Digital Service
- 21 ก.ค. 66
-
1314
-
7 แนวทางสำคัญในการขับเคลื่อน Data Sharing
ในยุคที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรหลักในโลกยุคใหม่ ทุกองค์กรพยายามผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในหลายมิติสู่การเป็น Data-driven Organization ทุกประเทศก็แข่งขันกันผลักดัน Data Economy ให้เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ การแบ่งปันข้อมูลหรือ Data Sharing กลายเป็นสารเร่งสำคัญที่จะมาช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
หลายประเทศเริ่มมีการทำ Data Sharing ระหว่างภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สหภาพยุโรปผลักดัน Data Space เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาผู้ป่วย ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลและดูแลผู้ป่วยที่ส่งต่อข้ามโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องขอข้อมูลใหม่ทุกครั้ง ออสเตรเลียผลักดัน Consumer Data Right ให้ลูกค้าธนาคารสามารถขอกู้เงินหรือใช้บริการอื่นจากธนาคารใดก็ได้ โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่ ทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามการจะผลักดันให้เกิด Data Sharing ในประเทศไทยได้จริง ยังมีความท้าทายในหลายด้าน ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นที่องค์กรส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นถึงกรณีการใช้ประโยชน์หรือ Use Case จากการแบ่งปันข้อมูล จึงมักไม่แน่ใจว่าจะเริ่มจากตรงไหน นอกจากนี้ภาคธุรกิจก็มักมีความกังวลเรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมาย PDPA และแม้ว่าการทำ Data Sharing จะสามารถสร้างประโยชน์องค์รวมได้มาก แต่ก็ยังขาดมาตรการจูงใจที่เป็นระบบ
เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำ Data Sharing ในภาคธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานในการใช้ข้อมูลที่ปลอดภัยและเคารพสิทธิด้านข้อมูลส่วนบุคคล ประเทศไทยสามารถดำเนินการ 7 แนวทางสำคัญ ได้แก่
- การจัดตั้ง Data Sharing Committee เพื่อขับเคลื่อนการทำ Data Sharing โดยครอบคลุมการกำหนด ทิศทางนโยบาย ออกกฎหมาย และมาตรฐาน
- การพัฒนาบริการ Data Sharing Assistant Platform เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษา แก่ธุรกิจที่ต้องการทำ Data Sharing
- การสร้าง Data Integration Hub มาเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่ปลอดภัยและใช้มาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธุรกิจ
- การผลักดันให้มี Data Marketplace แพลตฟอร์มกลางสําหรับการชื้อ-ขาย ข้อมูลระหว่างองค์กร ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม
- การทำ Data Sharing Promotion เพื่อสร้างการรับรู้ให้ความรู้ และพัฒนาทักษะที่จําเป็นสําหรับ Data Sharing เช่น จัดทำสื่อหรือจัดงานประชาสัมพันธ์
- การส่งเสริม Funding & Benefits หรือกองทุนที่สนับสนุนการทำ Data Sharing ของภาคธุรกิจ โดยการจัดสรรงบประมาณลงทุน และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
- การจัดให้มี Data Sharing Testbed & Regulatory Sandbox ในการจำลองสภาวะแวดล้อม (Test Environment) สําหรับทดสอบการใช้เทคโนโลยีแบ่งปันข้อมูล และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล
Data Sharing จะส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ภาครัฐจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้จากหลากหลาย Use case ที่ต่อยอดจากการแบ่งปันข้อมูล ภาคเอกชนจะมีข้อมูลมากขึ้นเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ร่วมกับหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ Data Sharing เกิดขึ้นจริง เพื่อเร่งผลักดัน Data Economy และเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจไทย ให้แข่งขันได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนท่ามกลางความพลิกผันในโลกยุคดิจิทัลต่อไป