Digital Law
- 10 ก.ย. 58
-
1318
-
รัฐ-เอกชน เร่งจัดทำมาตรฐาน เพื่อพร้อมแข่งขันบนเวทีโลก
ในอนาคตการซื้อขายสินค้าต่าง ๆ นั้นต้องเป็นการซื้อขายทางออนไลน์ ซึ่งประเทศไทยต้องมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน Soft Infrastructure ด้านมาตรฐาน ให้พร้อม เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center และ สำนักมาตรฐาน ได้เปิดเวทีพูดคุยในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้หาของง่าย ขายของดี มีช่องทางจ่ายเงินสะดวก ยกระดับการค้าไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธานินทร์ ตันกิติบุตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยเทรดเน็ท จำกัด และ สรกฤช พฤทธานนทชัย Vice President ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ วรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ ETDA และ ศุภโชค จันทรประทิน ผู้จัดการส่วนงานกลยุทธ์มาตรฐาน สำนักมาตรฐาน ETDA มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เกี่ยวกับ “มาตรฐาน” หนึ่งใน Soft Infrastructure ที่สำคัญในการนำการค้าประเทศไทยไปสู่การแข่งขันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
จำรัส กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้เตรียมพร้อม 3 โครงการสำหรับผู้ประกอบการ คือ
- “โครงการ e-Business” เพื่อแนะนำผู้ประกอบการไปสู่ยุคที่ทำธุรกิจโดยใช้ e-Commerce e-Supply Chain หรือ e-Payment ซึ่งรวมถึงการอบรมและแนะนำการใช้ช่องทางออนไลน์ในประชาสัมพันธ์ และการจัดทำ Verify Rating
- “โครงการส่งเสริมการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีก” ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าที่เป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า การแจ้งหนี้ การชำระเงิน และการออกใบกำกับภาษี ซึ่งการพัฒนามาตรฐาน e-Invoice ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนั้น มาจาก Payment Systems Roadmap 2012-2016 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อที่จะลดการใช้เงินสดและเพิ่มการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีผลต่อการลดต้นทุนของประเทศ ซึ่งนอกจากมาตรฐานข้อความแล้วยังมีรหัสข้อมูลที่ต้องมีมาตรฐานและเป็นมาตรฐานสากลเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีความเข้าใจแบบเดียวกัน โดยไม่ต้องมีการลงทุนเรื่องระบบเพิ่มเติมทุกครั้งที่ต้องการแลกเลี่ยนข้อมูลระหว่างคู่ค้า โดยมีมาตรฐานของ GS1 ที่มีการใช้งานผ่านระบบ Bar Code ทำให้สินค้าสามารถตรวจสอบที่มาได้ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และ
- “โครงการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางสินค้า (Trusted Source Data Pool)” เป็นการจัดเก็บข้อมูลสินค้าที่น่าเชื่อถือได้ เช่น รายละเอียดสินค้าที่มาจากผู้ผลิตโดยตรง ข้อมูลการรับรองสินค้าจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อ.ย. ฮาลาล มอก. ฯลฯ ที่มีการอ้างอิงมาจากองค์กรนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้ขาย และผู้ซื้อ
ด้าน
วรรณวิทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมี Soft Infrastructure ด้านมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน ETDA ได้ดำเนินงานสนับสนุนเรื่องนี้ใน 2 กลยุทธ์คือ
“การจัดทำมาตรฐานเพื่อการสนับสนุนการทำธุรกิจในปัจจุบัน” เช่น มาตรฐาน e-Invoice e-Payment และยังมีมาตรฐานข้อมูลสินค้า เช่น UNSPSC และ DTI (Destination Travel Information) ที่จะนำไปช่วยสนันสนุนและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs ไทย และ
“การศึกษาและจัดทำมาตรฐานสำหรับอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า” เพราะมาตรฐานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น Tokenization เพื่อการระบุสินค้าที่สามารถระบุสินค้าได้ถึงหน่วยของสินค้า โดยยังได้ศึกษาเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วย
“สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือ Trade Facilitation Agreement ของ WTO ที่จะมีผลบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตาม ตัวอย่างหนึ่งในข้อตกลง เช่น รัฐต้องอนุญาตให้มีการใช้งาน e-Payment และมีข้อแนะนำว่า การเลือกมาตรฐานอันใดอันหนึ่งจากที่มีอยู่มากมายหรือประกาศมาตรฐานของไทย ไม่สำคัญเท่ากับทราบว่า ขณะนี้เรากำลังใช้งานมาตรฐานใดอยู่” วรรณวิทย์ กล่าว
ธานินทร์ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในภาคธุรกิจไทยปัจจุบัน เป็นแบบ EDI (Electronic Data Interchange) ที่เป็นมาตรฐานทางยุโรป และเป็นระบบที่ดำเนินการผ่าน VAN (Value Added Network) โดยมีการใช้งานมากกว่า 10 ปีแล้ว ผู้ที่ใช้งาน ได้แก่ กลุ่มผู้ค้าปลีก (B2B) กรมศุลกากร (B2G) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (G2G) เป็นต้น ในกลุ่มผู้ค้าปลีกนั้น มีเพียง 20% ของผู้ค้าปลีกที่ใช้ EDI แต่คิดเป็น 80% ของเอกสารทั้งตลาด ซึ่งเอกสารที่ใช้งาน ได้แก่ ใบสั่งซื้อ ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ใบแจ้งการส่งเงิน (Remittance Advice) ใบเสร็จ และใบกำกับภาษี เป็นต้น ซึ่งจากการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น มี 2 ข้อความที่สามารถเพิ่มปริมาณการใช้งานได้ คือ ใบแจ้งการส่งเงิน ถ้ามีการเชื่อมโยงกับระบบการชำระเงิน และใบกำกับภาษี ถ้ากรมสรรพากรมีการอนุญาตให้จัดทำ จัดส่ง และจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
“จากการเตรียมความพร้อมที่จะนำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็น XML มาใช้งานในอนาคต ด้านเทคนิคนั้นไม่เป็นอุปสรรค โดยถ้าระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ของผู้ใช้งานในประเทศไทยมีการใช้มาตรฐาน ก็จะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อกรมสรรพากรอนุญาตให้จัดเก็บและจัดส่งใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มบริการ EIPP (Electronic Invoice Presentment and Payment) จะสนับสนุนการใช้งานมาตรฐานแพร่หลายมากยิ่งขึ้น”
ธานินทร์ กล่าว
ด้าน
สรกฤช กล่าวว่า ภาคธนาคารได้มีบริการการแชร์บริการร่วมกับธนาคาร (Shared Service Model) เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ได้แก่ บริการ EBPP (Electronic Bill Presentment and Payment) ใน B2C และบริการ EIPP (Electronic Invoice Presentment and Payment ใน B2B ซึ่งจะช่วยให้การชำระเงิน สะดวก ประสิทธิภาพ ปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบกับการแสดงและการชำระเงินแบบกระดาษ นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้เกิดการชำระเงินแบบ End-to-End เช่น บริษัท BPAY ผู้ให้บริการในออสเตรเลีย ได้ใช้ Shared Service Model ที่นำ Data ที่เกิดจากใบแจ้งหนี้ไปจัดทำใบแจ้งการส่งเงิน และหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นการนำข้อมูลในใบแจ้งหนี้ไปใช้ต่อ และทำให้เกิดการชำระเงินแบบ End-to-End อย่างแท้จริง
“หลักการสำคัญที่จะทำให้มีระบบการชำระเงินมีประสิธิภาพสูง ได้แก่ การสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน (Drive Access) สนับสนุนการเจริญเติบโตทางธุรกิจ (Spur Economic Growth) ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการชำระเงิน การเพิ่มความแข็งแกร่งของการเข้าถึง (Strengthen Availability) โดยทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย และมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แข็งแกร่ง มีการสนับสนุนและทำให้เกิดความสะดวกต่อระบบการชำระเงิน โดยผ่านกฎเกณฑ์และการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ และวางกลยุทธ์การลงทุนเพื่อกระตุ้นตลาดและเตรียมการสำหรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุน”
สรกฤช สรุป
ทั้งนี้ ETDA ตระหนักถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นการนำไอซีทีมาช่วยปฏิรูปทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และมองว่าหากจะก้าวให้เร็วขึ้นจะต้องเร่งมือช่วยกันและนำไปใช้ให้เกิดคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ โดยต้องรองรับการแข่งขันทั้งภายในและระหว่างประเทศได้
ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum โดยในวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2558 จะงดจัดไป 1 ครั้ง ส่วนวันเสาร์ที่ 19 กันยายน จะเป็นเรื่องอะไร