Digital Law
- 19 เม.ย. 62
-
2063
-
ETDA กับหน้าที่ Regulator ด้านธุรกรรมออนไลน์ เมื่อ พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติใหม่ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
ความน่าสนใจของกฎหมาย 2 ฉบับที่ออกมา คือ การปรับให้ “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” กลายเป็น “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” (เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ)
พ.ร.บ. ETDA กับความเปลี่ยนแปลง
ETDA ภายใต้ พ.ร.บ. ที่ออกมานี้ จะมีลักษณะคล้ายกับหน่วยงานที่ทำงานด้านกำกับดูแล หรือ Regulator อย่างเช่น กสทช. ที่เน้นกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แต่ ETDA จะมีอำนาจดูแลด้านการทำธุรกิจบริการด้านธุรกรรมออนไลน์หรือดิจิทัล (Electronic Transaction) มากขึ้น เช่น
- กำหนดมาตรฐานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับธุรกรรมออนไลน์ เช่น Digital ID ในฐานะ Regulator
- จัดทำข้อเสนอแนะหรือ Recommendation ด้านมาตรฐาน ในฐานะ Regulator
- กำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการให้การสนับสนุนการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว
นอกจากนี้
ETDA จะทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม (Innovation) สำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ในการบริหารและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยจะศึกษาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะที่สำคัญ แนวทางการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ และพัฒนาระบบต้นแบบ
พร้อมสนามทดสอบสำหรับทดลองการใช้งาน (Prototype and Sandbox) อีกด้วย
ภายใต้ พ.ร.บ. ETDA มีการสรรหากรรมการดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดูแลภาพรวมการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนผู้อำนวยการ ETDA คนเดิม ยังคงรักษาการอยู่ จนกว่าจะได้ผู้อำนวยการคนใหม่
พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) กับความเปลี่ยนแปลง
พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ที่ออกมานี้ เป็นการปรับปรุงกฎหมายมาจาก
พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และ
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยมีการเพิ่มอำนาจให้ ETDA ดำเนินการต่อธุรกิจบริการด้านธุรกรรมออนไลน์หรือดิจิทัลมากขึ้น เช่น
- ถ้าต้องมีการยื่นเอกสารมาแสดงกับราชการ แล้วมีเอกสารนั้นเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงได้และไม่มีความเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าข้อความนั้นเป็นหนังสือที่สามารถใช้งานได้ (มาตรา 8)
- ธุรกิจบริการด้านธุรกรรมออนไลน์ ต้องแจ้งให้ทราบ ขึ้นทะเบียน หรือได้รับใบอนุญาตก่อน เมื่อเป็นธุรกิจบริการที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ เพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน (มาตรา 32) (หมายถึงการกำกับดูแลจะทำเฉพาะเมื่อเป็นธุรกิจบริการที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ เพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชนเท่านั้น)
- หากไม่มีการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐใดเป็นผู้รับผิดชอบการควบคุมดูแล ก็มอบอำนาจให้ ETDA เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมออนไลน์ด้วย (มาตรา 32)
- ถ้าประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมออนไลน์ โดยไม่ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 44/1)
- ถ้าประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมออนไลน์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 45)
- ถ้าธุรกิจที่ต้องขึ้นทะเบียนนั้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถถูก ETDA ปรับได้สูงสุดถึง 1 ล้านบาท ส่วนธุรกิจใดต้องขอรับใบอนุญาตนั้นไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถถูกปรับได้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท ซึ่ง ETDA มีอำนาจสั่งให้ธุรกิจนั้น ๆ แก้ไขการดำเนินการให้ถูกต้องได้เช่นกัน (มาตรา 33/1 และมาตรา 34)
รวมถึงมีการระบุถึง
“คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่ติดตามการทำงานเรื่อง ธุรกรรมออนไลน์ (ตามมาตรา 36) ให้เป็นดังนี้
- คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน, การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมีร์ซ), นิติศาสตร์, วิทยาการคอมพิวเตอร์, วิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์, สังคมศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์
- ให้ปลัดกระทรวง DE เป็นรองประธานกรรมการ
- ผอ.ETDA เป็นกรรมการและเลขานุการ
ส่วนคณะกรรมการฯ ที่มีอยู่เดิม ให้อยู่ดำรงตำแหน่งไปก่อน จนกว่าจะสรรหาใหม่ได้
พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562 เป็นต้นไป
ETDA กับหน้าที่ Regulator ด้านธุรกรรมออนไลน์ เมื่อ พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์