Foresight
- 04 เม.ย. 67
-
1145
-
4 องค์กรชั้นนำเปิดตัวงานวิจัย “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033)”
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales LAB by MQDC) เผยผลการวิจัย “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033)” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะ ประเด็นปัญหาสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบัน สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ภาพอนาคต และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพและสุขภาวะของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพและสุขภาวะ ส่งเสริมการพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งในมิติสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย นโยบาย และค่านิยม รวมทั้งเพื่อออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ต่อการดูแลสุขภาพและสุขภาวะของสังคมไทย
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การทำให้ประเทศได้เห็นถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอนาคตการทำธุรกรรมทางออนไลน์รวมถึงชีวิตดิจิทัล ผ่านการจัดทำฉากทัศน์ภาพอนาคต หรือที่เรียกว่า Foresight ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันแสกนและจับสัญญานทิศทางที่เกิดขึ้นและร่วมออกแบบภาพอนาคตไปพร้อมๆ กัน เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ ETDA โดย ศูนย์คาดการณ์อนาคต หรือ ETDA Foresight Center ได้เดินหน้าดำเนินงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งภาครัฐ เอกชน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศได้เห็นถึงภาพความเปลี่ยนแปลงก่อนที่อนาคตจะมาถึง สู่การกำหนดยุทธศาสตร์ ตลอดนโยบายการขับเคลื่อนประเทศในด้านที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีนี้ ETDA Foresight Center มุ่งดำเนินงานในการคาดการณ์อนาคตเพื่อเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้การยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทย ที่ไม่จำกัดแค่เรื่องของ Digital Adoption and Transformation เท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของการใช้งานที่ย้อนกลับมาสร้างผลกระทบในอนาคต หรือที่เราเรียกว่า Regenerative digitalization ดังนั้น ความร่วมมือในทำ Foresight ระหว่าง ETDA และ 3 หน่วยงาน ถือเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ และเป็นการสานต่อการดำเนินงานจากปีที่แล้วที่เราได้มีการฉายภาพอนาคตสุขภาพจิตของคนไทย สู่การร่วมกันศึกษา “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033)” ในปีนี้ เพื่อร่วมศึกษาและมองหาสัญญานแห่งอนาคต ว่ามีมิติไหนบ้างที่ต้องจับตาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดูแลสุขภาพของคน ไทยแบบองค์รวมอย่างไรให้มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และสร้างผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลย จากการศึกษา ETDA พบ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็นแรก Turning Data Privacy Principles into Action ที่การส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลจะเป็นไปโดยไร้รอยต่อ สถานพยาบาลสามารถเชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่เจ้าของข้อมูลเองจะมีความรู้และวิจารณญาณในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองมากขึ้น และประเด็นที่สอง Seamless Integration of AI ที่การบูรณาการประยุกต์ใช้ AI ทางการแพทย์จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐาน ถูกพัฒนาจนเกิดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพ จากประเด็นข้างต้น จะเห็นว่า สิ่งที่ ETDA หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งดำเนินการไม่เพียงการวางรากฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ Data Privacy ให้กับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่เราต้องเร่งผลักดันให้การประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ภายใต้แนวทางปฏิบัติการใช้งานที่เหมาะสมกับระบบสาธารสุขของประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการสร้างมาตรฐานของข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่เข้ามาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความลอดภัยของบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตและความเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยหลากหลายประการ ซึ่งข้อมูลจากคลังข้อมูลทางการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช ซึ่งพบว่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 จากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช 1.3 ล้านคน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านคน โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่พบได้ในทุกช่วงวัย เช่นเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียดและความวิตกกังวล อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำร้ายตัวเองอีกด้วย ส่วนปัญหาสุขภาพจิตในวัยอื่น เช่น ผู้สูงอายุ ปัจจุบันพบว่า กว่า 8 แสนคนมีโรคความจำเสื่อมและในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตร่วมด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนไทยมีสุขภาวะทางกายและใจที่สมบูรณ์ นั่นหมายถึงจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการเจ็บป่วยต้องลดลง ในขณะที่ผู้ที่เจ็บป่วยก็สามารถรู้เท่าทันสัญญาณเตือนต่างๆ ด้วยตนเองและเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่นโยบายที่จะทำให้การดูแลนั้นสมบูรณ์ทั้งกายและใจแบบองค์รวมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากนโยบายไม่ได้มุ่งเน้นที่การส่งเสริมและการดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเรื่องของสุขภาพกายและใจ ตั้งแต่ในระดับบุคคลครอบครัวก่อนจะนำไปสู่สังคมและชุมชน ที่สำคัญที่สุดคือทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นที่จะทุ่มเทให้ความสำคัญในทุกด้านของสุขภาพจิต และช่วยกันร่วมกันพัฒนา เพื่อให้เรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคนต่อไป
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สุขภาพและสุขภาวะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒาของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต การมีระบบสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” เราให้การส่งเสริมนวัตกรรมทางด้านการแพทย์และสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย ที่คณะวิจัยจากทั้งสี่หน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนา สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นขับเคลื่อนที่กำลังสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพและสุขภาวะในสังคมไทย
ภายใต้ประเด็นขับเคลื่อนสู่ภาพอนาคตทั้ง 6 ประเด็น ได้แก่
1) การสร้างการตื่นรู้ด้านสุขภาพ (Health Actualization) ให้กับสังคมไทย
2) การพัฒนาระบบสาธารณสุขเชิงรุก (Proactive Public Health System) อย่างเข้มแข็ง
3) การเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการณ์สาธารณสุข (Public Health Crises and Response)
4) การลงทุนในความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare Advancement)
5) การส่งเสริมให้เกิดการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาพและสุขภาวะ (Healthy Space and Wellness Design) และ
6) การส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะรายบุคคล (Personalized Healthcare) นวัตกรรมจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างมาก และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับระบบสุขภาพและสุขภาวะของสังคมไทยให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทยที่นำเสนอบริการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพและสุขภาวะหลากหลายรูปแบบ เช่น ระบบบริหารจัดการข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง (Advanced medical material and device) รวมถึงผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ เครื่องดื่มและอาหารเสริมสุขภาพที่มีงานวิจัยรองรับ (Supplement food and drink) แพลตฟอร์มให้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism platform) แพลตฟอร์มส่งเสริมสุขภาพจิตออนไลน์ในลักษณะ Software-as-a-Service (SaaS Platform) เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสของนวัตกรรมไทยที่จะสร้างการเติบโตและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ
NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมไทย เรามีกลไกสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมทางด้านการแพทย์และสุขภาพ ทั้งในส่วนของเงินทุนและโอกาสในการขยายผลการใช้งานผลงานนวัตกรรม รวมไปถึงการส่งเสริมเชิงระบบอย่างการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์ ที่เป็นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ของไทยผ่านการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน
งานวิจัย “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033)” ที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นชุดข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญสำหรับกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและสุขภาวะได้เป็นอย่างดี และช่วยสะท้อนภาพอนาคตของการพัฒนาระบบสุขภาพของสังคมไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales LAB by MQDC) กล่าวว่า
“คณะผู้วิจัยได้บูรณาการแนวคิดนิเวศวิทยาสังคมของพฤติกรรมทางสุขภาพ (Social ecology of health behavior) และแนวคิดเชิงระบบนิเวศด้านสุขภาพและสุขภาวะ (Health and wellness ecosystem) เพื่อสร้างกรอบแนวคิดการวิจัยในการกำหนดแนวทางการศึกษา และได้พัฒนาภาพอนาคต ออกมาเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่
1. สิ้นแสงสาธารณสุข (Dusk of Healthcare) : ระบบสุขภาพเปราะบางย่ำแย่ ขาดแคลนทรัพยากร ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้ ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เกิดช่องว่างของความต้องการดูแลสุขภาพขนาดใหญ่
2. ระบบสุขภาพทั่วหล้า (Public Health Meridian) : ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติและภัยคุกคามด้านสาธารณสุข รวมถึงส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาค
3. ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง (MedTech Twilight) : ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงช่วยยกระดับการบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความจำเพาะต่อผู้รับบริการแต่ละบุคคล แต่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัยของข้อมูล และจริยธรรมจะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ
4. รุ่งอรุณสุขภาวะ (Dawn of Wellness) : ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบพัฒนาเมืองเพื่อให้เกิดเมืองแห่งสุขภาวะเป็นโอกาสการเติบโตที่สำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการในหลายธุรกิจที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
5. สุขภาพสุขสมบูรณ์ (Zenith of Self-Care) : เกิดการกระจายศูนย์กลางของระบบสุขภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถานบริการสุขภาพและสุขภาวะที่ขับเคลื่อนร่วมกันโดยภาครัฐและภาคเอกชน เน้นการให้บริการที่สะดวกสบาย ยืดหยุ่น และตอบสนองตามความต้องการของแต่ละบุคคล
จากการวิเคราะห์ภาพอนาคตทั้งหมด ศูนย์วิจัย FutureTales LAB และพันธมิตร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการทำงานของทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ภาพอนาคตที่เลวร้ายเกิดขึ้น และส่งเสริมให้ภาพอนาคตที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะประชาชนได้เกิดขึ้นจริง โดยจะมุ่งมั่นเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ออกสู่สังคมและดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีต่อทุกสิ่งมีชีวิตต่อไป”
ท่านผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดผลงานวิจัยฯ ได้
ที่นี่