Digital Law
- 17 ก.พ. 64
-
2078
-
ETDA ชวน แพลตฟอร์มดิจิทัล-หน่วยงานของรัฐ แลกเปลี่ยนความเห็น แชร์ปัญหา ข้อเสนอแนะ ร่วมกำหนดทิศทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม สร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ใช้บริการ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดประชุม “รับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Digital Service Platform” เพื่อให้กลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของ Digital Service ร่วมระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทางการกำกับดูแลและส่งเสริมผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Focus Group) ทั้งทางออนไลน์ และออนไซต์ ณ ห้องประชุม FEGO ชั้น 15 ETDA เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ได้กระตุ้นให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์ม e-Commerce, Sharing Economy, Streaming ได้รับความนิยมและมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้น อีกทั้งแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการ ผู้ค้ารายย่อย ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) การทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ให้มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้บริการ ภายใต้มาตรฐานหรือแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม เป็นอีกภารกิจสำคัญที่ ETDA ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ต้องเร่งขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษา Business Model ของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของภาคเอกชนเหล่านี้ว่า ปัจจุบันให้บริการกันอย่างไร รวมถึงศึกษาแนวทางในการกำกับดูแลของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น
ETDA จึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Focus Group) ครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รับทราบปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการให้บริการ ซึ่งสามารถนำไปกำหนดแนวทางในการดูแลและส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ก่อให้เกิดภาระอันเกินสมควรกับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และส่งผลต่อผู้บริโภค โดยเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใน 3 กลุ่มหลัก ทั้ง e-Commerce, Sharing economy และ Streaming ได้มาร่วมสะท้อนปัญหา (Pain Points) ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการหรือข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ความเสี่ยงที่เกิดจากการให้บริการในมิติต่าง ๆ รวมถึงความต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากภาครัฐและ ETDA
นอกจากนี้ยังได้เชิญหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหรือเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล แชร์ประสบการณ์ว่า แต่ละหน่วยงานมีความเกี่ยวข้องในมิติใดบ้าง ทั้งมิติการส่งเสริม การกำกับดูแล และในธุรกิจเหล่านั้นมีความเสี่ยงอย่างไร มีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องใด มีบริบทใดที่ยังคงมีความเสี่ยงในขณะที่ กฎหมายยังครอบคลุมไปไม่ถึงอย่างเต็มที่
ข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นนี้ จะนำไปวิเคราะห์ เพื่อศึกษาดูว่า มีผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลใดบ้างที่มีความพร้อมในการกำกับดูแลตัวเอง (Self-regulation) หรือมีกลุ่มใดบ้างที่มีผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะต้องแจ้งข้อมูล ขึ้นทะเบียน หรือต้องขออนุญาต กับ ETDA ตามที่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 32 ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ จะมีการจัดทำแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกลุ่มเดิมที่ได้เชิญมาร่วมให้ข้อคิดเห็นในครั้งแรก ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 เพื่อให้ได้แนวทางในการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม คธอ. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย ในลำดับถัดไป
“สำหรับ ETDA แล้ว มุ่งหวังว่า การกำหนดแนวทางการกำกับดูแลจะต้องเป็นไปในลักษณะ Win-win Model ซึ่ง Stakeholders ทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการกำหนดกฎเกณฑ์แนวทางดังกล่าว เพื่อร่วมกันสร้าง Ecosystem ของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไทย ให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงนานาประเทศ จนกลายเป็นศูนย์กลางของเอเชียในอนาคต” ดร.ชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) การทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ลดความเสี่ยง ให้ผู้ใช้บริการ