Digital Law
- 10 มิ.ย. 58
-
1728
-
ETDA ร่วมชี้ช่อง ใช้งานลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลอย่างไรให้ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) และ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) ระดมผู้เกี่ยวข้องด้านทรัพย์สินทางปัญญา งานลิขสิทธิ์ และนักวิชาการด้านกฎหมาย เปิดเวทีหาคำตอบ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลอย่างถูกต้อง กับหัวข้อ Fair use: on Copyright “เปิดเพลงในร้านอาหาร, ใช้ภาพจาก Internet, แชร์ link จาก YouTube อย่างไรให้ถูกต้อง
เวทีวันนี้ ได้รับเกียรติจากคุณพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป TECA รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายเพื่อประชาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณนุสรา กาญจนกูล หัวหน้าส่วนคุ้มครองลิขสิทธิ์ สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีคุณอุมาศิริ ทาร่อน รองผู้อำนวยการ MPA เป็นผู้ดำเนินรายการ
ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งการพิจารณาว่างานใดถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา คือ 1. “ต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด หรือ Expression of Idea” กฎหมายไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด (idea) เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์นั้นเป็นการคุ้มครอง Style of Expression 2. “งานที่ต้องสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง” โดยใช้ทักษะและแรงงาน ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงวิจารณญาณในการสร้างงานของตน 3. “Type of Work ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์” เช่น การแต่งหนังสือ ถือเป็นงานวรรณกรรมตามบทบัญญัติของกฎหมายลิขสิทธิ์ และ 4. “งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยถูกต้องตามกฎหมาย” เมื่อครบองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์แล้ว กฎหมายจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์งาน โดยมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Right) ที่จะกระทำการใด ๆ กับงานของตนที่ได้สร้างขึ้น ทั้งการทำซ้ำ ดัดแปลง จดบันทึก เขียน ถ่ายสำเนางานของตน และมีสิทธิในการเผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น การเผยแพร่ผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน
ทั้งนี้ การสร้างสมดุลของ Exclusive Right ของผู้สร้างสรรค์งาน สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านหลักการ “การใช้อย่างเป็นธรรม” หรือ Fair Use ซึ่งเป็นการให้สิทธิสังคมในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ซึ่งสำหรับประเทศไทย งานอันมีลิขสิทธิ์ที่สามารถนำหลัก Fair Use มาใช้ได้ เช่น ใช้เพื่อศึกษาวิจัย ใช้เพื่อส่วนตัว ใช้โดยเจ้าพนักงานเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี คัดลอก ทำสำเนา บางส่วนของงานไปใช้ ในการทำวิทยานิพนธ์ (ถ้านำข้อความมาใช้แล้วก็ต้องมีการอ้างอิงที่เหมาะสมด้วย) นำภาพยนตร์ที่หมดอายุการคุ้มครองไปฉายต่อ ไม่ถือว่าละเมิดงานอื่น ๆ ที่อยู่ในนั้น ถ่ายภาพแล้วติดงานอันมีลิขสิทธิ์อื่นมา ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานอื่น มีข้อยกเว้นของ ISP กรณีที่มีบุคคลไปโพสเนื้อหาอันละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้า ISP ไม่ได้เป็นคนริเริ่มหรือไม่มีส่วนในการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ ISP ไม่ต้องรับผิดในการละเมิดดังกล่าว ทำซ้ำดัดแปลงเพื่อประโยชน์แก่คนพิการ ถ้าไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ส่วนกรณีตัวอย่างที่เป็นหัวข้อการพูดคุยในเวทีวันนี้
- กรณีร้านอาหารเปิดเพลงอันถูกต้องตามลิขสิทธิ์ในร้าน ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะถือเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
- กรณีเปิด YouTube ในร้านอาหาร ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงด้วย เช่น ถ้าเป็นอาคารสำนักงานที่มีคนเข้าออกมาก การเปิด YouTube อาจถือเป็นการเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ แม้ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่ถ้าการเปิด YouTube ในร้านอาหาร เป็นการเปิดฟังเพื่อความบันเทิงส่วนตัว โดยฟังเองคนเดียว แม้มีลูกค้าได้ยินบ้างไม่ถือว่ามีความผิด
- กรณีแชร์ลิงก์ผ่านทาง Facebook
- ต้องพิจารณาว่า Facebook นั้นตั้งค่าเป็นสาธารณะให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาดูได้หรือไม่ นอกจากนี้ถึงแม้ว่าตั้งค่าให้แค่เพื่อนดูได้ แต่ต้องพิจาณาถึงจำนวนเพื่อนด้วยว่ามีจำนวนมากหรือไม่
- ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ด้วยว่าเป็นการแชร์เพื่ออะไร
บนเวทียังได้มีการหยิบยกเรื่อง
Notice and Takedown ซึ่งเป็นมาตรการ/กลไกในการแจ้งให้ทราบและเอาออก เพื่อให้ ISP นำสิ่งที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากอินเทอร์เน็ต หรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อทำให้สาธารณชนไม่สามารถเข้าถึงสิ่งดังกล่าวได้ ซึ่งมีการแสดงความเป็นห่วงถึงขั้นตอนการดำเนินการ Takedown ของประเทศไทยนั้นว่าอาจไม่ทันการณ์และอาจเกิดความเสียหายแก่เจ้าของงานลิขสิทธิ์ เนื่องจากต้องรอหมายศาลก่อนถึงจะทำการ Takedown ได้ แตกต่างจากต่างประเทศที่เมื่อพบการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ISP สามารถ Takedown ได้เลยโดยไม่ต้องรอหมายศาล
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วม Open Forum โดยวิทยากรได้ฝากให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ พึงระวังหรือตระหนักในการกดไลค์ กดแชร์ ซึ่งอาจสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ใช้งานอาจไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น ควรคลิกปฎิเสธไม่ให้ข้อมูลที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อออกไป หรือการโพสต์เพลงหรือภาพยนตร์ สามารถเขียนข้อความกำหนดห้ามมีการแชร์ต่อได้ หรือการตั้งค่า Disable Notification ใน Social Media เพื่อป้องกันการแชร์ Activity ซึ่งอาจสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัวก็ได้ เป็นต้น
นอกจากมาตรการทางกฎหมายในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว อีกเครื่องมือที่ควรคำนึงถึงและนำมาใช้งานคือ
“หลักการเป็นบรรษัทธรรมาภิบาล (Good Governance)” เมื่อบริษัทได้ประกาศนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว การโฆษณาบนเว็บไซต์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เจ้าของบริษัท เจ้าของสินค้าก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย โดยการไม่สนับสนุนต่อการกระทำความผิดกฎหมาย รวมทั้งผิดจริยธรรม ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่คิดถึงแต่จำนวนยอดเข้าชมของลูกค้าที่เห็นโฆษณาของตน โดยไม่สนใจว่า ไปโฆษณาสินค้าของตนในเว็บที่มีเนื้อหาที่ล่อแหลม (High Risks Advertisement) ไม่เหมาะสม เพื่อดึงดูดจำนวนคนดูเว็บ (Eyeball) มาก ๆ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงต้องกำชับกับเอเยนซีในการทำกลยุทธ์โฆษณาอย่างมีจริยธรรมด้วย
ในการนี้
คุณวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ ETDA ได้อัปเดตความคืบหน้าการทำงานของ ICANN องค์กรที่ดูแลอินเทอร์เน็ตโลกว่าแนวโน้มของโครงสร้างการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตของโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป อันจะเกิดเป็นเฟรมเวิร์กใหม่ ที่อาจต้องอาศัยหลัก Community Base เป็นหนึ่งในมาตรการรองรับการดำเนินงาน
ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2558 จะจัดในหัวข้อ “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์กับความร่วมมือระหว่างประเทศ” ได้ทาง https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th