TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

คำถามที่พบบ่อย

ETC Documents

1
115

    หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 เป็นการรับรองผลทางกฎหมายสำหรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการทำธุรกรรม หรือสัญญา ให้มีผลเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมหรือสัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้  ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายแก่ธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่ธุรกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดมิให้มีการนำพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้บังคับ (เช่น ครอบครัวและมรดก) และให้ใช้บังคับแก่ธุรกรรมในการดำเนินงานของรัฐด้วย โดยใช้บังคับควบคู่หรือกับกฎหมายฉบับอื่นที่ใช้บังคับกับการใดการหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้เป็นการเฉพาะแต่การนั้นหรือเรื่องนั้นได้มีการทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

    การทำเป็นหนังสือ (มาตรา 8)

    ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดให้การใดก็ตามต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งกำหนดว่าการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นคำว่า “หลักฐานเป็นหนังสือ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ก็สามารถทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้  กล่าวคือถ้ามีการทำสัญญาระหว่างบุคคลที่ใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการทำสัญญาเช่นว่านั้น มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดแล้ว ถือว่าการทำสัญญานั้นได้ทำตามหลักเกณฑ์ข้างต้นของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว

    เอกสารต้นฉบับ (มาตรา 10)

    ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดให้เสนอหรือเก็บรักษาเอกสารหรือข้อความในรูปของเอกสารต้นฉบับ เช่น 1) กฎหมายลักษณะพยานมีบทบัญญัติหลายมาตราที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับกฎแห่งพยานที่ดีที่สุด คือ การอ้างพยานเอกสารต้องอาศัยต้นฉบับ 2) ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ การจัดทำและการจัดเก็บบัญชี รายงาน และเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดเก็บหลักฐานที่เป็นต้นฉบับไว้  ทั้งนี้ หากได้มีการจัดทำ จัดเก็บเอกสารต้นฉบับให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดแล้ว กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บัญญัติรับรองให้สามารถนำเสนอหรือจัดเก็บต้นฉบับดังกล่าวให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้

    การรับรองสิ่งพิมพ์ออกของเอกสารต้นฉบับ (มาตรา 10 วรรคสี่)

    ในกรณีที่มีการทำสิ่งพิมพ์ออก (Print out) ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นฉบับตามมาตรา 10 สำหรับใช้อ้างอิงข้อความของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หากสิ่งพิมพ์ออกนั้นมีข้อความถูกต้องครบถ้วนตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมีการรับรองสิ่งพิมพ์ออกโดยหน่วยงานที่มีอำนาจตามที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประกาศกำหนดแล้ว ให้ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกดังกล่าว ใช้แทนต้นฉบับได้  ในกรณีที่ต้องการให้สิ่งพิมพ์ออก (Print out) นั้น มีความเป็นต้นฉบับ จะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ 2555 สิ่งพิมพ์ออกนั้นจึงจะสามารถใช้แทนต้นฉบับได้  อย่างไรก็ตาม มาตรา 10 วรรคสี่ ไม่ได้หมายถึงการรับรองสิ่งพิมพ์ออกทุกกรณี แต่จะ ให้ใช้เฉพาะกรณีที่กฎหมายนั้นๆ มีการบัญญัติให้ต้องนำเสนอหรือเก็บรักษาเอกสารแบบต้นฉบับเท่านั้น หากเป็นกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาแบบต้นฉบับก็ไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองสิ่งพิมพ์ออกโดยหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก

    เอกสารต้นฉบับหมายถึงอะไร

    เอกสารต้นฉบับ หมายถึง เอกสารที่บรรจุข้อมูลที่เป็นต้นฉบับจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น

    • สัญญาคู่ฉบับ
    • ใบกำกับภาษี
    • ใบเสร็จรับเงิน
    • บัตรประจำตัวประชาชน
    • ทะเบียนบ้าน
    • ใบขับขี่
    • โฉนดที่ดิน
    • หนังสือ หนังสือรับรอง ตามที่กฎหมายของหน่วยงานกำหนด
2
61

    สิ่งพิมพ์ออก หมายถึงสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการนำเสนอหรือเก็บรักษาเป็นเอกสารต้นฉบับมิได้หมายถึงสิ่งพิมพ์ออกทุกกรณี แต่ใช้เฉพาะกรณีที่กฎหมายนั้นๆ มีการบัญญัติให้ต้องนำเสนอหรือเก็บรักษาเอกสารแบบต้นฉบับเท่านั้น
    เอกสารต้นฉบับ หมายถึง เอกสารที่บรรจุข้อมูลที่เป็นต้นฉบับจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น

    • สัญญาคู่ฉบับ
    • ใบเสร็จรับเงิน
    • ทะเบียนบ้าน
    • โฉนดที่ดิน
    • ใบขับขี่
    • ใบกำกับภาษี
    • บัตรประจำตัวประชาชน
    • หนังสือ หนังสือรับรอง ตามที่กฎหมายของหน่วยงานกำหนด
3
65

    การเก็บรักษาเอกสารอย่างต้นฉบับ หมายถึง ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาข้อความใดในสภาพที่เป็นมาแต่เดิมอย่างเอกสารต้นฉบับ ถ้าได้นำเสนอหรือเก็บรักษาในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ ให้ถือได้ว่ามีการนำเสนอหรือเก็บรักษาเป็นเอกสารต้นฉบับตามกฎหมายแล้ว (ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

5
57

    สิ่งพิมพ์ออกซึ่งได้พิมพ์ออกจากระบบการพิมพ์ออกที่ไม่มีการรับรองนั้น ไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่ใช้แทนต้นฉบับตามความหมายของมาตรา 10 วรรคสี่ ได้ ทั้งนี้ หากว่าไม่มีการรับรองสิ่งพิมพ์ออก ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผลต่อการชั่งน้ำหนักพยานในการพิจารณา ดังนั้น หากได้มีการรับรองสิ่งพิมพ์ออก การโต้แย้งเรื่องเอกสารจะหมดไป เนื่องจากมีการรับรองโดยหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก ซึ่งเป็นการรับรองว่าสิ่งพิมพ์ออกนั้น มีความถูกต้องตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นฉบับ

6
46
    การดำเนินการพิมพ์เอกสารปกติทั่วไปนั้น ถ้าเอกสารได้ทำการเก็บรักษาอย่างต้นฉบับแล้ว ไม่ต้องรับรองสิ่งพิมพ์ออก (ถ้าเป็นไปตามประกาศฯ ข้อ 4 ให้ถือว่าเป็นการรับรองสิ่งพิมพ์ออกและมีผลใช้แทนต้นฉบับได้)
     
7
68
    ใบสัญญาเป็นเอกสารที่กฎหมายกำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาข้อความอย่างเอกสารต้นฉบับ หากสแกนใบสัญญาเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งหากทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 12/1 แห่งพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ แล้วพิมพ์ออก สามารถใช้แทนต้นฉบับได้
8
31
    ประกาศ e-Auction บนเว็บไซต์เป็นการเผยแพร่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องนำเสนอหรือเก็บรักษาเอกสารอย่างต้นฉบับ จึงไม่ถือเป็นต้นฉบับ
     
9
40

    หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก หมายถึง คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ หน่วยงานที่มีอำนาจรับรองสิ่งพิมพ์ออกตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย ในระยะเริ่มแรกนี้ คณะกรรมการฯ ได้ประกาศให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออกด้วยแล้ว (ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ. 2555)

10
28

    หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองระบบการพิมพ์ออกให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในหมวดที่ 2 เรื่อง การรับรอง ของประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ. 2555

    ตัวอย่างเช่น หน่วยงาน A เป็นเจ้าของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เรื่องใบเรียกเก็บเงิน แต่หน่วยงาน A ไม่ได้เป็นผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกเอง โดยหน่วยงาน A ได้ให้หน่วยงาน B เป็นผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวให้ ดังนั้นหน่วยงาน A เข้าข่ายต้องแจ้งความประสงค์ไปยังหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออกให้มารับรองระบบการพิมพ์ออก (โดยเป็นการรับรองตั้งแต่ระบบที่ใช้ในการนำเข้าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นฉบับของสิ่งพิมพ์ออก ไปจนถึงการจัดทำสิ่งพิมพ์ออกสำหรับใช้อ้างอิงข้อมูลของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับรองว่าสิ่งพิมพ์ออกนั้นมีความถูกต้องตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในระบบ ซึ่งระบบที่จัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีความเชื่อถือได้)

11
24
    ผู้ที่ประสงค์จะให้หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออกมารับรองระบบการพิมพ์ออกของตน ต้องแจ้ง ความประสงค์ไปยังหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก (ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ของการรับรองระบบการพิมพ์ออก จะอยู่ในหมวด 2 เรื่อง หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก ของประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ. 2555)

    FAQ_printout3.png
    ภาพ : กระบวนการขอรับรองระบบสิ่งพิมพ์ออก
12
27
    ระบบสิ่งพิมพ์ออก หมายถึง ระบบที่ใช้ในการนำเข้าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นฉบับของสิ่งพิมพ์ออก และการจัดทำสิ่งพิมพ์ออกสำหรับใช้อ้างอิงข้อมูลของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

    FAQ_printout2.png
    ภาพ : แสดงคำจำกัดความคำว่า ระบบสิ่งพิมพ์ออก
13
30
    หน่วยงานที่สามารถจัดทำสิ่งพิมพ์ออกและมีผลใช้แทนต้นฉบับได้ เป็นไปตามประกาศฯ ข้อ 4 ได้แก่
    1. ตามประกาศฯ ข้อ 4 (1) “เจ้าของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ควบคุมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือบุคคลภายใต้บังคับของเจ้าของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือผู้ควบคุมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกจากระบบการพิมพ์ออกที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือผู้ควบคุมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”
    2. ตามประกาศฯ ข้อ 4 (2) “หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการเก็บรักษาหรือควบคุมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่น หรือบุคคลภายใต้บังคับหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกจากระบบ การพิมพ์ออกที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐนั้น”   ตัวอย่างเช่น หน่วยงาน ก เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการเก็บรักษาหรือควบคุมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัทเอกชน หากหน่วยงาน ก เป็นผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทเอกชนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงาน ก ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกนั้นมีผลใช้แทนต้นฉบับได้
    3. ตามประกาศฯ ข้อ 4 (3) “หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับหรือควบคุมดูแล หรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ออกจากระบบการพิมพ์ออก ที่มีมาตรฐานที่เทียบเท่าหรือมีความเหมาะสมกว่าหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศนี้”  ตัวอย่างเช่น หน่วยงาน ก เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงาน ข, ค และ ง โดยหน่วยงาน ก ได้มีการออกมาตรฐานที่เทียบเท่าหรือมีความเหมาะสมกว่าหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ. 2555 เพื่อให้หน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแล ได้ปฏิบัติตามในเรื่องการทำสิ่งพิมพ์ออกที่กำหนดไว้เฉพาะเรื่องนั้นๆ เป็นต้น
14
30
    ปัจจุบันมีหน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออกแล้ว คือ 1) คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 2) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ. 2555
15
30
    ผู้ที่ประสงค์จะเป็นหน่วยงานที่รับรองสิ่งพิมพ์ออก จะต้องแจ้งความประสงค์พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือหน่วยงานที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย (สามารถดูรายละเอียดได้ที่ หมวด 1 เรื่อง หน่วยงานรับรองสิ่งพิมพ์ออก ของประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การรับรองสิ่งพิมพ์ออก พ.ศ. 2555)