e-Standard
- 09 ก.ย. 56
-
1267
-
งานสัมมนาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วม AEC2015 “มาตรฐาน E-TRANSACTIONS กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน”
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. เตรียมพร้อม โครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน ระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน(Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) รุกจัดงานสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า – ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบก่อนการเปิด AEC ในปี พ.ศ.2558
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ National Single Window (Business Model) โดยรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลที่กรมศุลกากรให้นำมาประยุกต์ใช้กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW ได้นำมาจากข้อเสนอแนะของ UN/CEFACT จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ Codes for Types of Cargo, Packages and Packaging Materials Code for Modes of Transport, UN/LOCODE-Code for Ports and Other Locations, Country Code, Measurement Unit, Currencies Code, Incoterms ซึ่งในอนาคต ถ้าเราสามารถผลักดันได้สำเร็จ ระบบ NSW สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งหมด ก็จะส่งผลดีต่อประเทศอย่างมาก ส่งผลให้กระบวนการนำเข้า ส่งออกสินค้ามีปริมาณมากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มความคล่องตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้ และเมื่อประเทศเรามีการเชื่อมโยงกับ NSW ทั้งหมดแล้ว เมื่อเปิด AEC2015 เราก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่ ASEN Single Window ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมด เพื่อรองรับระบบ National Single Window เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาสู่ระบบ ASEAN Single Window และสพธอ. ยังเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งสพธอ. นำมาจัดทำเป็นข้อมูลเสนอแนะที่เกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
ดังนั้นหากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ สิ่งที่คาดว่าจะส่งผลต่อการนำเข้า-ส่งออก คือ การขอขึ้นทะเบียนการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลและธุรกิจบริการรองรับการนำเข้า ส่งออก นำผ่านและโลจิสติกส์ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น, มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย, มีการกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล (NSW) แก่หน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบธุรกิจบริการให้มีการบริหารจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน, มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางตัวอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างเอกสาร การรับรองเอกสาร การลงลายมือชื่อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการเก็บรักษาเอกสาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานนำร่อง ที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการนำเข้าส่งออก ได้มีการทดลองดำเนินการผ่านระบบ National Single Window ซึ่งมีหน่วยงานนำร่องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมการค้าต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพาณิชย์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
กล่าวโดยสรุปอุปสรรค คือ ความไม่มั่นใจ และความไม่พร้อมในการเปลี่ยนแปลงระบบ ความไม่มั่นใจในการออกใบอนุญาต-ใบรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ หรือรูปแบบของแบบฟอร์มกลาง (Single Form) ที่ใช้ระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศจะสามารถใช้ทดแทนเอกสารเดิมที่มีอยู่ได้หรือไม่ ส่วนในแง่ของความไม่พร้อม คือความไม่พร้อมในส่วนของการแก้กฎหมายภายในเพื่อรองรับการออกใบอนุญาต-ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า-ส่งออกผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีความไม่พร้อมในแง่ของงบประมาณในการจัดทำระบบ เช่น ระบบ Digital Signature, ด้านบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
สำหรับระบบ National Single Window (NSW) เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ โดยเป็นระบบบริการแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการ และการลดรูปเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก้ผู้ใช้บริการได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ เป็นต้น
ระบบ NSW จะมีความสำคัญต่อกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ในแง่ของการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัยมากขึ้นภายใต้การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานในรูปแบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยผู้ใช้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ สามารถติดตามผลในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า-ส่งออก และการอนุมัติต่างๆ ผ่านทางอิเทอร์เน็ตได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับ สพธอ. มีหน้าที่ในการควบคุมดูแล Thailand NRCA หรือ Thailand National Root Certificate Authority ซึ่งเป็นระบบ National Root ที่คอยควบคุมดูแล Subordinate CA ซึ่งก็คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออก Certificate ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ให้นำไปใช้ในกระบวนต่างๆ ได้ เช่น การเงิน(e-banking), การนำเข้า-ส่งออก (National Single Window) เช่น การออกใบรับรองสำหรับรับรองซอฟต์แวร์ (Code Singing Certificate) เป็นต้น โดยประเทศไทยมี Subordinate CA หลักๆ คือ CAT, TOT, Thailand Digital ID (TDID) และระบบ NRCA จะช่วยทำให้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับรองตัวบุคคล, นิติบุคคล, หรือเซิร์ฟเวอร์ให้เชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบได้
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางสพธอ. ได้จัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเข้าร่วมAEC 2015 “มาตรฐาน e-Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน อย่างคับคั่ง ณ โรงแรมเดอะสุโกศล
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย
รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม