TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

e-Commerce ซื้อขายปลอดภัย ไม่โดนลวง

Digital Citizen Documents
  • 02 ส.ค. 62
  • 11420

e-Commerce ซื้อขายปลอดภัย ไม่โดนลวง

ผลสำรวจ Global Digital 2021 ของ We Are Social และ Hootsuite ประจำปี 2564 ระบุว่า 76.8% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ผ่านหลากหลายช่องทาง ขณะที่มีถึง 90.4% ที่เยี่ยมชมร้านค้าออนไลน์ ส่วนคนไทย สถิติ Digital 2021: Thailand การซื้อสินค้าทางออนไลน์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (อายุ 16-64 ปี) สูงถึง 83.6% โดยการเยี่ยมชมร้านค้าออนไลน์คือ 84.9% อาจสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยตัดสินใจซื้อค่อนข้างเร็ว

ขณะที่ รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 ของ ETDA กิจกรรมยอดฮิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย ในอันดับที่ 6 คือ การซื้อสินค้าออนไลน์ 67.3% ส่วน รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2562 ของ ETDA นอกจากคาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย จะพุ่งทะยานแตะ 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2562  หรือเติบโตขึ้น 6.91% แล้ว ยังคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในปี 2563 ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 จากพฤติกรรม New Normal ที่คนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์มากขึ้น

IFBL_DekDee_chap3_Cover_720x378_Facebook.jpg

อีคอมเมิร์ซ หรือ e-Commerce จึงเป็นทั้งเทรนด์ธุรกิจโลกและธุรกิจไทย จากตัวเลขที่เติบโต ทั้งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้หันมาชอปทางออนไลน์ เพราะความสะดวก รวดเร็ว มีแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและหลากหลาย แค่เปิดมือถือกด ๆ จิ้ม ๆ เลือกสินค้า โอนเงินแล้วนั่งรอรับของที่บ้าน

การเปิดร้านค้าออนไลน์ก็ทำได้ง่าย ลงทุนน้อย ไม่ต้องเช่าตึกเปิดร้าน ไม่ต้องเก็บสต๊อกสินค้าครั้งละมาก ๆ ไม่ต้องมีพนักงานขายนั่งเฝ้าหน้าร้าน เพียงถ่ายภาพสินค้าติดราคาแล้วนำลงบนเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก ก็สามารถขายสินค้าได้แล้ว ธุรกิจหลากหลายทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างก็มองเห็นกลุ่มผู้ใช้งานออนไลน์ขนาดใหญ่เป็นลูกค้า จึงหันมาทำการตลาดและเปิดร้านค้าออนไลน์ แต่ด้วยความสะดวกและง่ายเหล่านี้เอง ผู้ซื้อและผู้ขายจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกหรือโกงด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องมีความรอบคอบระมัดระวังในการให้และใช้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์

อีคอมเมิร์ซ เติบโตขึ้น ความเสี่ยงของการซื้อขายออนไลน์ก็อาจสูงตามขึ้นด้วย

  • การซื้อของแล้วไม่ได้ของ คุณภาพของต่ำกว่าที่โฆษณาเอาไว้ ของไม่ตรงกับที่สั่ง เก่าเสื่อมสภาพ ฯลฯ
  • ผู้ขายเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงิน หากเป็นมิจฉาชีพตั้งใจมาหลอกลวงเอาของฟรี ๆ หรือลูกค้าปฏิเสธการรับสินค้ากรณีจ่ายเงินปลายทาง หรือถูกเรียกร้องค่าเสียหายต่าง ๆ
  • ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลในบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคาร
  • ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างมีความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวจะถูกเปิดเผยออกไป และอาจถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ในทางที่เสียหาย นำไปหลอกลวงผู้อื่น
  • การถูกรบกวนจากข้อความหรือโฆษณาต่าง ๆ ที่เรียกว่าสแปม (spam) 


คนซื้อดูให้มั่นใจ คนขายต้องมีเครดิต ถ้าพลั้งผิดมีทางออก

สำหรับผู้ซื้อ 
  • พ่อค้าแม่ค่าน่าเชื่อถือไหม ต้องตรวจสอบ โดยดูจากที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือตรวจสอบไปถึงการจดทะเบียนการค้า ตรวจสอบประวัติของผู้ขายและเลขที่บัญชี โดยสืบค้นใน google ว่ามีประวัติไม่ดี หรือเคยถูกร้องเรียนมาก่อนหรือไม่ และยังเช็กจากรีวิวของผู้ซื้อรายอื่น ๆ ได้อีกทาง
  • หากมีหน้าร้านจริง ๆ ด้วย ก็จะลดความเสี่ยงลงได้ การซื้อของจากร้านค้าที่ขายบนระบบตัวกลางขายสินค้า (Platform) ที่น่าเชื่อถือ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าไว้ใจได้
  • ควรตรวจสอบเงื่อนไขของสินค้า การรับประกัน ว่ามีหรือไม่ อย่างไร การส่งคืนสินค้าหากไม่เป็นไปตามที่สั่งซื้อ ใครเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่ง-คืนสินค้า การหักค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการต่าง ๆ
  • สงสัยไว้ก่อน การซื้อสินค้าจากร้านค้าหรือผู้ขายที่ขายของราคาต่ำกว่าปกติมาก ๆ อาจเสี่ยงกับการถูกหลอกลวง ไม่ได้รับสินค้า หรือได้สินค้าไม่มีคุณภาพ
  • ห้ามโพสต์แจ้งเลขบัตรเครดิต เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เช่น ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว ลงบนพื้นที่ออนไลน์สาธารณะ
IFBL_DekDee_chap3_img1.jpg

สำหรับผู้ขาย
  • ควรตรวจสอบประวัติผู้ซื้อจากชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ว่ามีประวัติที่ไม่ดีหรือไม่
  • ไม่แจ้งข้อมูลส่วนบุคคล ลงบนพื้นที่ออนไลน์สาธารณะ
  • อาจใช้วิธีให้ผู้ซื้อจ่ายเงินค่าสินค้า/บริการ หรือเก็บเงินมัดจำ ก่อนส่งสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการโดนโกง
  • ควรแสดงรายละเอียดสินค้า และเงื่อนไขความรับผิดชอบให้ครบถ้วนชัดเจน เช่น ราคา รูปแบบ ขนาด ระยะเวลาส่งสินค้า ผู้รับผิดชอบค่าส่ง-คืนสินค้า การรับประกัน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ
  • ดูแลข้อมูลส่วนบุคลของลูกค้าไม่ให้รั่วไกล ขอเท่าที่จำเป็นในการติดต่อหรือจัดส่งสินค้า มีการขอความยินยอมหรือมีนโยบายในเรื่องความเป็นส่วนตัวให้ลูกค้าพิจารณา
IFBL_DekDee_chap3_img2.jpg
 

กรณีซื้อขายมีปัญหาทำไงดี

กรณีซื้อของแล้วได้ของไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อ ผู้ซื้อมักจะเจรจาโดยตรงกับผู้ขายในการขอคืน/เปลี่ยนของ หรือขอคืนเงิน ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน ทำให้ผู้ซื้อหลายคนละเลยที่จะตามเรื่องจึงยอมเสียเงินแบบไม่คุ้มค่า ในกรณีเช่นนี้ ผู้ซื้อสามารถจะเข้าไปให้คะแนนร้านค้า/ผู้ขาย หรือรีวิวสินค้า เขียนความคิดเห็นที่ร้านค้า เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อรายอื่นพิจารณาร้านค้า/ผู้ขายดังกล่าวก่อนตัดสินใจใช้บริการ แต่หากเป็นการโอนเงินไปแล้วไม่ได้รับของ ถือเป็นการฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย ผู้ซื้อควรดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้

1.เก็บหลักฐานต่าง ๆ เช่น
  • รูปและชื่อโปรไฟล์ของร้านค้าหรือผู้ขาย หน้าประกาศขายสินค้า หากเป็นเว็บไซต์ให้เก็บ URL (ที่อยู่เว็บไซต์)
  • ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าหรือผู้ขาย
  • เลขที่บัญชีของผู้ขายที่ให้โอนเงินชำระค่าสินค้า
  • ภาพหน้าจอข้อความพูดคุยที่แสดงถึงการตกลงซื้อขาย เช่น ภาพตัวอย่างสินค้า ข้อความโฆษณา ราคาสินค้า การต่อรอง การรับประกัน การโอนเงินต่างๆ ไม่ว่าจะทางอีเมล ข้อความส่วนตัว ไลน์ หรือช่องทางอื่น ๆ
  • หลักฐานการโอนเงินค่าสินค้า
2.นำหลักฐานตามข้อ 1 พร้อมทั้งสมุดบัญชีธนาคารและบัตรประจำตัวประชาชนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยระบุขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

3.อาจสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมของร้านค้า/ผู้ขาย จากเลขที่บัญชี โดยนำเลขที่บัญชีของร้านค้าหรือผู้ขาย พร้อมใบแจ้งความและหลักฐานการโอนเงินไปยังธนาคาร แล้วทำเรื่องขอรายละเอียดของเจ้าของบัญชีดังกล่าว ยื่นเรื่องขอเงินคืน หรืออายัดบัญชี แต่บางครั้ง เลขที่บัญชีที่โอนเงินค่าสินค้าไปให้ อาจจะไม่ใช่ของมิจฉาชีพที่แท้จริง เพราะเจ้าของบัญชีอาจโดนนำบัตรประชาชนไปสวมรอยเปิดบัญชีหลอกขายสินค้า ก็เป็นไปได้เช่นกัน อีกประการหนึ่งคนร้ายมักจะรีบถอนเงินออกไปทันที ทำให้มักไม่ได้เงินคืนจากธนาคาร
 
IFBL_DekDee_chap3_img3(1).jpg

การติดตามตัวคนร้ายออนไลน์นั้นใช้เวลาค่อนข้างมากและไม่ได้ง่ายดายนัก หากจับตัวได้แล้วคนร้ายยอมคืนเงินให้ก็ถือว่าโชคดี มิเช่นนั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลรอจนศาลตัดสินจึงมีโอกาสได้เงินคืน ดังนั้น ควรรอบคอบ ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนซื้อ-ขายออนไลน์ตามคำแนะนำข้างต้น ก็จะช่วยป้องกันให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์ได้ดีที่สุด

ก่อนเกิดปัญหา หรือหากเกิดปัญหาแล้ว สามารถขอคำปรึกษา แจ้งเรื่องร้องเรียน พร้อมส่งหลักฐานตามข้างต้น ได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC โดย ETDA เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการซื้อ-ขายออนไลน์ โดยติดต่อได้หลายช่องทาง ดังนี้
1) โทรศัพท์สายด่วน 1212 ตลอด 24 ชม.
2) อีเมล [email protected]
3) เว็บไซต์ www.1212occ.com
4) แช็ตบอต ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC (https://www.facebook.com/1212OCC/) โดยเข้าไปคุยที่ m.me/1212OCC

1212occ.jpg
 

กันไว้ดีกว่าแก้ ตรวจสอบผู้ค้าให้มั่นใจ ก่อนกดคลิกซื้อสินค้าทางออนไลน์ ไม่มั่นใจหรือพบปัญหา 1212 OCC โดย ETDA พร้อมให้คำแนะนำ

Rating :
Avg: 5 (1 ratings)