e-Standard
- 02 ส.ค. 64
-
1558
-
ETDA เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ e-Voting System ภายใน 4 ส.ค. นี้
ผ่านไปแล้วกับเวที Hearing รับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting System) เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ความคิดเห็นทั้งหมดจะนำไปประมวลรวมกับที่จะปิดรับในวันที่ 4 ส.ค. นี้ผ่านเว็บไซต์มาตรฐาน ETDA เพื่อปรับปรุงและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะฯ ฉบับสมบูรณ์ก่อนประกาศใช้ต่อไป
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ETDA กล่าวว่า การปลดล็อกข้อกำจัดของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ให้สามารถประชุมได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัด ด้วยระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งาน และที่สำคัญสามารถลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) ได้ และกฎหมายรองรับ ทำให้การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือ Work From Home ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความสะดวก ทำงานได้ไม่สะดุด เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องประชุมตามกฎหมาย เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น หรือการประชุมของคณะกรรมการต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้นั้น เป็นหนึ่งภารกิจสำคัญที่ ETDA เร่งขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ได้ร่วมผลักดัน พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 กฎหมายกลางที่รองรับการประชุมออนไลน์ ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกระบวนการที่สำคัญของการจัดประชุมและมาตรฐานการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องลับ ตลอดจน ETDA ยังได้ มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของระบบควบคุมการประชุม สำหรับผู้ให้บริการระบบควบคุมการประชุมใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบควบคุมการประชุม และสอดคล้องตามประกาศกระทรวงฯ ข้างต้น
เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ETDA ยังได้ประกาศข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม เลขที่ ขมธอ. 26-2564 ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) ได้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบการประชุม และล่าสุด ETDA ได้มีการ “ร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting System)” ขึ้น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่ผู้ให้บริการระบบ e-Voting ในการพัฒนาและการออกระบบ ทั้งด้านฟังก์ชันที่สามารถใช้งานได้ครบถ้วนและมีความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจแก่ผู้ใช้งาน สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ที่ระบุใจความหนึ่งว่า ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งในรูปแบบเปิดเผยและลับ ผ่านระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของ ร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ฉบับล่าสุดนี้ มีเนื้อหารายละเอียดที่ครอบคลุมตั้งแต่ บทนิยาม ตลอดจนข้อกำหนดของระบบการลงคะแนน ทั้งหมด 15 หมวด แบ่งเป็น ข้อกำหนดเกี่ยวกับฟังก์ชันการทำงาน 6 หมวด ได้แก่ การออกแบบระบบ การพัฒนาระบบ ความโปร่งใส การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมของผู้ลงคะแนน การลงคะแนนตรงตามเจตนาของผู้ลงคะแนน และการใช้งาน และ ข้อกำหนดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ 9 หมวด ได้แก่ การทำงานร่วมกัน การตรวจสอบ ความเป็นส่วนตัวของผู้ลงคะแนน ความลับของคะแนนเสียง การควบคุมการเข้าถึง ความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพ การคุ้มครองข้อมูล การรักษาความครบถ้วนของระบบการลงคะแนน และการตรวจจับและการเฝ้าระวัง
ร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ นี้ สามารถใช้ได้กับระบบการลงคะแนนในการประชุม e-Meeting หรือการลงคะแนนที่ไม่มีการประชุม e-Meeting หรือการลงคะแนนในรูปแบบเปิดเผย ที่สามารถระบุตัวตนและเจตนาของผู้ลงคะแนนได้ หรือการลงคะแนนลับ ที่ทราบเฉพิาะจำนวนและผลรวมของคะแนน โดยไม่ระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน แต่จะไม่ครอบคลุม การเลือกตั้งระดับชาติ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ที่ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ทั้งนี้ ETDA ได้รับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้เปิดรับฟังความเห็นเป็นการทั่วไปทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://standard.etda.or.th/?p=12395 จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นี้ โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ยังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบ Teams ด้วย เพื่อนำไปปรับปรุงร่างข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ นี้ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการของผู้ให้บริการ ผู้ใช้งาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด
e-Voting System ช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกในการลงคะแนนจากที่ไหนก็ได้