TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 Documents

พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

พระราชบัญญัติ

ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ๓)

พ.ศ. ๒๕๖๒

                               

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

 

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามมาตรฐานสากล และรัฐสามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ระบบข้อมูล” และคำว่า “การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

““ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ” หมายความว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอัตโนมัติอื่น ที่ใช้เพื่อที่จะทำให้เกิดการกระทำหรือการตอบสนองต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือการปฏิบัติการใด ๆ ต่อระบบข้อมูล ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยปราศจากการตรวจสอบหรือการแทรกแซงโดยบุคคลธรรมดาในแต่ละครั้งที่มีการดำเนินการหรือแต่ละครั้งที่ระบบได้สร้างการตอบสนอง”

 

มาตรา ๔  ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

““หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า

(๑) กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น

(๒) รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา

(๓) องค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา

(๔) หน่วยงานของรัฐสภา

(๕) หน่วยงานของศาล ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

(๖) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท

(๗) องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

(๘) นิติบุคคล คณะบุคคล หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินงานของรัฐไม่ว่าในการใด ๆ”

 

มาตรา ๕  ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้อำนวยการ” และคำว่า “สำนักงาน” ระหว่างบทนิยามคำว่า “คณะกรรมการ” และคำว่า “รัฐมนตรี” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

““ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”

 

มาตรา ๖  ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๘  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง หรือกำหนดผลทางกฎหมายกรณีไม่ทำเป็นหนังสือ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่มีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงตามที่กฎหมายกำหนด”

 

มาตรา ๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๙  ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีการลงลายมือชื่อ หรือกำหนดผลทางกฎหมายกรณีที่ไม่มีการลงลายมือชื่อไว้ ให้ถือว่าได้มีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า

(๑) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อเกี่ยวกับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และ

(๒) ใช้วิธีการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(ก) วิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวง รวมถึงข้อตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ

(ข) วิธีการอื่นใดที่สามารถยืนยันตัวเจ้าของลายมือชื่อและสามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อตาม (๑) ได้ด้วยวิธีการนั้นเองหรือประกอบกับพยานหลักฐานอื่น

วิธีการที่เชื่อถือได้ตามวรรคหนึ่ง (๒) (ก) ให้คำนึงถึง

(๑) ความมั่นคงและรัดกุมของการใช้วิธีการหรืออุปกรณ์ในการระบุตัวบุคคล สภาพพร้อมใช้งานของทางเลือกในการระบุตัวบุคคล กฎเกณฑ์เกี่ยวกับลายมือชื่อที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ระดับความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การปฏิบัติตามกระบวนการในการระบุตัวบุคคลผู้เป็นสื่อกลาง ระดับของการยอมรับหรือไม่ยอมรับ วิธีการที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลในการทำธุรกรรม วิธีการระบุตัวบุคคล ณ ช่วงเวลาที่มีการทำธุรกรรมและติดต่อสื่อสาร

(๒) ลักษณะ ประเภท หรือขนาดของธุรกรรมที่ทำ จำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอในการทำธุรกรรม ประเพณีทางการค้าหรือทางปฏิบัติ ความสำคัญ มูลค่าของธุรกรรมที่ทำ หรือ

(๓) ความรัดกุมของระบบการติดต่อสื่อสาร

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการประทับตราของนิติบุคคลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยโดยอนุโลม”

 

มาตรา ๘  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๓/๑ และมาตรา ๑๓/๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

มาตรา ๑๓/๑  การเสนอเพื่อทำสัญญาผ่านการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ส่งถึงบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แต่บุคคลทั่วไปที่ใช้ระบบข้อมูลนั้นสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการเสนอโดยให้ระบบข้อมูลสามารถโต้ตอบได้โดยอัตโนมัติ ในการทำคำสั่งผ่านระบบข้อมูลให้ถือเป็นคำเชิญชวนเพื่อทำคำเสนอ เว้นแต่การเสนอเพื่อทำสัญญาระบุได้โดยแจ้งชัดถึงเจตนาของบุคคลที่ทำการเสนอที่จะผูกพันหากมีการสนองรับ

มาตรา ๑๓/๒  ห้ามมิให้ปฏิเสธความสมบูรณ์หรือการบังคับใช้ของสัญญาที่ทำโดยการโต้ตอบระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติกับบุคคลธรรมดา หรือระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติด้วยกัน เพียงเพราะเหตุที่ไม่มีบุคคลธรรมดาเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินการในแต่ละครั้งที่กระทำโดยระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติหรือในผลแห่งสัญญา”

 

มาตรา ๙  ให้ยกเลิกความใน (๑) ของวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๑) ผู้รับข้อมูลได้ตรวจสอบโดยสมควรตามวิธีการที่ผู้ส่งข้อมูลได้ตกลงหรือผูกพันตนไว้ว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ส่งข้อมูล หรือ”

 

มาตรา ๑๐  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๗/๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

มาตรา ๑๗/๑  ในกรณีที่มีการลงข้อมูลผิดพลาดโดยบุคคลธรรมดาและส่งผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติของผู้อื่น และระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัตินั้นไม่มีช่องทางให้บุคคลดังกล่าวแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น บุคคลดังกล่าวหรือผู้แทนมีสิทธิที่จะถอนการแสดงเจตนาในส่วนที่เกิดจากการลงข้อมูลผิดพลาดได้ หาก

(๑) บุคคลดังกล่าวหรือผู้แทนได้แจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงข้อผิดพลาดโดยพลันหลังจากที่ตนได้รู้ถึงข้อผิดพลาดนั้น และแสดงให้เห็นว่าได้ส่งข้อมูลผิดพลาดผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ และ

(๒) บุคคลดังกล่าวหรือผู้แทนไม่ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ใด ๆ จากสินค้า บริการ หรือสิ่งอื่นใดอย่างมีนัยสำคัญจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

 

มาตรา ๑๑  ให้ยกเลิกความใน (๔) ของวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๔) ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การลงลายมือชื่อเป็นไปเพื่อรับรองความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ การเปลี่ยนแปลงใดแก่ข้อความนั้นสามารถตรวจพบได้นับแต่เวลาที่ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

มาตรา ๑๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๓๒  บุคคลย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อน แล้วแต่กรณี

ในการกำหนดให้กรณีใดต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดโดยพิจารณาจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจนั้นประกอบกับความเหมาะสมในการควบคุมดูแลและการป้องกันความเสียหายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว

ในการนี้ จะกำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลในพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามวรรคหนึ่งก็ได้ หากไม่มีการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งใดเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแล ให้สำนักงานเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลตามพระราชกฤษฎีกาหรือสำนักงาน แล้วแต่กรณี แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาด้วย

ก่อนเสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามความเหมาะสม และนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา

มาตรา ๓๓  ในกรณีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง ให้ออกใบรับแจ้งเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งในวันที่รับแจ้งนั้นและให้ผู้แจ้งประกอบธุรกิจนั้นได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบรับแจ้งดังกล่าว แต่ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบในภายหลังว่าการแจ้งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้มีอำนาจสั่งผู้แจ้งแก้ไขให้ถูกต้องหรือครบถ้วนและนำผลการแก้ไขมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แก้ไขหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้นั้นหยุดการให้บริการในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจนั้นนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสองจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่

ในการประกอบธุรกิจ ผู้แจ้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาและตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด หลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้กำหนดเรื่องการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจไว้ด้วย

ถ้าผู้แจ้งไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจตามวรรคสี่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้นั้นให้บริการในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจนั้นจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้แจ้งไม่แก้ไขตามวรรคสามหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคห้าภายในระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่หยุดหรือถูกห้ามการให้บริการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของผู้นั้นออกจากสารบบการรับแจ้งและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว”

 

มาตรา ๑๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

มาตรา ๓๓/๑  ในกรณีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียน ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอขึ้นทะเบียนแล้ว ให้ออกใบรับการขอขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานการขอขึ้นทะเบียนในวันที่ยื่นคำขอนั้น และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการขึ้นทะเบียนแล้วเห็นว่าครบถ้วนและถูกต้องตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ให้รับขึ้นทะเบียนและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอขึ้นทะเบียนดังกล่าว และให้ผู้ขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจนั้นได้ตั้งแต่วันที่ได้รับขึ้นทะเบียน

หากพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจไปพลางก่อนได้ นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนการรับขึ้นทะเบียนตามวรรคสอง หรือตรวจพบหลังจากที่ผู้นั้นได้ประกอบธุรกิจดังกล่าวแล้ว ว่าเอกสารและหลักฐานการขึ้นทะเบียนของผู้ขอขึ้นทะเบียนไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง ให้แจ้งเป็นหนังสือแก่ผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขึ้นทะเบียน แล้วแต่กรณี เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ในการนี้ ถ้าผู้ขอขึ้นทะเบียนหรือผู้ขึ้นทะเบียนไม่แก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วน หรือไม่ดำเนินการจนพ้นกำหนดระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจของผู้ขอขึ้นทะเบียนตามวรรคสามเป็นอันระงับและให้ถือว่าคำขอขึ้นทะเบียนนั้นตกไป หรือให้มีคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจนั้น แล้วแต่กรณี

ในการประกอบธุรกิจ ผู้ขึ้นทะเบียนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาและตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด หลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้กำหนดเรื่องการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจไว้ด้วย

ถ้าผู้ขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจตามวรรคห้า ให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งปรับผู้นั้นไม่เกินหนึ่งล้านบาท โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด หลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดค่าปรับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด และในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการอาจมีคำสั่งให้ผู้นั้นดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องหรือเหมาะสมได้

ถ้าผู้ถูกปรับตามวรรคหกไม่ชำระค่าปรับ ให้คณะกรรมการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญาเพื่อบังคับชำระค่าปรับ ในการนี้ ถ้าศาลพิพากษาให้ชำระค่าปรับ หากผู้นั้นไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชดใช้แทนค่าปรับ แต่มิให้นำมาตรการกักขังแทนค่าปรับมาใช้แก่ผู้นั้น

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดตามวรรคหกไม่ดำเนินการแก้ไขตามคำสั่งของคณะกรรมการ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจตามวรรคห้าซ้ำอีกภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่งปรับครั้งแรก คณะกรรมการอาจมีคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนของผู้ขึ้นทะเบียนนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว”

 

มาตรา ๑๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๓๔  ในกรณีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องได้รับใบอนุญาต ให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การคืนใบอนุญาต และการสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ในการประกอบธุรกิจ ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาประกาศที่คณะกรรมการกำหนด หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต หลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้กำหนดเรื่องการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจไว้ด้วย

ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจตามวรรคสาม ให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งปรับผู้นั้นไม่เกินสองล้านบาท และให้นำความในมาตรา ๓๓/๑ วรรคหกและวรรคเจ็ด มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดตามวรรคสี่ไม่ดำเนินการแก้ไขตามคำสั่งของคณะกรรมการ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจตามวรรคสามซ้ำอีกภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่งปรับครั้งแรก คณะกรรมการอาจมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ได้รับใบอนุญาตนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว”

 

มาตรา ๑๕  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๔/๑ และมาตรา ๓๔/๒ ของหมวด ๓ ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

มาตรา ๓๔/๑  เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหมวดนี้ ให้คณะกรรมการ สำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลตามมาตรา ๓๒ วรรคสาม ประกาศกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ ได้ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

มาตรา ๓๔/๒  เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลและกำกับการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือสำนักงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือแจ้งให้ผู้ให้บริการหรือเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการ หรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการให้บริการนั้น

(๒) ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ ในกรณีที่ผู้ให้บริการได้กระทำความผิดหรือทำให้เกิดความเสียหายเพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศของคณะกรรมการ หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต

(๓) เข้าไปในสถานที่ของผู้ให้บริการในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง และยึดหรืออายัดเอกสารและหลักฐาน รวมถึงสิ่งอื่นใดที่เกี่ยวกับการให้บริการที่สงสัยว่ามีไว้เพื่อใช้หรือได้ใช้ในการกระทำความผิด

ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ ให้แสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐหรือสำนักงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลออกให้ และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร”

 

มาตรา ๑๖  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

เมื่อได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งแล้ว ศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญอาจพิจารณานำหลักเกณฑ์ในเรื่องใดที่กำหนดไว้ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลหรือในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท แล้วแต่กรณี เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับหน้าที่และอำนาจของตนตามกฎหมายได้ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมด้วย  ทั้งนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

 

มาตรา ๑๗  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๓๖  ให้มีคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนแปดคน

ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็นแต่ไม่เกินสองคน

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถเป็นที่ประจักษ์ด้านการเงิน ด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้านนิติศาสตร์ ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ หรือด้านอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการ  ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องประกอบด้วยบุคคลซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด

หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

 

มาตรา ๑๘  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๓๗  ให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานเสนอตามมาตรา ๔๓ วรรคสอง

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ตาม (๑)

(๓) กำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

(๔) กำกับและติดตามการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ตาม (๑) เพื่อรวบรวมข้อมูลและปัญหาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการและพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(๕) เสนอแนะต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

(๖) เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้

(๗) ออกระเบียบหรือประกาศเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

(๘) กำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัตินี้

(๙) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น

ในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีหนังสือเรียกหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดมาชี้แจง ให้ข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินงานได้

ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๘  ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี

เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ แต่ต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น

มาตรา ๓๙  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๘ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย บกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ

(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๕) ได้รับโทษโดยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา ๔๐  ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ และให้ดำเนินการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน”

 

มาตรา ๑๙  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

การประชุมของคณะกรรมการอาจกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้”

 

มาตรา ๒๐  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๔๓  ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ

ให้สำนักงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๓๗ (๑) และจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป”

 

มาตรา ๒๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๓/๑ ในหมวด ๕ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

มาตรา ๔๓/๑  แผนยุทธศาสตร์ที่สำนักงานต้องจัดทำตามมาตรา ๔๓ วรรคสอง ต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยอย่างน้อยต้องกำหนดเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) กลไกและมาตรการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ

(๒) มาตรการการส่งเสริมและสนับสนุนการให้มีระบบการบริการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ

(๓) กระบวนการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานและกฎเกณฑ์การใช้งานทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การทำงานของระบบมีการเชื่อมโยงกันอย่างมีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งาน และมีความน่าเชื่อถือในการให้บริการ

(๔) แนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ รวมทั้งการประยุกต์การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง

(๕) แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว”

 

มาตรา ๒๒  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๔๔  ผู้ใดประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง โดยฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้หยุดการให้บริการหรือคำสั่งห้ามมิให้ให้บริการในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจตามมาตรา ๓๓ วรรคสาม หรือตามมาตรา ๓๓ วรรคห้า แล้วแต่กรณี หรือประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งตามมาตรา ๓๓ วรรคหก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

มาตรา ๒๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

มาตรา ๔๔/๑  ผู้ใดประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๓๓/๑ วรรคหนึ่ง หรือประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังจากมีคำสั่งเพิกถอนการขึ้นทะเบียนตามมาตรา ๓๓/๑ วรรคสี่ หรือวรรคแปด แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

มาตรา ๒๔  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา ๔๕  ผู้ใดประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๔ หรือประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างที่มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือภายหลังจากมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

มาตรา ๒๕  ให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๒๖  บรรดาการใด ๆ ที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้ดำเนินการไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังมีผลใช้บังคับอยู่ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป และเมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แล้ว การนั้นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ให้การดำเนินการต่อไปเป็นไปตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นกำหนด

 

มาตรา ๒๗  ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคบางประการในการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับการทำสัญญาในรูปแบบของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาที่อยู่คนละประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งปรับปรุงกลไกในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม   จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ปุณิกา/จัดทำ

๑๘ เมษายน ๒๕๖๒

 

นุสรา/ตรวจ

๒๐ เมษายน ๒๕๖๒

 


[๑] ราชกิจจานุเษกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๔๙ ก/หน้า ๑๒/๑๔ เมษายน ๒๕๖๒