TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

เมื่อเอ่ยถึง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
Electronic Transactions Development Agency หรือ ETDA (เอ็ตด้า)
หลายคนจะตั้งคำถามว่า ETDA คือใคร และทำไมต้องมี ETDA

คำตอบง่าย ๆ คือ ETDA ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป จากสังคมแอนะล็อก (Analog) สู่สังคมดิจิทัล (Digital) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส

การพูดคุยก้าวผ่านจากการต้องพบหน้ากันเจอะเจอกัน เป็นการแช็ต (chat) หรือวิดีโอคอลล์ (video call) บนออนไลน์ คนจากซีกโลกหนึ่งสามารถพูดคุยกับคนอีกซีกโลกหนึ่งได้เพียงเสี้ยววินาที การติดต่องาน ส่งเอกสาร ไม่ต้องพรินต์ ไม่ต้องไปยื่นเอกสารที่หน่วยงาน เพียงส่งผ่านระบบ โดยพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ส่งในรูปแบบต่าง ๆ การประชุมสามารถทำผ่านระบบ e-Meeting หรือการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องเปลืองพื้นที่ในการรวมคนจำนวนมาก การค้าขายที่เปลี่ยนผ่านจากการเดินไปซื้อของที่ร้านค้าสู่การซื้อขายสินค้าบนหน้าจอ โดยสามารถจ่ายเงินผ่านทางออนไลน์ได้เช่นกัน

โครงสร้างการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องมีหน่วยงานหรือองค์กรที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลให้บริการในเรื่องเหล่านี้ บนโลกดิจิทัล มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย หรือมี Digital Governance ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกได้ 

นั่นคือที่มาของ ETDA องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2554 ให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่สำคัญในการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transactions) หรือ ธุรกรรมออนไลน์ ภายใต้ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และ พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 


ทั้งนี้ ETDA ให้ความสำคัญกับ 3 ภาคส่วนใหญ่ ๆ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนต้องมีการทำธุรกรรมร่วมกัน คือ 

📍 G2X (จีทูเอ็กซ์) คือ รัฐทำกับรัฐ รัฐทำกับธุรกิจ รัฐทำกับประชาชน
📍 B2X (บีทูเอ็กซ์) คือ ธุรกิจทำธุรกิจกันเอง ธุรกิจค้าขายกับรัฐ ธุรกิจค้าขายกับประชาชน
📍 C2C (ซีทูซี) หรือ Citizen to Citizen ที่ติดต่อกัน เช่น ผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม

การทำธุรกรรมเหล่านี้ บางส่วนต้องมาใช้บริการทางออนไลน์ ETDA จึงดูในมิติของธุรกรรมที่ครอบคลุมในมิติของรัฐ-เอกชน-ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) หรือแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

เพราะการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ อาจมีความเสี่ยง การฉ้อโกง การรั่วไหลของข้อมูล การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) ฯลฯ ดังนั้นบนโลกดิจิทัลจึงต้องมีทั้งการส่งเสริมและกำกับดูแลอย่างมี Digital Governance หรือธรรมาภิบาล


ในมิติของ ETDA คือการส่งเสริมและกำกับดูแล
ให้ทั้งระบบ มี Digital Governance


กลไกในการทำงานของ ETDA ให้เกิด Digital Governance
มีทั้ง "อนุญาต" "ขึ้นทะเบียน" "แจ้ง" "มาตรฐาน" "กฎหมาย" และ "Sandbox"

📍 กลไกอนุญาต เช่น อนุญาตให้ทำแพลตฟอร์ม อนุญาตให้ให้บริการ สำหรับบริการที่สำคัญมาก ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดผลกระทบ จะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง จะทำต้องใช้กลไกนี้ คือ ต้องให้ผู้ให้บริการมาขออนุญาตก่อน

📍 กลไกการขึ้นทะเบียน เพราะระดับความเสี่ยงของการให้บริการต่างกัน ถ้าเสี่ยงไม่มาก อาจมาขึ้นทะเบียน 

📍 กลไกแจ้งให้ทราบ ถ้ามีความเสี่ยงน้อยมากก็อาจมาแจ้งไว้

และถ้าความเสี่ยงระดับต่ำสุด คือ สามารถทำกันได้เลย โดยไม่ต้องแจ้ง ขึ้นทะเบียน หรือขออนุญาต

📍 มาตรฐาน เป็นโจทย์ที่ ETDA ทำอย่างต่อเนื่อง ว่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ต้องอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ต้องมีความมั่นคงปลอดภัย ข้อมูลผู้ใช้บริการต้องได้รับการดูแล ต้องมี Interoperability คือใช้บริการของเจ้าหนึ่งต้องสามารถไปใช้อีกเจ้าหนึ่งได้ แลกเปลี่ยนกันได้

📍 ​กฎหมาย ซึ่งมีทั้งการออกกฎหมายแม่ คือ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงดิจิทัลไอดี และกฎหมายลูก เช่น พระราชกฤษฏีกาต่าง ๆ เพื่อให้กฎหมายชัดเจนว่าจะนำไปสู่การปฎิบัติได้อย่างไร

📍 ​ Sandbox เป็นสนามทดสอบเพื่อรองรับบริการที่ยังไม่มีกฎหมายดูแล แต่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจเรื่องระบบบริการ ให้เข้ามาอยู่กระบะทราย หรือ Sandbox เพื่อควบคุมความเสี่ยง ทดลองการบริการในวงจำกัดในช่วงต้น ถ้าเข้าใจแล้วว่าจะดูแลกำกับอย่างไร ถึงจะให้ออกไปนอก Sandbox ได้

นอกจากงาน "อนุญาต" "ขึ้นทะเบียน" "แจ้ง" "มาตรฐาน" "กฎหมาย" และ "Sandbox" แล้ว สำหรับงานขั้นพื้นฐานของ ETDA ประกอบด้วย

📍 การวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ถ้าจะทำกฎหมายที่มองไปในอนาคต ก็ต้องมีข้อมูลเพื่อมองว่าจะมีอะไรขึ้น เพื่อไม่ให้กฎหมายล้าหลังตามเทคโนโลยี

📍 การพัฒนาคน ให้สามารถอยู่ในระบบนิเวศธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

📍 การให้คำปรึกษา กับหน่วยงานต่าง ๆ รัฐ เอกชน หรือประชาชนเอง ในการทำความเข้าใจกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า อะไรถูกกฎหมาย อะไรไม่ใช่ อะไรเหมาะสม อะไรเชื่อถือได้ อะไรที่ไม่ควรทำ

📍 การป้องกันการฉ้อโกง เน้นการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเอง การให้คำปรึกษา หรือรับเรื่องเพื่อประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลผู้ได้รับความเดือดร้อนต่อไป

📍 การส่งเสริมนวัตกรรม เนื่องจากเรื่องธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และ Digital Service ต่าง ๆ จะมากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตั้งแต่บริการเพิ่งเริ่มต้น อาจจะทำให้บริการนั้นไม่เกิด ETDA จึงเห็นความสำคัญว่าการส่งเสริมนวัตกรรมต้องมี และทำควบคู่กับ Sandbox


สรุปง่าย ๆ “ETDA คือองค์กรที่ออกแบบมาให้ส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย
ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่ทุกภาคส่วนสามารถทำธุรกรรมที่น่าเชื่อถือ
ผ่านทางออนไลน์ ได้อย่างมั่นใจและมั่นคงปลอดภัย"