Digital Law
- 06 มิ.ย. 59
-
1429
-
หลักเกณฑ์จดทะเบียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ สำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (รภ.) เปิดเวที Open Forum ในหัวข้อ “How to write Thai place name in English เขียนชื่อสถานที่ไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ...อย่างไรกันดี” เมื่อบ่ายวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Open Forum ของ ETDA โดยได้รับเกียรติจาก แสงจันทร์ แสนสุภา ผู้อำนวยการกองธรรมศาสตร์และการเมือง รภ. นฤมล กรีพร นักวรรณศิลป์ชำนาญการพิเศษ รภ. มณฑิกา บริบูรณ์ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย NECTEC และ ดร.กฤษณ์ โกสวัสดิ์ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย NECTEC พร้อมด้วย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐาน ETDA และ ศุภโชค จันทรประทิน ผู้จัดการส่วนงานกลยุทธ์มาตรฐาน สำนักมาตรฐาน ETDA โดยมี พ.ต.ท.หญิง จีรบูรณ์ บำเพ็ญนรกิจ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ ETDA ดำเนินรายการ
ดร.อุรัชฎา กล่าวถึงความจำเป็นในการเขียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษให้เป็นรูปแบบเดียวกันว่า การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในมาตรฐานสากล จำเป็นต้องใช้รหัสสถานที่เพื่อการค้าและการขนส่ง (UN/LOCODE) ซึ่งรายชื่อสถานที่ในประเทศไทยที่ได้รับสถานะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานแห่งชาติ (National Focal Point) ที่มีอำนาจแล้ว (AA) อยู่เพียง 40 รายการ ดังนั้นทาง ETDA ในฐานะ National Focal Point ของประเทศไทย จึงต้องการหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการสะกดชื่อสถานที่ภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการตรวจสอบรายการ UN/LOCODE ที่รออนุมัติอยู่เดิม และเพื่อใช้ในการสะกดชื่อสถานที่ที่อาจขอเพิ่มเข้ามาอีกในอนาคต ศุภโชค เสริมว่า ชื่อสถานที่เดียวกันแต่สะกดเป็นภาษาอังกฤษต่างกัน ตัวคนอาจอนุมานชื่อนั้นได้จากประสบการณ์ว่า มาจากภาษาไทยคำเดียวกัน แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ และจะกำกับชื่อสถานที่ที่สะกดแตกต่างกันเป็นคนละแห่ง ส่งผลให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ ไม่สามารถทำหน้าที่จำแนกสถานที่ได้อย่างแม่นยำ นำมาสู่คำถามที่ว่า “หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการรับจดทะเบียนชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร”
ในฐานะหน่วยงานที่ประกาศใช้หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน แสงจันทร์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ถึงปัจจุบัน รภ. ได้ประกาศใช้ในปี 2542 แทนฉบับเดิมในปี 2482 นอกจากนั้น ยังได้แนะนำระบบของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้ถ่ายถอดนามสกุลพระราชทานมาตั้งแต่ปี 2456 โดยยังคงใช้อยู่กับชื่อพระราชทานและการถอดคำบาลี ทางด้าน นฤมล ได้ประมวลปัญหาที่เกิดขึ้นแม้มีหลักเกณฑ์แล้วเป็น 6 ประเด็น คือ 1) คำวิสามานยนาม (ชื่อเฉพาะ) ที่ต้องสืบค้นว่าเจ้าของชื่อเขียนอยู่อย่างไรเพื่อใช้ตาม 2) ที่มาและความหมาย คำที่ไม่ทราบที่มาและความหมาย ส่งผลให้เลือกสะกดคำได้ยากเนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งที่ควรเว้นวรรค 3) คำทับศัพท์ที่มาจากต่างประเทศ ต้องสืบหาเพื่อย้อนกลับไปเขียนตามคำศัพท์เดิม 4) ชื่อภูมิศาสตร์ทั่วไป และ 5) ชื่อสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่ต้องเลือกว่าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือถ่ายถอดเสียง 6) การแบ่งคำ ที่ต้องตรวจสอบความหมายและการออกเสียง
จากการศึกษารูปแบบของการถ่ายถอดชื่อที่อยู่และชื่อสถานที่ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษในปัจจุบันของ NECTEC มณฑิกา ได้กล่าวว่าพบถึง 10 รูปแบบในองค์กรต่าง ๆ โดยรูปแบบการถ่ายถอดเสียงตามประกาศของ รภ.ได้รับการนำมาใช้มากที่สุด (70.74%) ตามมาด้วย การแปล (17.47%) การถ่ายถอดเสียงที่ไม่เป็นไปตามประกาศของ รภ. (5.07%) และการทับศัพท์โดยสะกดตามคำจากภาษาต้นทาง (5.02%) ซึ่งชื่อสถานที่หนึ่งอาจใช้รูปแบบการถ่ายถอดฯ มากกว่า 1 รูปแบบ โดย ดร.กฤษณ์ สรุปว่า การถ่ายถอดฯ ตามเกณฑ์ของ รภ. การทับศัพท์โดยสะกดตามคำจากภาษาต้นทาง การสะกดตามแนวพระราชนิยมที่บัญญัติไว้ในการใช้นามสกุลพระราชทาน การแปล และการใช้ตามความนิยม เป็นรูปแบบที่ควรนำมาใช้ในการถ่ายถอดเสียงฯ ทั้งนี้ ขั้นตอนในการพิจารณาเลือกรูปแบบการถ่ายถอดเสียง ได้แก่
- พิจารณาว่าชื่อไทยที่ต้องการเขียนเป็นตัวโรมันนั้น เป็นคำทับศัพท์จากต่างประเทศมาก่อนหรือไม่ หากใช่ให้ใช้การทับศัพท์โดยสะกดตามคำจากภาษาต้นทาง แต่หากไม่ใช่ แสดงว่าเป็นคำไทย
- พิจารณาว่าคำไทยนี้เป็นคำนามทั่วไปหรือไม่ หากใช่ ให้ใช้การแปล แต่หากไม่ใช่ แสดงว่าเป็นชื่อเฉพาะ
- พิจารณาว่าชื่อเฉพาะนี้เป็นชื่อพระราชทานหรือไม่ หากใช่ ให้ใช้การสะกดตามแนวพระราชนิยมฯ
- พิจารณาว่าชื่อเฉพาะนี้เป็นชื่อเฉพาะที่นิยมใช้กันมานานหรือไม่ หากใช่ ให้ใช้การใช้ตามความนิยม
- หากไม่เข้าเกณฑ์ยกเว้นใดๆ ข้างต้น ให้ใช้การถ่ายถอดฯ ตามเกณฑ์ของ รภ.
เกณฑ์ที่นำเสนอ เป็นเพียงแนวทางที่ผู้รับจดทะเบียนชื่อสถานที่ทางการค้าสำหรับการนำเข้าส่งออก และ UN/LOCODE สามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้บริการได้ และหากพบปัญหาในเรื่องที่มาหรือความหมายของคำ สามารถสืบค้นข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือสอบถามกับ รภ. ได้
ดร.อุรัชฎา ได้กล่าวปิดท้ายถึงทิศทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์การถอดอักษรชื่อสถานที่ภาษาไทยให้เป็นอักษรโรมันให้เป็นรูปแบบเดียวกันนี้ว่า รภ. กำลังทยอยแก้ไขชื่อสถานที่ที่สะกดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ รภ. โดยหลักเกณฑ์การถอดอักษรที่ได้นำเสนอในวันนี้ จะใช้เป็นแนวทางในการสะกดชื่อสถานที่ที่ต้องการจดทะเบียนใหม่ และเพื่อใช้ในการตรวจสอบรายการ UN/LOCODE ที่มีอยู่เดิมซึ่ง NECTEC จะพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานต่อไป โดยขอรับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจดทะเบียนชื่อสถานที่เป็น UN/LOCODE
ทาง ETDA Open Forum ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ โดยหัวข้อการพูดคุยครั้งต่อไปจะเป็นประเด็นใด