ETDA LOCAL DIGITAL
- 28 ส.ค. 66
-
571
-
ETDA เปิด 3 แผนธุรกิจเด่นไอเดีย Gen Z เวที “Boosting Craft Idea” ยกระดับธุรกิจชุมชนด้วยดิจิทัลคอมเมิร์ซ เพิ่มการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
จากการรวมตัวของกลุ่มของคนรุ่นใหม่ Gen Z ตัวแทนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ กับการลงพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย แลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกับชุมชน ออกแบบแผนธุรกิจออนไลน์ที่ “ใช่” ให้กับชุมชน เพื่อขึ้นสู่เวทีประลองสุดยอดไอเดียโมเดลแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย เพื่อสังคม” จัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย ได้แก่ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) และคณะบริหารธุรกิจเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาค ล่าสุดก็ได้ผู้ชนะ 3 สุดยอดแผนธุรกิจที่มีศักยภาพในการประยุกต์ใช้ Digital Commerce มาต่อยอดยกระดับธุรกิจชุมชน (Local Business) สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และเพิ่มการสร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ได้ผ่านกระบวนการคิดและนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ที่ครอบคลุมทั้งในด้าน Business Plan ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความเป็นไปได้ในการนำแผนไปต่อยอดการดำเนินงานได้จริง การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) การพัฒนาและต่อยอดการสร้างแบรนด์ (Branding) รวมไปถึงในมุมที่สัมพันธ์กับแนวคิดของ Social Enterprise (คุณค่าทางสังคม)
ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมตัวตึง spu จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เจ้าของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจร ของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด, รองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ ทีม The Winner จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาแฟเขาวังชิง” ภายใต้แนวคิด “จากต้นสู่แก้ว” และรองชนะเลิศอันดับสองคือ ทีม TTU Lanna จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของแผน TTU Umbrella ร่มล้านนาผ้ามัดย้อมจากใบชา ที่เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนชาและสมุนไพรบ้านเด่นหลวง และผสานกับการผลิตร่มจากวิสาหกิจชุมชนโคมลอยบ้านหนองโค้ง จ.เชียงใหม่
เราจะพาไปล้วงลึกไอเดียทั้ง 3 ทีม ที่ทุ่มสุดตัวกับการลงพื้นที่จริง ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อมองหาจุดแข็งมาต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชน เติมทักษะด้านดิจิทัล ให้ก้าวทันทุกความเปลี่ยนแปลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยม เพื่อใช้เป็นอีกเครื่องมือการตลาด ประชาสัมพันธ์ และเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย
ตัวตึง SPU เพิ่มมูลค่าท่องเที่ยวเมืองรอง กับ “ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว” แบบครบวงจร
ทีมสามหนุ่ม “ตัวตึง SPU” ประกอบด้วย นายบุ๊ชริน ขำวิลัย, นายอมลวัฒน์ ฤทธิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และนายพิชญุตม์ กุลธนาเรืองกิตติ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาบริหารและการจัดการสมัยใหม่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เอาชนะใจกรรมการด้วยคะแนนอันดับ 1 จากสุดยอดโมเดลแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน “แผนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว บ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด” ด้วยวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจในการนำไอเดียที่จะช่วยปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดแห่งใหม่ของทาง จ.ตราด สู่การเพิ่มมูลค่าเมืองท่องเที่ยวเมืองรองแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Y, Gen Z และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จุดเริ่มต้นที่เลือก “ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว” จ.ตราด ซึ่งอยู่ห่างไกลจาก จ.ชลบุรี อันเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่เรียนอยู่ มาเป็นชุมชนในการทำแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน เนื่องจากระยะเวลาเริ่มต้นของโครงการ ตรงกับช่วงปิดเทอม หนึ่งในสมาชิกของทีมจึงชวนไปเที่ยวบ้านญาติที่ จ.ตราด พร้อมกับถือโอกาสลงพื้นที่สำรวจชุมชนน่าสนใจ เพื่อจัดเก็บข้อมูลประกอบการนำมาออกแบบแผนธุรกิจออนไลน์เพื่อยกระดับชุมชน ซึ่งเป็นโจทย์ของเวทีการแข่งขัน “Boosting Craft Idea” จนนำมาสู่การออกแบบแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และครบวงจร ตั้งแต่บริการการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกโดยใช้วัตถุดิบภายในชุมชน พัฒนาช่องทางการตลาด และการประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ใช้ประโยชน์จากพลังสื่อโซเชียล 4 แพลตฟอร์มยอดนิยม ได้แก่ TikTok อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และ LINE Official Account (LINE OA) เพื่อช่วยให้ชุมชนดำเนินกิจการท่องเที่ยวชุมชนได้ง่ายยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ที่หลากหลายให้กับชุมชน
“เงื่อนไขสำคัญที่จะมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ และความยั่งยืนของแผนธุรกิจชุมชน ก็คือ ชุมชนต้องให้ความร่วมมือกับเราในระดับหนึ่ง มีพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ที่พร้อมนำมาพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชนกับเรา และเปิดกว้างแบ่งปันข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการออกแบบแผนธุรกิจ ซึ่งในส่วนของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว ตรงกับเงื่อนไข อีกทั้งมีจุดแข็งหลายด้านที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนได้จริง”
จุดแข็งของบ้านน้ำเชี่ยว มีทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบ พร้อมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลาย เช่น มีชื่อเสียงในการทำงอบ เครื่องประดับจากหอยคราฟท์ ผลผลิตการเกษตรที่นำมาแปรรูปเป็นทั้งอาหารและของหวาน และอาหารทะเลแห้ง เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แก่ กิจกรรมปลูกป่า จับหอย ล่องเรือ เป็นต้น ซึ่งชุมชนแห่งนี้มีศักยภาพต่อยอด มีรูปแบบการเล่าเรื่องใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสขยายฐานสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Gen Y, Gen Z และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบสร้างประสบการณ์ ผ่านการร่วมทำกิจกรรมในทริป 2 วัน 1 คืน ได้แก่ การร่วมสานงอบ เยี่ยมชมกิจกรรมธนาคารปู ร่วมปลูกป่า ดูนกเหยี่ยว ล่องเรือดูอุโมงค์ต้นไม้ ปล่อยปลา ปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศ รับประทานอาหารทะเลมีชื่อภาษาท้องถิ่นคือ จู๋ทะเล โดยมีแม่ครัวปรุงให้รับประทานบนเรือ เป็นต้น จบทริปแล้ว ยังสามารถเดินท่องเที่ยวต่อในชุมชน ถ่ายภาพมุมสวย ๆ เช่น มัสยิด สะพานวัดใจ วัดจีนอายุเก่าแก่ และตลาดปลาชาวประมง ก่อนเข้าที่พักโฮมสเตย์ ที่มีจุดเด่นเรื่องความเป็นมิตร ดูแลผู้เข้าพักเหมือนคนในครอบครัว สุดท้ายก่อนกลับสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่อได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อจังหวัดตราด เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เป็นต้น
แผนธุรกิจนี้ยังให้ความสำคัญเร่งด่วนกับภารกิจ “กำจัดจุดอ่อน” ของชุมชนในด้านทักษะดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย มีการเข้าไปพัฒนาทักษะด้านนี้ เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ขั้นพื้นฐานสู่การยกระดับเพิ่มขึ้น รวมถึงให้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริงกับทั้ง 4 ช่องทางโซเชียลที่พัฒนาเริ่มต้นไว้ให้ ได้แก่ เพจเฟซบุ๊ก LINE OA อินสตาแกรม และ TikTok เป็นช่องทางติดต่อลูกค้า รับจองทริป/ เลือกกิจกรรมที่สนใจ จนถึงขั้นตอนชำระเงิน โดยการบริหารจัดการท่องเที่ยวที่นี่จะดำเนินการโดย “วิสาหกิจชุมชนบ้านนำเชี่ยว” จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับท่องเที่ยวชุมชนอย่างแท้จริง อ่านจบแล้วใครสนใจติดต่อมาได้ก่อนที่ เฟซบุ๊กวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด และ LINE @248gcivt
ทีม The Winner เตรียมดัน “กาแฟเขาวังชิง” สำหรับตัวจริงด้านกาแฟ
การเลือกพื้นที่เพื่อช่วยออกแบบแผนธุรกิจให้กับธุรกิจชุมชนตามโจทย์ของเวทีนี้ ที่มุ่งเน้นยกระดับธุรกิจชุมชน ด้วยการตลาดดิจิทัล เพิ่มการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน สมาชิกทีม The Winner ได้แก่ นายสันติ หมัดหมัน, น.ส.
ศุภวรรณ บุญรอด และ น.ส. ปริยากร บุญส่ง นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นถึงศักยภาพของ “วิสาหกิจชุมชนกาแฟเขาวังชิง” อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ที่มีต้นทุนแข็งแกร่งทั้งเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน มีเรื่องราวของสินค้าที่น่าสนใจ ที่จะต่อยอดเป็นโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาแฟเขาวังชิง” ภายใต้แนวคิด “จากต้น สู่แก้ว” นำกระบวนการวิจัยและพัฒนา เมล็ดกาแฟของชุมชนให้คุณภาพสูงขึ้น สร้างให้เกษตรกรเป็นนักชิมกาแฟ นักพัฒนาได้ด้วยตัวเอง การส่งเสริมการผลิตกาแฟ วางแผนการตลาดออนไลน์อย่างครบวงจร สามารถสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จุดเริ่มต้นของการปลูกกาแฟ ที่พื้นที่เขาวังชิง ก็คือ ปลูกร่วมกับต้นยาง เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเมื่อปี 2562 แต่ด้วยองค์ความรู้ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เข้าไปสร้างไว้ให้กับเกษตรกร ทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ ต่อมาปี 2564 ได้รับการสนับสนุนเครื่องสีและเครื่องคั่วกาแฟที่ได้มาตรฐานจากงานวิจัยของอาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงเป็นจุดเริ่มต้นในขายกาแฟ เชิงการค้าอย่างจริงจัง
“ที่นี่มีองค์ความรู้ที่โดดเด่นด้านการผลิต (Production) มีข้อมูลทางวิชาการจากงานวิจัยซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อยู่แล้ว เราจึงไปต่อยอดด้าน Marketing ซึ่งตรงกับโจทย์โครงการ Craft Idea ที่จะต่อยอดได้ในระยะเวลาอันสั้น ชุมชนเดินมาครึ่งทางแล้ว เราไปช่วยต่อยอดให้อีกครึ่งทางที่เหลือ ใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่าง ความหลากหลายของรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จะทำตลาด โดยผู้บริโภคสามารถเลือกกาแฟ ได้ตามความต้องการทั้งสายพันธุ์ แหล่งผลิต และระดับการคั่ว เพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดกาแฟจากแหล่งผลิตที่เขาวังชิง หนีการแข่งขันสงครามราคา”
โดยจะใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกาแฟเขาวังชิง” และ @khaowangchingcoffee เป็นเครื่องมือเร่งสร้างความรู้จักแบรนด์ “กาแฟเขาวังชิง” ในวงกว้าง ตอกย้ำสโลแกน “เขาวังชิง ตัวจริงด้านกาแฟ” ผ่านทุกช่องทาง เพิ่มยอดขาย เพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และการตลาด เริ่มต้นจากเฟซบุ๊ก เพราะผู้บริโภคเข้าถึงง่ายที่สุด จับมือกับเครือข่ายที่เป็นผู้ประกอบการกาแฟท้องถิ่นอยู่แล้ว ร่วมจัดอบรมทักษะให้กับเกษตรกรและลูกหลานในชุมชน สอนสร้างเพจ การโพสต์อัปเดทสินค้า การทำคอนเทนต์ การถ่ายคลิป ล่าสุดอบรมสร้างบัญชี TikTok เนื่องจากเป็นโซเชียลกำลังมาแรง และมีอินฟลูเอนเซอร์หลายรายติดต่อเข้ามาทำกิจกรรมกับชุมชนเพื่อถ่ายคลิปโปรโมทให้ ควบคู่ไปกับการขยายช่องทางผ่านบัญชีไลน์ทางการของกลุ่มวิสาหกิจฯ และยูทูป เพื่อเผยแพร่กิจกรรมการเยี่ยมชมดูงานจากกลุ่มบุคคลภายนอก
“TTU” ต่อยอดแบรนด์ผ่านจุดเด่น 2 ชุมชน สู่สินค้าร่มล้านนาผ้ามัดย้อมใบชา
ปลายปีนี้ เตรียมพบกับการ “เดบิวต์” สินค้าภูมิปัญญาล้านนาแบรนด์ใหม่ จากไอเดียของ TTU Lanna หนึ่งในทีมชาว Gen Z ที่คว้ารางวัลจากเวทีนี้ โดยสมาชิกของทีม ประกอบด้วย น.ส.ปิยะมาศ ทรายคำ, น.ส.จิรัชญา บาลเย็น และ น.ส.ภาวินี ลุงสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาบริหารธุรกิจการค้าและบริการ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ บอกว่า ล่าสุดทำแผนธุรกิจ ออกแบบโลโก้ รวมทั้งคำนวณต้นทุนเคาะราคาจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว และเตรียมสรุปกำลังการผลิตล็อตแรก กับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบและผู้ผลิต เพื่อนำไปจัดแสดงกับหลายเทศกาลท่องเที่ยวในเชียงใหม่ช่วงเดือนธันวาคมนี้ และวางจำหน่ายผ่านทั้งช่องทางเดิมของวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งแพลตฟอร์มโซเชียลของแบรนด์ TTU (Tea Tie-dyed Umbrella) เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายในการออกแบบแผนธุรกิจครั้งนี้ แต่ในระหว่างลงพื้นที่ชุมชน เห็นโอกาสที่จะผสมผสานและดึงจุดเด่นผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นทุนของ 2 ชุมชน เพื่อต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างแบรนด์ใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากวิสาหกิจชุมชนชาและสมุนไพรบ้านเด่นหลวง จ.เชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชนโคมลอยบ้านหนองโค้ง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากเดิมมีการผลิตร่มกระดาษสา และการผลิตใบชา มาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ “ร่มล้านนาผ้ามัดย้อมใบชา”
“เราได้รับการสนับสนุนว่าเป็นไอเดียใหม่ที่เปลี่ยนวัสดุตัวร่ม จากกระดาษสาที่คุ้นเคยกัน เป็นผ้ามัดย้อม โดยใช้ใบชาจากบ้านเด่นดวง มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการออกแบบและผลิต เป็นการต่อยอดการแปรรูปชา ชุมชนยังให้คำแนะนำการประยุกต์ใช้ทั้งเพื่อใช้งาน และเป็นสินค้าตกแต่งตามสถานที่ต่าง ๆ เขาเห็นโอกาสการเพิ่มรายได้ ขยายฐานจากลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว จากผลิตภัณฑ์เดิมของทั้ง 2 ชุมชน และยังแนะนำให้เราใช้ประโยชน์จากเศษผ้ามัดย้อมใบชาจากการทำร่ม มาทำพัด ที่จะช่วยบริหารจัดการวัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่าด้วย”
เนื่องจากทั้ง 2 ชุมชนมีการตลาดที่ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในด้านฐานลูกค้า โดยวิสาหกิจบ้านเด่นดวง มีช่องทางตลาดออนไลน์สำหรับ “Ahpatea อาปาที” ทั้งเว็บไซต์ ร้านค้าออนไลน์ และโซเชียลหลายแพลตฟอร์ม ส่วนบ้านหนองโค้ง มีช่องทางตลาดออฟไลน์ที่แข็งแกร่ง ดังนั้น แผนธุรกิจที่ทีม “ขาย” ให้กับชุมชนก็คือ โอกาสใหม่ในการเพิ่มรายได้ จากสินค้าใหม่ โดยเป็น Collection สินค้าภายใต้แบรนด์ TTU และควบคู่กันไปในฐานะเจ้าของแบรนด์ ก็จะเร่งปูพรมการตลาดดิจิทัล เพื่อเจาะลูกค้าเป้าหมายใหม่เพิ่ม โดยระยะแรกเน้นสร้างช่องทางตลาดและโปรโมทแบรนด์ผ่านเว็บไซต์ เพราะเป็นแหล่งค้นหาข้อมูลยอดนิยม เพจเฟซบุ๊ก เพราะคนคุ้นเคย นำเสนอให้เห็นภาพสินค้า และอินสตาแกรม เพื่อให้เห็นถึงความทันสมัยของร้าน เป็นโซเชียลที่ต่างชาติใช้กันมาก สามารถเน้นการนำเสนอภาพของสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมไปอบรมทักษะด้านการใช้อินสตาแกรมให้กับชุมชนด้วย เพราะทั้ง 2 วิสาหกิจยังไม่คุ้นเคยเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น
“ลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์ เน้นที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะสินค้าเราผสานเอกลักษณ์ล้านนาและเป็นแนวประยุกต์ มีความแตกต่าง ด้วยลวดลายผ้ามัดย้อมแต่ละผืนที่ไม่ซ้ำกัน น่าจะดึงดูดความสนใจ โดยแบรนด์จะเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อง่ายต่อการใช้คำค้นหาของลูกค้ากลุ่มนี้ และติดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ #ttu #ร่ม #บ่อสร้าง เป็นต้น”
จากความน่าสนใจที่จะนำไปสู่การต่อยอดของชุมชนมากขึ้น ในเวทีของโครงการ ETDA Local Digital Coach หรือ ELDC ที่มุ่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผนวกการดำเนินงานในแนวคิดแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น นำร่องไปสู่การสร้างให้ทั้งผู้เข้าแข่งขันและชุมชนก้าวไปสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งจากมุมมองของทั้ง 3 ทีมที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “ความยั่งยืน” ของประโยชน์และความแข็งแรงของธุรกิจชุมชน จะประกอบด้วยจิ๊กซอว์สำคัญ 3 ชิ้น ได้แก่ 1. ชุมชนเข้มแข็ง 2. ความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงโรงเรียนที่จะช่วยออกแบบหลักสูตรเสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้กับหน่วยเล็กสุดของสมาชิกชุมชน คือ เยาวชน เพื่อมารับไม้ต่อในการบริหารกิจการของชุมชน และ 3. มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้วิเคราะห์ต่อยอดเป็นองค์ความรู้ สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ ELDC ภายใต้การผลักดันของ ETDA หากต้องการติดตามข้อมูลหรือกิจกรรมที่น่าสนใจ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.etda.or.th และเฟซบุ๊ก ETDA Thailand