Digital Transformation
- 08 ก.ค. 67
-
105
-
ETDA ร่วมขบวน DE หนุนดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย ในงาน “Digital Korat: The Future Starts now”
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมขบวน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ร่วมโชว์ผลงานเด่น “เร่งสร้างภูมิคนไทยรู้ทันและแก้ปัญหาออนไลน์ ไปกับ 2 โปรเจคดัง 1212 ETDA และ ETDA Digital Citizen (EDC) หนุนดิจิทัลเพื่อใช้งานอย่างปลอดภัย เร่งเครื่องเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับภูมิภาค สร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม ในงาน Digital Korat: The Future Starts Now - โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า งาน Digital Korat: The Future Starts Now - โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี, ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ที่จัดงานนี้ขึ้นเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ของประเทศ เนื่องจากนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่เป็นประตูสู่ภาคอีสาน ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในหลายด้านสู่การเป็นเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค โดยมีแนวคิดในการจัดงานที่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงดิจิทัลฯ ครอบคลุมใน 4 มิติ ได้แก่ ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม), ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง), ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ) และดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ)
ดังนั้น ETDA ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอี ที่มีภารกิจสำคัญในการมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้การทำธุรกรรมออนไลน์ของประเทศมีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ภายใต้ Digital Ecosystem ที่เหมาะสม เพื่อให้คนไทยชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล จึงได้ร่วมนำเสนอผลงาน ในมิติดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงดีอี และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานออนไลน์อย่างปลอดภัย ผ่านแนวคิด “การตรวจพบ การยับยั้ง และการสร้างความตระหนักรู้” โดย ETDA ได้นำเสนอผลงานภายใต้ภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การยับยั้งภัยออนไลน์ ที่ดำเนินการผ่าน "ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ (Online Fraud and Complaint Center)" หรือ 1212 ETDA ซึ่งช่วยแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนจากการใช้บริการออนไลน์และบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 23 หน่วยงาน โดยในปี 2566 ศูนย์ 1212 ETDA ได้รับการแจ้งเข้ามาถึง 60,178 เรื่อง และแก้ไขปัญหาไปแล้ว 96.06% 2. การสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยออนไลน์ ขยายความรู้ไปยังส่วนภูมิภาคผ่าน 2 โครงการของ ETDA ได้แก่ 1212 ETDA ที่ทำงานร่วมกับสำนักงานสถิติจังหวัดจัดกิจกรรมสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันต่อภัยออนไลน์ มีผู้เข้าร่วม 4,880 คน ใน 22 จังหวัด และโครงการ ETDA Digital Citizen (EDC) หลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และสามารถส่งต่อความรู้สู่ผู้อื่นได้ ผ่านการอบรม ตลอดจนการเรียนผ่าน e-Learning และสื่อเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือประชาชนไทยทั่วทุกภูมิภาค ทั้งเด็กและเยาวชน ผู้สูงวัย ชุมชน กลุ่มเปราะบาง (คนพิการ หรือ ผู้ต้องขัง) โดยปัจจุบัน EDC ได้มีการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายแล้ว 57,552 ราย มีคนไทยเข้าถึงสื่อของ EDC กว่า 32.5 ล้านการเข้าชม และสร้าง EDC Trainer กว่า 1,400 รายที่กระจายในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีแผนยกระดับหลักสูตร EDC สู่ “EDC Plus” ในปี 2567 เพื่อให้รองรับและเท่าทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย
“ETDA มีแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปที่จะผลักดันงานในการสร้างความมั่นใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการรับเรื่องร้องเรียน การให้ความช่วยเหลือ ขยายองค์ความรู้ทั้งในมุมของการรู้เท่าทัน และเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล ไปพร้อมๆ กับการมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกลาง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services (DPS) พร้อมเตรียมขยาย Model สำหรับ Digital Transformation ลงไปยังภูมิภาคต่างๆ ผนวกการยกระดับชุมชนเพื่อใช้ Online ในการช่วยสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้าง Digital Literacy ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน และยังมีการทำงานของศูนย์ 1212 ETDA ที่ช่วยรับเรื่องกรณีมีประเด็นเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และหลากหลายช่องทาง เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึง และมีความรู้ในการใช้ออนไลน์ได้อย่างเชื่อมั่นและปลอดภัยมากขึ้นได้จริง” ดร.ชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย