AIGC
- 24 ส.ค. 66
-
4239
-
AI แทนแพทย์ได้หรือยัง AI Governance สำคัญอย่างไร? ในยุค Digital Healthcare
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่คุ้นหูกันโดยทั่วไปว่า AI เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่ความสำเร็จบนโลกดิจิทัล ที่หลายอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญและนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจ “ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล (AI Readiness Measurement) ปี 2566 โดย ETDA และ สวทช. พบว่า ในอีก 1-2 ปีนี้ อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยมีแผนที่จะนำ AI ไปใช้งานสูงถึง 56.60% อาจเพราะเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยตอบสนองทั้งในความแม่นยำ ความรวดเร็วในการทำงานและเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงานของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เว้นแม้แต่ “วงการแพทย์ของไทย” ที่วันนี้ในหลายๆ กระบวนการดูแล รักษา ได้นำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้แล้ว ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของผู้ป่วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค การลดขั้นตอนการทำงานซ้ำๆ ของทีมแพทย์ การติดตามอาการของผู้ป่วยด้วยระบบออนไลน์ ฯลฯ
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นสัญญาที่บ่งบอกถึงการยกระดับศักยภาพวงการทางการแพทย์ไทย สู่การเป็น Digital Healthcare ยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดกระแสของการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ AI ที่เข้ามาช่วยดูแล รักษาสุขภาพของผู้ป่วยว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน อีกทั้ง หลายคนต่างให้ความสำคัญด้วยว่า การใช้ AI ในวงการแพทย์ให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล จะใช้อะไรมาเป็นกลไกในการดูแลเรื่องนี้?
บทความนี้ จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกันกับศูนย์ AIGC by ETDA (AI Governance Clinic by ETDA) ที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดเวที ETDA LIVE ชวน ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง นำโดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.งามเนตร เอี่ยมนาคะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มาร่วมเปิดวงเสวนา แลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันถึงประเด็นข้างต้น ภายใต้หัวข้อการพูดคุย “Healthcare ยุคใหม่... กับการสร้าง AI GOVERNANCE ของผู้นำองค์กร”
AI อัจฉริยะแค่ไหน ก็แทนแพทย์ไม่ได้
ถ้าพูดถึงเรื่องของความฉลาดล้ำของ AI แน่นอนเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเรื่องจริง ที่วันนี้สถานพยาบาล โรงพยาบาลในหลายแห่งของไทย นำ AI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัย รักษา ดูแล ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ AI ที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยแพทย์ ที่สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของแพทย์ได้ เพื่อให้เราได้เห็นภาพ ในวงเสวนาได้มีการยกตัวอย่างประกอบ ในกรณีที่มีการนำภาพถ่ายฟิล์มเอ็กซเรย์จากระบบ AI มาช่วยในการวิเคราะห์และหารอยโรคของผู้ป่วยผ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ ที่แม้ AI จะช่วยบ่งชี้รอยโรคผ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ได้ แต่ก็ไม่ได้มีความแม่นยำหรือเชื่อได้แบบ 100% เพราะภาพเอ็กซเรย์ที่นำมาเทรนในระบบ AI ที่เราใช้กัน เป็นภาพเอ็กซเรย์จากต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า รูปร่างและสรีระร่างกายที่นำมาใช้เป็นของคนต่างชาติ ที่ต่างจากคนไทย เมื่อนำภาพเอ็กซเรย์ในระบบ AI มาเทียบกับภาพเอ็กซเรย์ของคนไทย จึงไม่สามารถใช้เทียบเคียงกันได้ทั้งหมด ดังนั้น การใช้งาน AI จึงเข้ามาแทนแพทย์ไม่ได้ แต่การใช้งานต้องอยู่ภายใต้การดูแลและการควบคุมของแพทย์ เพราะในวันที่การใช้งาน AI เกิดปัญหา คนที่ต้องรับผิดชอบ คือ แพทย์ ไม่ใช่ AI
แม้ AI ทำหน้าที่แทนแพทย์ไม่ได้ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า AI ถือเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะเข้ามาสนับสนุนการดูแล รักษา และการวินิจฉัยของแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจาก AI เป็นระบบที่มีการประมวลผลและการวิเคราะห์ได้ค่อนข้างละเอียด ที่สำคัญมีองค์ความรู้แบบไม่ลืม ยิ่ง AI ได้เรียนรู้ข้อมูลทางด้านสุขภาพของคนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งฉลาดและสามารถวิเคราะห์ผลการรักษาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
แพทย์ มีจรรยาบรรณ แต่ AI ต้องมีธรรมาภิบาล
ในการดูแล รักษาผู้ป่วย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การทำงานของแพทย์ จึงต้องมีคำว่า “จรรยาบรรณ และการรับผิดทางการแพทย์ หรือ Liability” เข้ามาเป็น
กรอบเพื่อสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ แม้ AI จะถูกใช้งานภายใต้การควบคุมโดยแพทย์ แต่ด้วยความฉลาดล้ำของ AI ที่ถูกพัฒนาไปไกลขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้และผู้ป่วยได้ ดังนั้น การนำ AI มาใช้ในวงการแพทย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล หรือ AI Governance เพื่อเป็นกรอบในการใช้งาน AI ได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งาน ซึ่งในวงการแพทย์ ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้ AI ทางการแพทย์สอดคล้องกับหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ควรจะเป็นมากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง การเคารพสิทธิมนุษยชนและให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย การไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ดังนั้น การจะทำอะไรที่มีผลต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินจะต้องมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาและต้องขอความยินยอมจากผู้ป่วยก่อน หรือ Informed consent เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีอิสระในการตัดสินใจ และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย มีความโปร่งใสในกระบวนการดูแลรักษาที่ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้งเมื่อแพทย์มีการนำ AI เข้ามาร่วมวินิจฉัยโรค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การใช้ AI ทางการแพทย์จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั่นเอง
AI Governance หนทางสู่ความสำเร็จ ใช้ AI อย่างเหมาะสม
เนื่องจากเทคโนโลยี AI มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทุกคนเคยใช้กันมา เพื่อให้การใช้งานเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยไม่เกิดผลกระทบกับผู้ใช้หรือผู้ประกอบการนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติเพื่อเป็นกรอบทิศทางของการประยุกต์ใช้งาน AI ได้อย่างเหมาะสม ตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเราได้มี “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 - 2570)” (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565) ที่จะเข้ามาเป็นกรอบการทำงานเพื่อส่งเสริม ขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลและคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 5 ด้าน ครอบคลุมทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมของประเทศทั้งในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบ (Driving AI Governance, Law and Regulation) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุน ด้านการเพิ่มศักยภาพบุคลากร (Reskill, Upskill, Newskill) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (AI Apply Research and Innovation) และด้านการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ETDA หนึ่งหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อน AI Governance ของประเทศให้เป็นรูปธรรม จึงเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic: AIGC by ETDA ) ขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ การประยุกต์ใช้งาน AI สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ทุกภาคส่วน ซึ่งได้มีหลายหน่วยงานได้เข้ามาปรึกษาในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องกฎหมาย แนวทางการนำไปใช้ วิธีการปฏิบัติตัว – บทบาทหน้าที่ที่หากต้องมีการนำ AI เข้ามาใช้ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนนวัตกรรมเทคโนโลยี และที่สำคัญคือ การพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร หรือที่เรียกว่า AI Governance Guideline for Executives เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ในมุมของผู้บริหารองค์กร โดยเเนวปฏิบัตินี้ จะเริ่มนำร่องใช้งานในกลุ่มการแพทย์ และสาธารณสุขก่อน (Healtcare) เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการนำ AI มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างแพร่หลาย เพื่อป้องกันผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI ในอนาคต ภายใต้แนวคิด Good governance ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ
AiX หลักสูตรทางเลือก สำหรับ Healthcare ยุคใหม่
เพื่อตอบโจทย์วงการแพทย์ยุคใหม่ในการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมอัปเดต AI Governance Guideline ไปพร้อมกัน เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ AIGC by ETDA จึงร่วมกับสถาบัน ADTE by ETDA (เอ็ดเต้ บาย เอ็ตด้า) พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากทั้งไทยและต่างประเทศ จึงเดินหน้าเปิดหลักสูตร “AI Executive Program (AiX) Digital Healthcare” สำหรับผู้บริหาร และผู้นำองค์กรกลุ่ม Healthcare ทั้งภาครัฐและเอกชนรุ่นแรก เพื่อเตรียมพร้อมและยกระดับกระบวนการประยุกต์ใช้ AI ด้าน Healthcare ของไทย ให้เกิดการใช้งาน AI ที่สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง โดยหลักสูตรนี้ ได้มุ่งเตรียมพร้อมตั้งแต่บทบาทของผู้บริหารเรื่องไหนที่ต้อง Focus หากหน่วยงานหรือองค์กรต้องนำ AI มาใช้งาน แนวคิดการใช้งาน AI ที่ควรจะเป็น ผ่านการถอดสูตรความสำเร็จและบทเรียนจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในวงการ AI ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การอภิปรายตลอดจน Knowledge sharing ผ่าน Use case ที่น่าสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเดินทางศึกษาดูงานจริงที่ประเทศสิงคโปร์ ทั้งหน่วยงานที่ผลักดันนโยบายด้าน Healthcare การหารือร่วมกับหน่วยงานสำคัญ เช่น ในด้าน Personal Data Protection การดูงานในโรงพยาบาลที่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ตลอดจน Networking ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อให้เห็นเทรนด์ของเทคโนโลยี รวมถึงการทำ Workshop เพื่อให้เกิดไอเดียเกี่ยวกับการนำ Foresight strategic เพื่อช่วยในการมองภาพอนาคตที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งการใช้เครื่องมือเพื่อการวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรด้วยเทคโนโลยี AI ที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิด Good governance ที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละองค์กร เมื่อจบหลักสูตร ผู้เข้าอบรมจึงได้เครื่องมือตลอดจนเครือข่ายการทำงานเพื่อการต่อยอดการดำเนินงานในองค์กรได้จริง
E C L I สูตรสำเร็จของการใช้ AI ในวงการแพทย์
เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดแล้ว การใช้งาน AI ในวงการแพทย์จะประสบความสำเร็จได้นั้น อะไรคือ Key Success ที่เราต้องให้ความสำคัญ สำหรับวงเสวนานี้ ได้สรุปสูตรของความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ AI ให้เราคือ E C L I โดย E- Ecology การสร้างระบบนิเวศน์ของความสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์จาก AI ทั้งในเชิงสาธารณะและเชิงพาณิชย์ที่ต้องบาลานซ์กัน C-Client Centric การให้บริการหรือการใช้ประโยชน์จาก AI โดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โดยเราต้องคำนึงถึงสิทธิความสามารถในการเข้าถึงของผู้รับบริการ ตลอดจนผลกระทบหรือการเยียวยาที่จะเกิดขึ้น หากการใช้งานเกิดความผิดพลาด L-Law & Regulation การปรับปรุงกฎหมาย แนวทางการดูแล ควรมีความทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยี AI อยู่เสมอ สุดท้ายคือ I-Improvement & Continuous Improvement ที่ต้องนำไปประยุกต์ใช้งานจริงไปพร้อมๆ กับการปรับปรุงกระบวนการทางด้านเทคโนโลยีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่รองรับอนาคต
อย่างไรก็ตาม Digital Healthcare ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตในการให้บริการและการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญยังถือเป็นกลุ่มบริการที่ได้รับการไว้วางใจจากนานาประเทศที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในบ้านเรากันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากประเทศเราวางกลยุทธ์ นโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรรม Digital Healthcare ได้อย่างเหมาะสม เปิดโอกาส ให้ผู้ประกอบการเอกชน ตลอดจนสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ได้มีโอกาสในการร่วมพัฒนาสร้างสรรค์เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับภาครัฐ โอกาสที่ Digital Healthcare ไทยจะกลายเป็น Hub ด้านสุขภาพและทางการแพทย์ที่ทั่วโลกต่างจับตาก็ไม่ไกลเกินจริง…
สำหรับใครที่สนใจสามารถชม ETDA Live ย้อนหลังได้
ที่นี่