Digital Law
- 13 ส.ค. 58
-
1324
-
ETDA ร่วมหนุนการสื่อสารออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างสังคมดิจิทัลที่น่าอยู่
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ดด้า) โดย ICT Law Center ได้เปิดเวทีพูดคุยในหัวข้อ "Netiquette : อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ผ่านการสื่อสารออนไลน์อย่างสร้างสรรค์" โดยได้รับเกียรติจาก กฤติยาณี บูรณตรีเวทย์ (Lawyer, Information Technology & Communications Practice Group, Baker & McKenzie Ltd.) เอษรา วสุพันธ์รจิต (นักจิตวิทยาคลินิกประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) และ วิโรจน์ อัศวรังสี (นักคิดนักเขียนทางด้านไอทีที่มีลูกวัยกำลังเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ต) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ชาติชาย สุทธาเวศ (รองผู้อำนวยการ ETDA) โดยมี ภรณี หรูวรรธนะ (CPA, CISA,CRISC) เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้อง Open Forum ชั้น 21 ของ ETDA เมื่อวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ชาติชาย ได้เปิดเผยถึง “ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2558” (Thailand Internet User Profile 2015) ซึ่ง ETDA จัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 8.3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกลุ่มที่ใช้มากที่สุด คือ Gen Y ช่วงอายุ 15-34 ปี และที่น่าสนใจคือกลุ่ม Baby Boomer อายุ 51-69 ปีมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้นจากปีก่อน ถ้าแบ่งตามอุปกรณ์พบว่าสมาร์ตโฟน ครองอันดับ 1 รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊กตามลำดับ และหากแบ่งตามกิจกรรมที่ใช้ จะใช้เพื่อแชตผ่านโซเชียลมีเดียมากที่สุด รองลงมาคือใช้ค้นหาข้อมูลและข่าวสาร ซึ่งข้อควรระวังของกลุ่ม Baby Boomer คือ การหลงเชื่อและการให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลบัตรประชาชน ในขณะที่ Gen Y จะระวังและป้องกันมากกว่า
ด้าน เอษรา ในฐานะนักจิตวิทยากล่าวว่า พ่อแม่ควรพิจารณาว่าใน 8 ชั่วโมงที่ลูกหลานอยู่กับอินเทอร์เน็ตนั้น อยู่กับเด็กด้วยหรือเปล่า มีงานวิจัยของอเมริกาที่ระบุว่าในวันธรรมดาเด็กไม่ควรอยู่หน้าจอเกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ส่วนในวันหยุดไม่ควรเกินสองชั่วโมง ปัญหาอาจจะเกิดจากความเหงาคล้ายกับคนในวัยเกษียณ ซึ่งการเชื่อมต่อกับสังคมในโลกออนไลน์เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขายังมีตัวตนอยู่ ทำให้เด็กใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นการปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่จะช่วยได้ การที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ต แต่ความอบอุ่นจากพ่อแม่สำคัญที่สุด โดยอาจค่อย ๆ ลดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตด้วยการกิจกรรมที่ลูกสนใจ
ในฐานะคุณพ่อ วิโรจน์ ได้ปลูกฝังลูกของคนให้เคารพกฎกติกา 3 R ในการใช้อินเทอร์เน็ตคือ “Restriction” คือ กำหนดเวลาในการใช้ รวมถึงกติกาในการป้องกันข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้เกิด security และ privacy ด้วย “Respect” คือ เคารพผู้อื่น มีกาลเทศะ คำนึงถึงวัฒนธรรมของคู่สนทนาที่เป็นชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรม และ “Responsibility” คือรับผิดชอบ เมื่อเผชิญกับปัญหาก็รู้จักการแก้ไข เอษรา เสริมว่า แม้เด็กจะฉลาดแต่การตัดสินใจหรือเข้าใจขอบเขตยังไม่มากเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นพ่อแม่จะต้องปฏิบัติเองและสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน และหากคู่สนทนาใช้ภาษาหรือคำพูดที่รุนแรง พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้เท่าทัน ไม่ตอบโต้ ไม่ไปต่อปากต่อคำ แต่ใช้การรายงานไปยังเจ้าของเว็บไซต์เพื่อดำเนินตามมาตรการของเขา
ภรณี ได้หยิบยกเรื่องการคิด - THINK ก่อนโพสต์ โดยให้พิจารณาก่อนว่า True - สิ่งนั้นจริงไหม Helpful - ให้ประโยชน์หรือไม่ Inspiring - จรรโลงใจไหม Necessary - จำเป็นหรือไม่ Kind - เมตตาเอื้ออาทรหรือเปล่า วิโรจน์ ได้เสริมว่า โรงเรียนทุกวันนี้จะสอนหลักการ Theory of Knowledge - TOK ว่าความรู้คืออะไร มีประโยชน์ไหม จำแนกความรู้กับความไม่รู้อย่างไร ต้องแยกแยะว่าอันไหนคือความจริง (fact) อันไหนคือความคิดเห็น (opinion) เพราะบางครั้งความคิดเห็นอาจจะไม่ใช่ความจริง ส่วน เอษรา ได้เพิ่มเติมว่า การคิดก่อนแแชร์เป็นแนวคิดที่ดี กรณีที่มี fact ที่สามารถพิสูจน์ได้จริง แต่ค่อนข้างอ่อนไหว (sensitive) มาก เช่น การเมือง ศาสนา เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ก็ต้องคำนึงว่า การแสดงความคิดนั้นออกไปว่าจะไปกระทบอะไรบ้างและมีผลเสียอย่างไร ความเคารพ (respect) ในความเป็นมนุษย์จึงควรเพิ่มเข้าไปด้วย
นอกจากการคิดถึงมารยาทก่อนโพสต์ กฤติยาณี ได้เสริมว่า ควรจะระวังเรื่องข้อกฎหมายด้วย เพราะการแสดงความคิดเห็นหรือการโพสต์อะไรก็ตามที่มีลักษณะหมิ่น ละเมิด อาจจะผิดกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกด้วย และการตัดต่อภาพก็ยังมีผลทาง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
ภรณี ได้หยิบยกเรื่องกติกามารยาทในการใช้อีเมล เช่น “การระบุตัวตน” ของผู้ส่งในหัว-ท้ายอีเมล และมีหัวข้อเพื่อให้ผู้รับเกิดความมั่นใจ “การไม่เสียดสี” เพราะโลกออนไลน์ผู้รับอาจจะจินตนาการเป็นอย่างอื่นได้ “การระมัดระวังเรื่องความเป็นส่วนตัวและวัฒนธรรมของคนต่างชาติ” “การตอบกลับทันที” “การไม่ส่งสแปม” “การใช้ข้อความที่กระชับ” ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมฟัง เช่น การทำงานที่แวดล้อมและถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารตลอดเวลา เช่น มีอีเมลส่งมา ต่อมาสักพักมีไลน์เข้ามา ทำให้หันไปสนใจสิ่งที่เข้ามาใหม่อยู่ตลอดเวลา จนลืมสิ่งที่กำลังทำอยู่ในเริ่มแรก จะนำไปสู่โรคสมาธิสั้นหรือไม่ เอษรา ได้ให้คำตอบว่าเป็น “ภาวะสมาธิสั้นเทียม” ที่อาการเหมือนจะสมาธิสั้น แต่ไม่ใช่อาการของโรคสมาธิสั้น สิ่งที่ทำได้คือ การจัดลำดับขั้นและเวลาให้เหมาะสม (priority)
ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum โดยในวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2558 (งดในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม) จะพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนแวดวงออนไลน์