TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA เปิดเวทีวิพากษ์ กม.ลิขสิทธิ์ อะไรแชร์ได้ แชร์ไม่ได้

Digital Law Documents
  • 04 ก.ย. 58
  • 1266

ETDA เปิดเวทีวิพากษ์ กม.ลิขสิทธิ์ อะไรแชร์ได้ แชร์ไม่ได้

จากหลากหลายความกังวลเรื่องลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ได้เปิดอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อแบ่งปันความรู้และแชร์ประสบการณ์กับตัวแทนจาก หน่วยงาน นักวิชาการ และคนในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อ พูดคุยกันในหัวข้อ “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ : อะไรแชร์ได้หรือไม่ได้บนโลกออนไลน์” โดยได้รับเกียรติจาก วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปรัชญา ไพโรจน์กุลมณี นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา พิเศษ จียาศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) และ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมเวที

IMG_0917.jpg IMG_0784.jpg

ผศ.ดร.อรรยา ปูความรู้เบื้องต้นกฎหมายนี้ว่า “ลิขสิทธิ์” เป็นการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ ทั้งในรูปวรรณกรรม ศิลปกรรม งานแพร่เสียง แพร่ภาพ งานโสตทัศนวัสดุ งานศิลปประยุกต์ งานภาพยนตร์ สื่อเพลงต่าง ๆ ส่วนการปรับแก้กฎหมายฉบับที่ 2 นี้มีบริบทเรื่องเทคโนโลยี อย่างทุกวันนี้มีความสุ่มเสี่ยงเพราะมือถือที่เป็นสมาร์ตโฟน ทำให้คนทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว เช่น บางคนขายของในอินสตาแกรมแล้วไปเอาเว็บแบรนด์มาโพสต์ ซึ่งต้องให้ความสำคัญ 

ปรัชญา เสริมว่า เนื่องจากกฎหมายฉบับปี 2537 ใช้สำหรับลิขสิทธิ์ที่จับต้องได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวหน้ามากขึ้น จึงต้องมีทั้งการแก้ไขบททั่วไปที่ฉบับเดิมมีอยู่แล้ว และกำหนดเรื่องใหม่เพื่อรองรับเรื่องเทคโนโลยี เช่น “มาตรการทางเทคโนโลยี” เจ้าของสิทธิจะนำเทคโนโลยีมาป้องกันงานของตัวเองอย่างไร อาจใส่พาสเวิร์ด การดาวน์โหลดจะมีสิทธิอ่านอย่างเดียวหรือลงในเครื่องด้วย “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” คือการที่เจ้าของสิทธิจะบริหารสิทธิของตัวเองอย่างไร เช่น ISBN จะบอกว่า หนังสือนี้ใครแต่ง พิมพ์ และมี license ถึงเมื่อไร หรือการใส่โค้ดในเพลง เมื่อมีคนไปร้องที่คาราโอเกะ ทำให้นับได้ว่ามีคนร้องเพลงเพลงนั้นไปกี่ครั้ง ซึ่งการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลเหล่านี้ โดยรู้อยู่ว่าก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์คือมีเจตนาไม่ดี ถือว่าผิดตามกฎหมายนี้ “ข้อจำกัดความรับผิดของ ISP” คือหากเจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งศาลสั่งให้ ISP เอางานอันมีลิขสิทธิ์ลง โดย ISP ไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการดังกล่าว ISP ก็จะไม่ผิด

IMG_0788.jpg IMG_0817.jpg

พิเศษ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ว่า เดิมนั้นมี “การขอความร่วมมือกับ ISP” ซึ่งต้องอาศัยการทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อเผยแพร่ผลงานเช่น เพลงไป 1 เพลงก็มีการนำไปแพร่ต่อเป็นล้าน ต้องขอความร่วมมือให้เอา url ออกจากระบบ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ประมาณ 90% ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 7 วัน แต่กฎหมายฉบับที่ 2 นี้ กำหนดเรื่องการขอให้ศาลสั่ง ดังนั้น อาจเกิดการยกเป็นข้ออ้างได้ว่า ต้องรอให้ศาลสั่งก่อนความร่วมมือแบบเดิมกับ ISP ก็จะน้อยลง อีกทั้งยังต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่าย ทำให้เจ้าของสิทธิหรือตัวแทนต้องเผชิญหน้ากับ ISP แทนที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนข้อดีก็คือ “มาตรการทางเทคโนโลยี” คือ ถ้ามีคนไปแฮก ก็ผิดทั้งการละเมิดในการเข้าถึง ซึ่งมีการให้สิทธิกับเจ้าของสิทธิในการ access control และก็ตัวข้อมูลหรือ content ที่ถูกกฎหมายด้วย

สำหรับเรื่องอะไรแชร์ได้หรือไม่ได้นั้น ทาง ผศ.ดร.อรรยา กล่าว ว่า บางเรื่องอาจจะไม่สามารถตอบได้ชัด 100% เพราะมีพฤติกรรมแวดล้อมหลาย ๆ อย่างประกอบกัน เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถทำซ้ำ ดัดแปลง เอางานต้นฉบับให้เช่า ทำสำเนา แต่ถ้ามีการละเมิดก็มีโทษทางอาญา และมีส่วนที่เพิ่มเติมคือ Fair Use หรือการใช้อย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ลงเครดิตอ้างอิงที่มาแล้วจะปลอดภัย ต้องดูว่าไม่ขัดกับการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบถึงเจ้า ของลิขสิทธิ์ เอาไปวิจัย ไปศึกษา ไม่ได้หาผลกำไร ติชม ก็บอกว่าทำได้แต่มีปริมาณจำกัด คือประมาณ 10% ของงาน ปรัชญา เสริม ว่า ในเรื่อง 5-10% เป็นแค่ guideline ถ้าในส่วนนี้ยังกระทบสิทธิของเจ้าของ เช่น นำฉากที่เฉลยปมของหนังทั้งหมด แค่ไม่กี่นาทีมาเผยแพร่ก็ผิด ส่วน ไพบูลย์ อธิบายว่า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่แสวงหากำไร มีหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1. เข้าหลักการใช้อย่างเป็นธรรมหรือ Fair Use 2. อ้างอิงถึงแหล่งที่มา 3. ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ก็สามารถแชร์ในเฟซบุ๊กอะไรต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีนิติบุคคล จะมีข้อยกเว้นเฉพาะสื่อมวลชนในเรื่องการรายงานข่าว

ด้าน วีระศักดิ์ ได้เพิ่มเติมในเรื่อง “Creative Commons” และ “considerate” ว่า นอกจากเรื่องอะไรใช้หรือห้าม อันหนึ่งที่เป็นเครื่องมือ คือ Creative Commons หมายถึงคนในอุตสาหกรรม content ต้องอยู่ร่วมกันแบบมีน้ำใจด้วย ไม่ใช่ห้ามใช้ไปหมด เจ้าของสามารถแจ้งได้ว่ายอมให้ใช้ตรงไหน นำไปใช้ได้แค่ไหน นำไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทุกวันนี้มีถึง 300 ล้านรายการแล้วนับตั้งแต่ระบบนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2001

“เรามีสมาร์ตโฟน แต่ก็ต้องมีความระแวงตนเองว่าสะเพร่าหรือเปล่า ในภาษาอังกฤษมีคำว่า คนคนนี้เป็นคน ‘considerate’ ภาษาไทยไม่มีคำแปลตรง ๆ อนุมานว่า ‘มีความเกรงใจ’ จะหยิบจะจับของใครก็รู้สึกเคารพ มีการคำนวณเยอะแยะว่าจะไปกระทบใครหรือไม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พึงมีสำหรับระบบออนไลน์ เราถือเครื่องมือที่มีคุณภาพ เพียงแต่เราใช้มันน้อยมากตามความสามารถของมัน แสดงว่าอาวุธของมันคือพลังมหาศาล แต่สิ่งที่เรามีคือความก้าวร้าว ซึ่งหากเรามี considerate เกรงใจต่อใคร เกรงใจอะไรบ้าง ฝึกให้กับตัวเอง แบบนี้ก็ไม่ต้องไปโทษกฎหมาย กฎหมายสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีหลักในการประคับประคองกันไป ซึ่งกฎหมายก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ไปในทิศทางที่ว่านั้นได้ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีน้ำใจ เกรงอกเกรงใจกัน มันจะนำมาซึ่งสันติสุข” วีระศักดิ์ ทิ้งท้าย

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum โดยในวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2558 จะพูดคุยในหัวข้อ "ใช้โดรน (Drone) อย่างไร ให้โดนใจ ไม่โดนดี" และวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2558 ในเรื่องการยกระดับการค้าไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 
 

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)