนเทศ หมายความว่า

(๑) ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบงานคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ

(๒) ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกข้อมูล และอุปกรณ์อื่นใด

(๓) ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์

ความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (information security) หมายความว่า การป้องกันทรัพย์สินสารสนเทศจากการเข้าถึง ใช้ เปิดเผย ขัดขวาง เปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำให้สูญหาย ทำให้เสียหาย ถูกทำลาย หรือล่วงรู้โดยมิชอบ

ความมั่นคงปลอดภัยด้านบริหารจัดการ (administrative security) หมายความว่า การกระทำในระดับบริหารโดยการจัดให้มีนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ หรือกระบวนการใด ๆ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการคัดเลือก การพัฒนา การนำไปใช้ หรือการบำรุงรักษาทรัพย์สินสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย

ความมั่นคงปลอดภัยด้านกายภาพ (physical security) หมายความว่า การจัดให้มีนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ หรือกระบวนการใด ๆ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันทรัพย์สินสารสนเทศ สิ่งปลูกสร้าง หรือทรัพย์สินอื่นใดจากการคุกคามของบุคคล ภัยธรรมชาติ อุบัติภัย หรือภัยทางกายภาพอื่น

การรักษาความลับ (confidentiality) หมายความว่า การรักษาหรือสงวนไว้เพื่อป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์จากการเข้าถึง ใช้ หรือเปิดเผยโดยบุคคลซึ่งไม่ได้รับอนุญาต

การรักษาความครบถ้วน (integrity) หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ขณะที่มีการใช้งาน ประมวลผล โอน หรือเก็บรักษา เพื่อมิให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำให้สูญหาย ทำให้เสียหาย หรือถูกทำลายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยมิชอบ

การรักษาสภาพพร้อมใช้งาน (availability) หมายความว่า การจัดทำให้ทรัพย์สินสารสนเทศสามารถทำงาน เข้าถึง หรือใช้งานได้ในเวลาที่ต้องการ

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (critical infrastructure) หมายความว่า บรรดาหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนงานหนึ่งส่วนงานใดของหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนงานของหน่วยงานหรือองค์กรนั้น มีผลเกี่ยวเนื่องสำคัญต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือต่อสาธารณชน

 

มาตรา ๔  วิธีการแบบปลอดภัยมีสามระดับ ดังต่อไปนี้

(๑) ระดับเคร่งครัด

(๒) ระดับกลาง

(๓) ระดับพื้นฐาน

 

มาตรา ๕  วิธีการแบบปลอดภัยตามมาตรา ๔ ให้ใช้สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

(๑) ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือต่อสาธารณชน

(๒) ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

 

มาตรา ๖  ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือหลักเกณฑ์การประเมินระดับผลกระทบของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๕ (๑) ซึ่งต้องกระทำตามวิธีการแบบปลอดภัยในระดับเคร่งครัด ระดับกลาง หรือระดับพื้นฐาน แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงระดับความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ผลกระทบต่อมูลค่าและความเสียหายที่ผู้ใช้บริการอาจได้รับ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดรายชื่อหรือประเภทของหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศตามมาตรา ๕ (๒) ซึ่งต้องกระทำตามวิธีการแบบปลอดภัยในระดับเคร่งครัด ระดับกลาง หรือระดับพื้นฐาน แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๗  วิธีการแบบปลอดภัยตามมาตรา ๔ ในแต่ละระดับ ให้มีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยมาตรฐานดังกล่าวสำหรับวิธีการแบบปลอดภัยในแต่ละระดับนั้น อาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันตามความจำเป็น แต่อย่างน้อยต้องมีการกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) การสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านบริหารจัดการ

(๒) การจัดโครงสร้างด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ในส่วนการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานหรือองค์กร

(๓) การบริหารจัดการทรัพย์สินสารสนเทศ

(๔) การสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศด้านบุคลากร

(๕) การสร้างความมั่นคงปลอดภัยด้านกายภาพและสภาพแวดล้อม

(๖) การบริหารจัดการด้านการสื่อสารและการดำเนินงานของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบงานคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ

(๗) การควบคุมการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์

(๘) การจัดหาหรือจัดให้มี การพัฒนา และการบำรุงรักษาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบงานคอมพิวเตอร์ และระบบสารสนเทศ

(๙) การบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ไม่พึงประสงค์ หรือไม่อาจคาดคิด

(๑๐) การบริหารจัดการด้านการบริการหรือการดำเนินงานของหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อให้มีความต่อเนื่อง

(๑๑) การตรวจสอบและการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์ หรือกระบวนการใด ๆ รวมทั้งข้อกำหนดด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ

 

มาตรา ๘  เพื่อประโยชน์ในการเป็นแนวทางสำหรับการจัดทำนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศของหน่วยงานหรือองค์กร คณะกรรมการอาจระบุหรือแสดงตัวอย่างมาตรฐานทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไปว่าเป็นมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ไว้ในประกาศตามมาตรา ๗ ด้วยก็ได้

 

มาตรา ๙  ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดได้กระทำโดยวิธีการที่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศในระดับที่เทียบเท่าหรือไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศตามประกาศตามมาตรา ๗ ซึ่งได้กำหนดไว้สำหรับระดับของวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ให้ถือว่าธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้กระทำตามวิธีการที่เชื่อถือได้ตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

 

มาตรา ๑๐  ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีการแบบปลอดภัยตามพระราชกฤษฎีกานี้ผู้กระทำต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานของการรักษาความลับ การรักษาความครบถ้วน และการรักษาสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการควบคุมการปฏิบัติงานและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นด้วย

 

มาตรา ๑๑  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าหน่วยงานหรือองค์กรใด หรือส่วนงานหนึ่งส่วนงานใดของหน่วยงานหรือองค์กรใด มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศโดยสอดคล้องกับวิธีการแบบปลอดภัยตามพระราชกฤษฎีกานี้คณะกรรมการอาจประกาศเผยแพร่รายชื่อหน่วยงานหรือองค์กร หรือส่วนงานของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นเพื่อให้สาธารณชนทราบเป็นการทั่วไปก็ได้

 

มาตรา ๑๒  ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีการแบบปลอดภัยตามพระราชกฤษฎีกานี้และประกาศที่ออกตามพระราชกฤษฎีกานี้ รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยทุกรอบระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ  ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและความสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ได้มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไป และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

 

มาตรา ๑๓  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลาย จึงสมควรส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของทรัพย์สินสารสนเทศในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีการยอมรับและเชื่อมั่นในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดที่ได้กระทำตามวิธีการแบบปลอดภัยที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแล้ว ให้สันนิษฐานว่าเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฐิติพร/ผู้จัดทำ

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

วิชพงษ์/ตรวจ

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗/ตอนที่ ๕๓ ก/หน้า ๑๓/๓ กันยายน ๒๕๕๓