ETDA
- 26 ก.พ. 64
-
15016
-
อินทรีย์ 5: คุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน
คนฉลาดทำงาน จะทำงานอย่างสนุก และมีความสุขกับงาน โดยเห็นความสำเร็จของงานเป็นการบันดาลสุข ไม่คิดเรื่องเงินเป็นใหญ่ คำว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" นั้นจึงไม่ใช่ ต้องเป็น "งานบันดาลสุข" ถึงจะใช่
นั่นคือ แนวทางในการปฏิบัติงาน ที่ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ได้มาบรรยายธรรม ณ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
แล้วมีหลักธรรมใดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดความก้าวหน้า และการดำเนินชีวิตมีความผาสุกบ้าง พระพยอม ได้กล่าวถึง อินทรีย์ 5
อินทรีย์ 5 คือ การตั้งมั่นด้วยจิตอันนำพา 5 ประการ เพื่อความเจริญในศีลธรรมและการงาน คือ
1. สัทธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเลื่อมใสต่อสิ่งที่ควรเลื่อมใส
2. วิริยินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในความเพียรพยายาม
3. สตินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการระลึกได้
4. สมาธินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในการกระทำจิตให้มีสมาธิ
5. ปัญญินทรีย์ คือ การตั้งมั่นในปัญญาหรือการรู้แจ้ง
ข้อแรก สัทธินทรีย์ คือ ความศรัทธาในการทำงาน มีความชื่นชอบหรือเลื่อมใสในสิ่งที่ทำ หากไม่รักหรือไม่เลื่อมใสศรัทธาต่องาน ชีวิตก็ดำเนินไปได้ยาก รวมไปถึงบ้านเมืองก็คงไม่เจริญมั่นคงได้ หากมีแต่คนไม่รักงานที่ทำ เพราะฉะนั้น เราจะอยู่ได้ องค์กรจะอยู่ได้ รวมถึงบ้านเมืองจะเจริญมั่นคงได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีคนรักงาน
ข้อสอง วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรพยายามในการทำงาน หากท้อแท้ใจเสาะ เมื่อเจออุปสรรคก็ไม่มีความพยายาม งานย่อมไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเจออุปสรรค ปัญหา ก็ไม่ได้ย่อท้อที่จะตั้งใจทำงาน ในที่สุดก็จะได้รับผลสำเร็จ
ข้อสาม สตินทรีย์ คือ ต้องมีความรู้ตัวอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สับสนในการทำงาน เพราะเมื่อคนทำงานสับสนก็จะทำงานได้ไม่คุ้มค่าจ้าง พระพุทธเจ้า ตรัสว่า โกโธ ทุมฺเมธโคจโร "คนชอบเผลอโกรธเป็นอารมณ์ มักจะมีปัญญาทราม" เพราะแทนที่จะหาความรู้มาทำงาน หาแนวร่วม หาวิธีการทำงาน กลับหาเรื่องกับคนอื่น เพราะขาดสติ บางทีทะเลาะกันในที่ทำงาน แล้วตามไปฆ่ากันทีหลัง
"กินเป็น อยู่เป็น คิดเป็น แต่ถ้าอยู่ไม่เป็นนี่ยุ่งที่สุด ครูอนุบาลตีเด็ก นี่ขาดสติไหม ถ้ารู้ว่าจะต้องไปทำงานกับเขาต้องตั้งสติให้ดี ต้องพูดว่า เช่นนี้แหละ เด็กก็เป็นอย่างนี้แหละ
"ยิ่งการทำงานแล้วขาดสติ ไม่มีปัญหาเฉพาะในงาน สามารถไปพาลคนที่บ้านได้อีก หัวหน้าดุลูกน้อง กลับไประบายกับคนที่บ้าน คนไทยไม่เจริญสติ แล้วชอบไปดื่มน้ำผลาญสติ เพราะฉะนั้น เราต้องประคองตัว ทำงานให้รู้สึกตัวว่าเราจะต้องเจริญสติ ก่อนนอนก็ให้ฝึก ดึงลมหายใจเข้าลึก ๆ ปล่อยลมหายใจออกยาว ๆ พอดึงลมหายใจก็พูด สุข สุข สุข พอปล่อยลมหายใจ ก็ สบ้าย สบาย สบาย ถ้าคนหายใจเข้าเป็นสุข หายใจออก เป็นสบาย ก็จะไม่ขาดสติ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสว่า อานาปานสติ เป็นกรรมฐานเอก ที่ส่งเสริมการงานให้ดีเยี่ยม"
ข้อสี่ สมาธินทรีย์ คือทำงานแบบจดจ่อ มีสมาธิ ไม่ทำงานแบบคุยกันพร่ำ พล่าน สับสนไปหมด หรือคิดถึงแต่อดีตและอนาคต โดยหัวใจไม่อยู่กับปัจจุบัน
"อดีตก็จบไปแล้ว ถ้าเราตายแล้วไม่มีใครสานต่อ อย่าทำเลย งานก็หยุด ดังนั้น เราต้องมีความมั่นคงกับปัจจุบันที่เราทำ อดีต อนาคต ปัดออกไป"
ข้อสุดท้าย ปัญญินทรีย์ คือ ทำอย่างไรจะทำงานได้อย่างฉลาด ทำอย่างไรให้มีสติปัญญา พระพุทธเจ้า ตรัสว่า ปัญญา เกิดจากการเพ่งในงาน โดยวางตัวช่วยให้งานเดินหน้าดี คนทำฉลาดขึ้น 2 ข้อ คือ
“ปรโตโฆสะ” คือ เป็นคนชอบให้หูใช้ตาเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางปัญญา จะได้จากการสื่อสารกับใครต่อใครก็ตาม ใครเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต เป็นนักคิด นักค้นคว้า นักแก้ปัญหา
"เขาเขียนหนังสือ เราอ่าน เขาออกรายการวิทยุโทรทัศน์ เราดู เขาอยู่ที่ไหน เราดั้นด้นไปหา บางครั้งบางคราวก็เชิญเขามาติวเราบ้าง ถ้าเราใฝ่รู้ใฝ่ฟัง ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มสติปัญญา"
“โยนิโสมนสิการ” ชอบสังเกตสังกา เทียบเคียง อ่านอะไรแล้วฉุกคิด
พระพยอม ทิ้งท้ายว่า หากใส่ใจ ปฏิบัติ อินทรีย์ทั้ง 5 ประการ การงานย่อมก้าวหน้า และครอบครัวย่อมผาสุก
อินทรีย์ 5 ประการ หากใส่ใจและนำมาปฏิบัติ การงานย่อมก้าวหน้า ครอบครัวย่อมผาสุก