Foresight
- 01 ต.ค. 63
-
2427
-
ETDA เผยแพร่แผน Go Digital with ETDA กับเป้าภายในปี 65
แผนปฏิบัติการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับทบทวนครั้งที่ 2) ภายใต้แนวคิด Go Digital with ETDA นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกำกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีกระบวนการทบทวนแผนขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2561-2565 ของ ETDA เป็นประจำทุกปี โดยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างบูรณาการ เช่น นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความสอดคล้องกับ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563-2565 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำโดย ETDA
ทั้งนี้ ในกระบวนการวิเคราะห์และทบทวนแผนฯ ETDA ยังได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อันทำให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กลายมาเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นกับทุกภาคส่วน ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เช่น สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ดังนั้น การทบทวนแผนปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ ETDA จึงมุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เน้นการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก เพื่อทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมต่างประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การทบทวนแผนฯ ในครั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่า ETDA จะมีแผนปฏิบัติงานที่มีความชัดเจน ทันสมัย สามารถบรรลุผลสำเร็จบทบาทหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับหลักการสำคัญในการทบทวนแผนขับเคลื่อน ETDA ได้พิจารณาข้อมูลหลักในการทบทวนจากอำนาจหน้าที่ที่สำคัญที่กฎหมาย 2 ฉบับกำหนดไว้ คือ
1. พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 และ
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมกันนั้น ยังได้นำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการกำกับ ETDA และข้อสั่งการต่าง ๆ ในระดับนโยบายของประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) มาร่วมประกอบการทบทวนปรับปรุงแผนการดำเนินงานในปี 2564 – 2565 ตามช่วงระยะเวลาของแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับของ ETDA ร่วมกันวิเคราะห์และกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจ ETDA ในอนาคตให้สามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญที่กำหนดไว้ และนำมาสู่ แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ของ ETDA (ฉบับทบทวนครั้งที่ 2) นี้
วิสัยทัศน์และพันธกิจ Go Digital with ETDA
ในยุคที่ “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” กำลังเติบโตและขยายผลไปสู่วงกว้างอย่างทวีคูณ มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งองค์กรเองก็ต้องปรับตัวเพื่อขยายขอบเขตของภารกิจและอำนาจหน้าที่ ให้สามารถรองรับการเติบโตและความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นไปพร้อมกัน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น การพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรก็ยังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นระบบ มีข้อมูลและหลักการที่เหมาะสมรองรับ อีกทั้งยังต้องมีความครอบคลุมและมีทิศทางที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในมิติอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
ดังนั้น แผนปฏิบัติการฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 นี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรได้นำไปใช้ในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในทุกมิติ
ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งหวังให้ ETDA
“เป็นองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับสถานการณ์โลก”
ด้วยการกำหนด พันธกิจ 3 ประการ คือ
(1) กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(3) ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างบูรณาการและเชื่อมโยง
ทั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดเป้าประสงค์ (Ultimate Goal) ผ่านการดำเนินงานใน 3 ภารกิจหลัก และ 3 ภารกิจรอง
3 หลัก Go Digital with ETDA
1. การจัดทำ Digital Standard Landscape ของ Digital Services (หลักเกณฑ์กำกับดูแลตาม มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ) เพื่อทำให้เกิดแผนภาพของธุรกิจบริการดิจิทัลสำคัญและมาตรฐานที่จำเป็นของแต่ละธุรกิจบริการที่ควรต้องมีเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนชี้ให้เห็นการพัฒนา Digital Service Infrastructure (Trust and Security Services) ที่เป็น Common Factor เพื่อสร้างความพร้อมและรองรับการต่อยอดได้กับทุกระบบการบริการอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-Signature, Digital ID, e-Timestamping, e-Document
2. การทำให้เกิดภาพ Digital ID Ecosystem และมี Identity Stakeholders พร้อมทำให้เกิดการใช้งาน Digital ID ในวงกว้าง: การเปิดให้มีสนามทดสอบนวัตกรรมและบริการดิจิทัล ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับภาคธุรกิจและภาครัฐ (Sandbox) เช่น การนำไปใช้กับการลงทะเบียนผู้ตกงาน พร้อมดำเนินการขยายผลในปีงบประมาณเพื่อให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง ด้วยการผลักดันให้เกิดการใช้งาน Digital ID โดยเฉพาะใน sector สำคัญและมีผลกระทบระดับสูงต่อประเทศ ภายใต้การดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎเกณฑ์ของ ETDA อย่างเหมาะสม
3. การทำให้หน่วยงานของรัฐมีระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (Government e-Service) ผ่านการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐมีระบบ e-Service ที่สามารถใช้งานได้จริงด้วยการปรับปรุงกระบวนการในรูปแบบ Digitization ตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
3 รอง Go Digital with ETDA (งานที่เป็นพื้นฐานสำคัญ)
1. ส่งเสริมการเป็นพลเมืองผู้รอบรู้ (Informed Digital Citizens) พัฒนาองค์ความรู้และสร้างความตระหนักในด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับคนไทย ด้วยการสร้างกรอบการพัฒนาองค์ความรู้และรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐด้านนโยบายและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนพัฒนากำลังคน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างสร้างสรรค์
2. การมองภาพอนาคต (Foresight) ด้วยการมีข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดพร้อมการวิจัยเชิงนโยบายและศึกษาประเด็นสำคัญต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย (ลดข้อจำกัด, ข้อเสียเปรียบทางการค้า, เพิ่มความเชื่อมั่น, ยกระดับรายได้) ผ่านการจัดเก็บและติดตามข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องในระดับสากล และการพัฒนาตัวชี้วัดด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่สามารถสะท้อนระดับผลกระทบจากการพัฒนาธุรกรรมฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมด้วยการวิเคราะห์และศึกษาวิจัยเชิงนโยบายเพื่อฉายภาพคุณค่าและสร้างภาพอนาคตที่รองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน
3. การใช้ประโยชน์ข้อมูล (Data Utilization) ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เกิดประสิทธิภาพ ผ่านการยกระดับให้ ETDA มีการบริหารจัดการองค์กรภายใต้การมีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนผลักดันให้ ETDA เป็นองค์กรต้นแบบของการทำ Digital Transformation ด้วยการใช้งานระบบ e-Office ภายใต้มาตรฐานและการกำกับดูแลอย่างเต็มรูปแบบ (สร้าง | Sign + ID | ส่ง | เก็บ | ทำลาย)
กลยุทธ์สู่เป้าหมาย Go Digital with ETDA
ทั้งนี้ ได้กำหนดกลยุทธ์ที่เป็นเสมือนกลวิธีการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายไว้ 4 ประเด็น คือ
กลยุทธ์ที่ 1 สร้างการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เท่าทันกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของโลก
กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
กลยุทธ์ที่ 3 เป็นศูนย์กลางข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศ รวมถึงให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนากระบวนงานภายใน และบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรและเป็นหน่วยงานต้นแบบด้านดิจิทัล
ดาวน์โหลด
แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ของ ETDA (ฉบับทบทวนครั้งที่ 2)