Digital Citizen
- 10 ต.ค. 62
-
123306
-
Cyberbullying : ระรานออนไลน์ ร้ายล้านวิว
เคยไหม? ถูกเพื่อนระราน กลั่นแกล้ง ล้อเลียน รุมรังแก ต่อต้าน ไม่รับเข้ากลุ่ม หรือโดนเพื่อนแบล็กเมล
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ในวัยเรียนที่โหดร้าย ถูกทำให้เป็นตัวตลก เพื่อนแอนตี้ทุกเรื่อง ต้องทนทุกข์เป็นปี ๆ กว่าจะเรียนจบออกไป หรืออาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า จนบางรายเลือกที่จะจบชีวิตตนเองเพราะมองไม่เห็นทางออกอื่น การระรานหรือ Bully แบบนี้มีมานานแล้ว แต่เทคโนโลยีทำให้เรื่องนี้เลวร้ายกว่าเดิม อย่างไรล่ะ?
ราชบัณฑิตสภา ให้คำนิยาม Cyber Bully ว่าคือ "การระรานทางไซเบอร์" หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
สมัยก่อน โดนล้อว่า “
อ้วนดำ” ก็จบตรงนั้น ในห้องเรียน ในโรงเรียน กับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กี่สิบคน แต่สมัยนี้ มีการใช้ภาพประกอบ ตัดต่อ แต่งภาพ ให้ดูน่าเกลียดหรือดูตลกกว่าเดิม มีการก๊อปปี้ถ้อยคำกลั่นแกล้งเป็นพัน ๆ ครั้ง มีคนมาเขียนคอมเมนต์ซ้ำเติม แล้วแชร์วนไปในโซเชียลมีเดีย เรียกว่าเป็น
Cyberbullying เหมือนถูกทำร้ายจากคนเป็นพันเป็นหมื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอาจแพร่กระจายไปได้เป็นล้านคนในเวลาไม่นาน โดยการทำร้ายยังคงอยู่อย่างนั้น เปิดไปเมื่อไรก็เจอ
ปัญหาการระรานในโรงเรียนบ้านเรา ปัจจุบันนี้สูงถึงร้อยละ 40 ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น* โดยเฉพาะ Cyberbullying ซึ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำร้ายจิตใจและอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของเหยื่อ ที่แย่คือคนทำสามารถปกปิดตัวตนบนโลกออนไลน์ ทำให้ไม่รู้ว่าจะจัดการแก้ปัญหากับใครได้อย่างไร เนื้อหาที่โดนระราน กลั่นแกล้ง รังแก ไม่ว่าจะเป็น การดูถูกเหยียดหยาม ทำให้กลายเป็นตัวตลก เสียชื่อเสียง คอยจับผิด แฉ ประจาน ทำให้อับอาย จนถึงขั้นใส่ร้ายป้ายสี จะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ มีคนมาช่วยแชร์ มาเขียนคอมเมนต์ในด้านลบ กลายเป็นวงจรการระรานทางไซเบอร์ที่ทำร้ายเหยื่อไม่สิ้นสุด
สาเหตุของการระรานออนไลน์
Cyberbullying เกิดขึ้นได้ทั้งจากการแกล้งกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ล้อกันเล่นขำ ๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งกันในโรงเรียน ความเกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาจแค่ไม่ชอบหน้า หรือความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกัน รูปแบบของ Cyberbullying ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่
- การข่มขู่คุกคาม หรือให้ร้ายเหยื่อ บางครั้งนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกันจริง ๆ
- การเปิดโปงข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยการเอาไปโพสต์หรือส่งต่อให้คนอื่นรับรู้ เช่น ภาพหลุด ภาพตลก ๆ เพื่อประจาน ทำให้อับอาย
- การคุกคามทางเพศ โดยใช้ถ้อยคำที่ส่อไปในทางเพศ ส่งภาพหรือวิดีโอมาให้แล้วชวนทำกิจกรรมทางเพศ การตัดต่อภาพโป๊เปลือย การลวงให้ส่งรูปไม่เหมาะสมแล้วนำไปโพสต์ประจานหรือแบล็กเมล
- การแอบอ้างตัวตน โดยการแอบเข้าบัญชีออนไลน์ของเหยื่อ หรือสร้างบัญชีใหม่โดยใช้ชื่อและ/หรือรูปภาพของเหยื่อ แล้วนำบัญชีไปใช้ในทางไม่เหมาะสม
- การสร้างกลุ่มเพื่อโจมตี เช่น เพจแอนตี้ต่าง ๆ เพื่อจับผิด ประจาน พูดคุยตำหนิ ด่าทอ ทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเกลียดชังเหยื่อ
Cyberbullying กับผลกระทบ
Cyberbullying ทำให้เหยื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจ เช่น
- อับอาย
- หวาดกลัว
- หวาดระแวง
- หดหู่
- รู้สึกโดดเดี่ยว
- เศร้าหมอง
- ท้อแท้ สิ้นหวัง
- ไร้ค่า
และยังเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง เจ็บป่วย ทำร้ายตัวเอง และอาจรุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย
สำหรับผู้ที่กลั่นแกล้งคนอื่น อาจจะได้รับผลกระทบในภายหลังได้เช่นกัน เช่น เกิดความรู้สึกผิดกับสิ่งที่เคยทำกับผู้อื่น ลงโทษตัวเอง หรืออาจจะเป็นอีกด้านหนึ่งคือ เสพติดความรุนแรงจนกลายเป็นอาชญากรในอนาคต ซึ่งผลกระทบกับเหยื่อและผู้กระทำจะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระรานและทักษะในการรับมือกับการระราน รวมทั้งการสนับสนุนด้านกำลังใจและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างด้วย
หากเพื่อนหรือบุตรหลานมีอาการเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล เก็บตัว หวาดระแวง ตกใจง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานหรือเรียนลดลง หมกมุ่นกับหน้าจอ ข้อความในโทรศัพท์ หรือโซเชียลมีเดีย ใช้ยานอนหลับหรือแอลกอฮอล์ และหากได้ยินผู้อื่นพูดถึงเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีอาการเครียดมากขึ้น หรือกดดันมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ที่จะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยเร็ว
เด็ก ๆ จะรับมือ Cyberbullying อย่างไร?
- STOP หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
- BLOCK ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
- TELL บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
- REMOVE ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
- BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ
สำหรับผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ รวมทั้งคนแวดล้อม ก็ควรเข้าใจ ให้กำลังใจ รับฟังและไม่ทอดทิ้ง ให้คำปรึกษาและสอนวิธีรับมือหรือแก้ไขสถานการณ์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมโรงเรียน และร่วมสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน
Parent Zone องค์กรด้านสังคมหรือ Social Enterprise ของสหราชอาณาจักรในด้านการส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยให้แก่พ่อแม่ เด็ก ๆ และโรงเรียน ชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงดูและอนุญาตที่ดีพอ โดยให้เด็กเผชิญความเสี่ยงและพัฒนาวิธีการรับมือที่เรียกว่า "Digital Resilience" คือแนวทางที่สำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถรับมือกับภัยไซเบอร์ต่าง ๆ รวมทั้งเรื่อง Cyberbullying ประกอบด้วย ทั้ง "เข้าใจ" ว่ามีความเสี่ยง "รู้" ว่าต้องทำอย่างไร หากต้องขอความช่วยเหลือ "เรียนรู้" จากประสบการณ์ของพวกเขาเอง เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ และ "ฟื้นฟู" ถ้าเกิดพลาดไปแล้ว โดยมีระดับการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม
เคล็ดลับพ่อแม่
- พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องแนะนำได้ และเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาที่ดีได้
- คุยกับลูกว่าลูกชอบทำอะไรบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะแอป, เกม หรือเว็บไซต์ที่พวกเขาชอบ ถ้าลูกรู้ว่าพ่อแม่สนใจพวกเขา เขาก็จะยิ่งอยากมาคุยกับคุณเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ
- อธิบายเรื่อง "กฎของบ้าน" เช่นการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเวลาที่เหมาะสม กฎจะได้ผลมากเมื่อลูกเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมี อธิบายให้เขาได้คิดและพยายามทำตามข้อตกลงร่วมกัน
เราทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันการระรานออนไลน์ได้ โดยการ “คิดก่อนโพสต์” ว่าไม่เป็นการละเมิดหรือสร้างความรู้สึกไม่ดี ทำความเสียหายให้กับผู้อื่น ไม่ลงรูปภาพหรือข้อความที่รุนแรง ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง รวมทั้งการห้ามปราม ตักเตือน ผู้ที่ระรานออนไลน์ และการให้กำลังใจและช่วยเหลือเหยื่อถ้าสามารถทำได้ เพื่อสร้างสังคมออนไลน์ที่สร้างสรรค์ร่วมกัน
ที่มา
- *กรมสุขภาพจิต
- สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ASEAN Stop Cyberbullying Workshop 2019” หยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ในงาน Digital Thailand Big Bang 2019 (31 ตุลาคม 2562)