Digital Law
- 05 ส.ค. 58
-
1442
-
เสียงของ Multi-stakeholders ไทย ร่วมกำหนดทิศทางอินเทอร์เน็ตได้
ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 26 ล้านคน เมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล แปลว่ายังจะมีคนใช้เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบล้านคนในเร็ว ๆ นี้ ยิ่งอินเทอร์เน็ตเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิต กิจธุระ และธุรกิจของเรามากเท่าไร การบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตย่อมซับซ้อนและยุ่งยากยิ่งขึ้น แต่การที่อินเทอร์เน็ตอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรโลกอย่าง ICANN คนไทยจะมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบายอินเทอร์เน็ตโลกได้อย่างไร หนึ่งในคำตอบจากเวที Open Forum ของ ETDA เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปแบบ Multi-stakeholders
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ดด้า) โดย ICT Law Center และ สำนักโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ETDA ได้เปิดเวทีพูดคุยในหัวข้อ What? Why? ICANN? : มาทำความรู้จัก ICANN องค์กรผู้ดูแลโดเมนและอินเทอร์เน็ตของโลก ณ ห้อง Open Forum ชั้น 21 ของ ETDA โดยมี วรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ ETDA และ ปิตินันท์ คูอมรพัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ETDA ร่วมแชร์ความคิดกับ ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง และ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต บนเวที
ICANN หรือ Internet Corporation for Assigned Names and Numbers คือองค์กรความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อและหมายเลขทางอินเทอร์เน็ต เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ในรูปแบบบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อดูแลเรื่องระบบ Domain Name และการจัดสรรเลข IP ปิตินันท์ คูอมรพัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ETDA อธิบายว่า “ปกติเวลาเข้าเว็บไซต์ เราจะรู้ว่า www.abc.com นั่นคือชื่อสำหรับคนใช้ได้ แต่คอมพิวเตอร์ไม่รู้เรื่อง วิ่งไปถามเลขที่ว่า ชื่อนี้อยู่ที่ไหน ตัวที่เป็น number ก็คือหมายเลข ทาง IT เรียกว่า IP Number สองสิ่งนี้คือโครงสร้างสำคัญที่ทำให้เราค้นหาสิ่งต่าง ๆ ได้บนอินเทอร์เน็ต มีประเด็นว่า ตัวเลขเป็นตัวเลขชุด เมื่อใช้ไปก็จะหมดเหมือนหมายเลขโทรศัพท์ ก็ต้องมีคนที่คอยบริหารจัดการว่า จะมอบตัวเลขเซตนี้ให้ใคร เซตนี้อาจจะให้ทวีปแอฟริกา เซตนั้นให้ทวีปเอเชีย องค์กรนี้ก็เกิดขึ้นเพื่อจัดการเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังดูแลนโยบายไปถึงผู้ใช้และผู้ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Domain เพื่อที่จะกำหนดกติกามารยาทในการใช้ร่วมกัน”
หลักสำคัญในการดูแลของ ICANN เรียกว่า Multi-stakeholders คือภาคีเครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายได้ และต้องเป็นในลักษณะ bottom up คือเกิดขึ้นมาจากข้างล่าง ไม่ใช่จาก top down หรือรัฐบาลกำหนดลงมา
“อินเทอร์เน็ตมีเบื้องหลังที่ยังไม่นิ่ง ไม่ได้ชัดเจนเหมือนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตแบบนี้ เก็บเงินแบบนี้ ดังนั้น จึงมีคนที่เกี่ยวข้องที่ยัง active สมมติว่า เรามีการขายชื่อ Domain มาระยะหนึ่งแล้ว ราคาเหมาะสมไหม ถ้ามีชื่อ Domain ประเภทใหม่ ๆ หรือเป็นภาษาถิ่น จะบริหารจัดการอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าชื่อนี้ไม่ปลอมมาหลอกลวง ซึ่งจะมีคนเกี่ยวข้องเบื้องหลังมากมาย เวลาจะตัดสินใจต่าง ๆ พอแต่ละกลุ่มทำ bottom up ขึ้นมา นโยบายจะออกมาอย่างไร ก็จะมี Board of Directors ซึ่งมีทั้งกลุ่ม Advisory Group คือให้ความเห็นได้แต่ไม่มีสิทธิลงคะแนน เช่น กลุ่มที่ได้ข้อสรุปมาจากฝ่ายรัฐบาล กลุ่มที่ได้ข้อสรุปมาจากฝ่ายเทคนิค ในขณะที่กลุ่มที่มีสิทธิออกเสียง คือ กลุ่มที่ทำธุรกิจซื้อขายชื่อ Domain และมีกลุ่มคนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับการรับเลือกอยู่ในบอร์ดเพื่อสร้างสมดุลในการตัดสินใจต่าง ๆ และในเดือนกันยายน 2558 นี้ ICANN ยังจะเกิด Big Change เปลี่ยนมือจากที่อยู่ภายใต้สหรัฐฯ ให้โลกร่วมดูแล มีการกำหนดโครงสร้างในการบริหารจัดการใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อจะได้รู้ว่าใครจะเป็นควบคุม เราจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร รวมถึงแสดงความคิดเห็นส่งไปได้” ปิตินันท์ฯ กล่าว
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง แชร์ประสบการณ์ในฐานะคนทำงานออนไลน์ว่า ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่ม GNSO ซึ่งเป็น Multi-stakeholders ใน ICANN ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการ (provider) และผู้ใช้ (user) ของ Domain เหมือน ETDA ที่เข้าไปในส่วนของภาครัฐ เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมของระบบอินเทอร์เน็ต เพราะไม่ใช่มีแต่รัฐที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นได้ ต้องมีผู้ใช้และผู้ให้บริการด้วย ซึ่งใน GNSO ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ Contracted Parties House ซึ่งเป็นพวก Registry และ Registras ที่ได้รับการรับรอง (accredit) จาก ICANN เช่นพวกที่ได้ .com .net .org อีกกลุ่มคือ Non-Contracted Parties House คือใครก็ได้ที่ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคธุรกิจหรือกลุ่มภาคประชาสังคม และทำให้ ICANN ยอมรับได้ ซึ่งในทั้งสองกลุ่มก็จะเลือกตัวแทนกลุ่มละ 1 คนที่สามารถไปลงคะแนนเสียงในบอร์ดของ ICANN ได้
วรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ ETDA ซึ่งเป็นรองประธาน (Vice Chair) ของ GAC หรือ Government Advisory Committee คือกลุ่มที่เป็นที่รวมของตัวแทนจากรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของ ICANN กล่าวถึงประเด็นที่ sensitive อย่าง Top Level Domain ซึ่งปัจจุบัน ICANN เปิดให้จดชื่ออื่น ๆ นอกจาก Domain ที่ใช้อยู่เดิม อย่าง .com .net .org เพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่มากขึ้น เช่น มีคนจด Top Level Domain ว่า .hotel และจะขอจด .th.hotel ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนหากมีทั้ง dusitthani.co.th, dusitthani.com หรือ dusitthani.th.hotel ว่าอะไรคือของจริง ผู้ใช้บริการก็จะไม่เข้าใจ
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต เสริมว่า Top Level Domain ใหม่ ๆ ทำให้อินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องของเทคนิคเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องเนื้อหา ที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องกฎหมาย วัฒนธรรม สังคม คนที่จะได้รับสิทธิแบบไหนที่จะได้ใช้ Domain ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าไปกำหนดนโยบายจะไม่ใช่แค่พวกที่รู้แค่ด้านเทคนิคเท่านั้น
ช่วงปิดท้ายการพูดคุย ทุกฝ่ายต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของ Multi-stakeholders ภูมิจิตฯ ขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาเรียนรู้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็น model เดียวกัน เช่นเดียวกับ อาทิตย์ฯ ที่ย้ำว่า อินเทอร์เน็ตเป็นของทุกคน ถ้าทุกคนอยู่เฉย ปล่อยให้คนอื่นมาจัดการ สิ่งนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับสังคมของเรา ทางออกคือ ต้องร่วมกันส่งเสียงของเราไปสู่ผู้ที่กำหนดนโยบายอินเทอร์เน็ตให้ได้รับรู้ ส่วน วรรณวิทย์ฯ กล่าวว่า อยากให้ Multi-stakeholders ของไทยเป็นชุมชนที่ใหญ่กว่านี้ เราต้องสู้ในโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นเขตการค้าที่ไม่มีพรมแดน
ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum