e-Commerce
- 21 ส.ค. 63
-
15801
-
ETDA เผยมูลค่า e-Commerce ไทย ปี 62 คาดพุ่ง 4.02 ล้านล้านบาท
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2562 หรือ Value of e-Commerce Survey in Thailand 2019 ชี้ มูลค่า e-Commerce ไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้สะท้อนปัจจัยหลายอย่าง ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) ที่วิถี “ความปรกติใหม่ หรือ New Normal” ซึ่งจำเป็นต้องเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing ได้เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและการทำงาน ที่ผลักดันให้คนต้องพึ่งเทคโนโลยีมากกว่าเดิมเพื่อลดการพบปะกัน จนทำให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์และ e-Commerce ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ดังนั้น ถึงเวลาที่ธุรกิจต้องปรับตัว เพราะความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไป
ชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ ETDA เผยในการแถลงผลสำรวจฯ ที่งาน “Thailand e-Commerce Hackathon 2020” วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ว่า บทบาทสำคัญของ ETDA ตลอด 9 ปีนับแต่ก่อตั้งคือ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่ง e-Commerce เป็นอีกธุรกรรมทางออนไลน์สำคัญที่ทำให้คนไทยมีรายได้ “โครงการการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (Value of e-Commerce Survey in Thailand)” ที่ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 (2558-ปัจจุบัน) แล้ว ก็เพื่อให้ได้ตัวเลขสถิติที่เป็นฐานข้อมูลสำคัญและดัชนีชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ที่มีมาตรฐานในการเก็บข้อมูลเทียบเท่าระดับนานาชาติ เพื่อให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการวางแผน กำหนดนโยบาย กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมธุรกิจออนไลน์ของประเทศและภาคธุรกิจ ที่สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป สู่การเป็น “ดิจิทัลไทยแลนด์” (Digital Thailand) อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลอย่างยั่งยืน
ไทยครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุด 5 ปีซ้อน ในกลุ่มอาเซียน
ผลการสำรวจ พบว่า ภาพรวมมูลค่า e-Commerce แบบ B2C ในกลุ่มประเทศอาเซียน ปี 2561 ไทยครองแชมป์มูลค่า B2C สูงสุด 5 ปีซ้อน มูลค่ารวมกว่า 46.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2560 ถึง 99.61% รองลงมา คือ มาเลเซีย 21.53 พันล้านเหรียญฯ อินโดนีเซีย 9.50 พันล้านเหรียญฯ เวียดนาม 7.65 พันล้านเหรียญฯ และสิงคโปร์ 4.94 พันล้านเหรียญฯ คาดปี 2563 หลายประเทศมีแนมโน้มปรับตัวอย่างก้าวกระโดด อันดับมูลค่าอาจเปลี่ยนแปลง
ปี 62 คาดพุ่ง 4.02 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 6.91%
สำหรับ มูลค่า e-Commerce ในประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะพุ่งทะยานแตะ 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2562 หรือเติบโตขึ้น 6.91% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.76 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2.76 ล้านล้านบาท ถึง 36.36% โดยรายได้ส่วนใหญ่มากจากการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ภายในประเทศถึง 91.29% ทั้งนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในปี 2563 จากพฤติกรรม New Normal ที่คนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์มากขึ้น
กลุ่ม B2B ยังคงครองแชมป์มูลค่าสูงสุดต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน
มูลค่า e-Commerce จำแนกตามประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ในปี 2561 ผู้ประกอบการ กลุ่ม B2B ยังคงครองแชมป์มูลค่าสูงสุดต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน มีมูลค่าสูงถึง 1.80 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่ม B2C 1.41 ล้านล้านบาท และกลุ่ม B2G 5.55 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์ปี 2562 มูลค่าจะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่ม B2G เพิ่มมากสุดถึง 11.53% เป็น 6.19 แสนล้านบาท ขณะที่ กลุ่ม B2B และ B2C เพิ่ม 6.11% เป็น 1.91 ล้านล้านบาท และ 1.49 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ ในปี 2563 มีหลายประเด็นน่าจับตา โดยเฉพาะการเติบโตของ กลุ่ม B2C ที่เป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้บริโภครายย่อยช่วงกักตัวอยู่บ้านที่ทำให้การใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น ส่วน B2G อาจตกอันดับไม่เติบโตสูงสุดอีกต่อไป หากการเบิกจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ล่าช้า การจัดซื้อจัดจ้างหยุดชะงักช่วงโควิด-19
ค้าปลีก-ค้าส่ง มูลค่านำอุตสาหกรรมอื่น
มูลค่า e-Commerce จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า จากการคาดการณ์ปี 2562 อุตสาหกรรมที่มูลค่าสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 9.81 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมการผลิต 4.99 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 4.34 แสนล้านบาท อุุตสาหกรรมการขนส่ง 1.55 แสนล้านบาท อุุตสาหกรรมการบริการอื่น ๆ 2.32 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1.54 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมการประกันภัย 582 ล้านบาท ตามลำดับ โดยคาดปี 2563 อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งจะมีมูลค่า e-Commerce พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากยอดการเข้าถึงแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์และภาพรวมคำสั่งซื้อในช่วงสถานการณ์การป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สวนทางกับมูลค่าของอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักที่คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ส่งผลให้อัตราการเข้าพักลดลง และโรงแรมในประเทศต่างต้องปิดตัวชั่วคราวหลายแห่ง
ขณะที่ มูลค่า e-Commerce ในอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง จำแนกตามประเภทสินค้าและบริการ (ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ) พบว่า จากการคาดการณ์ปี 2562 ประเภทสินค้าและบริการ 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า 9.39 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 9.11 แสนล้านบาทในปี 2561 รองลงมา คือ เครื่องสำอางและอาหารเสริม 1.54 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 1.45 แสนล้านบาทในปี 2561 แฟชั่น เครื่องแต่งการและเครื่องประดับ 9.68 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1.01 แสนล้านบาท เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 3.57 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 3.30 หมื่นล้านบาท และอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตผลทางการเกษตรและประมง 3.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มจาก 3.37 หมื่นล้านบาท โดยปี 2563 จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จนนำมาสู่มาตรการ Lockdown ปิดห้างสรรพสินค้า การปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์จึงอาจเป็นคำตอบของทางรอด ที่จะทำให้มูลค่า e-Commerce ในธุรกิจห้างสรรพสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ ที่คาดการณ์ว่าปี 2563 ตลาดจะโตอย่างน้อย 30%
อุตสาหกรรมไหน น่าจับตา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตมูลค่า e-Commerce ตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ช่วงปี 2561-2562 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า e-Commerce เติบโตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการประกันภัย เติบโตถึง 33.62% รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการขนส่ง 31.30% และอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 21.63% โดยประเภทสินค้าและบริการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ที่มีมูลค่าเติบโตจากปี 2561 มากที่สุด คือ ธุรกิจการศึกษา บริการที่เกี่ยวข้องแอปพลิเคชัน เพิ่มขึ้น 42.56% รองลงมา คือ ธุรกิจเพลง โรงภาพยนต์และ e-Movie เพิ่มขึ้น 31.55% และ ธุรกิจเกมออนไลน์ เพิ่ม 2.52% ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2563 การเติบโตมูลค่า e-Commerce ในอุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการอาจแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเข้ามาของ Media Streaming Platform ของต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสัดส่วนมูลค่าของ Digital Media เช่น Facebook YouTube LINE และ TikTok ที่เติบโตขึ้น
SMEs ในปี 2563 คาดมีทิศทางมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น
มูลค่า e-Commerce จำแนกตามขนาดธุรกิจ คาดการณ์ปี 2562 ผู้ประกอบการ Enterprises จะมีมูลค่า e-Commerce 2.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 8.94% และผู้ประกอบการ SMEs มีมูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.27% โดยภาพรวมของ SMEs ในปี 2563 คาดว่า อาจมีทิศทางมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวของร้านค้าและประชาชนที่เข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยข้อมูลจาก ลาซาด้าแพลตฟอร์ม พบ ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่า 26,000 รายและยังเกิดช่องทาง Social Commerce ใหม่ ๆ
ช่องทางการตลาดไหน ฮิตสุด
ธุรกิจ e-Commerce กับช่องทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ของผู้ประกอบการนั้น นับว่าเป็นประเด็นสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่า e-Commerce เพราะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค โดยปี 2561 พบว่า ช่องทางการตลาดออนไลน์ที่ ผู้ประกอบการ SMEs เลือกใช้มากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ LINE 32.10% รองลงมา คือ Facebook Ads 30.27% Instagram Ads 26.83 ช่องทางอื่น ๆ เช่น การจ้าง Influencer ให้รีวิวสินค้าผ่าน TikTok 5.00% และ Google Ads 2.80% ขณะที่ ช่องทางที่ผู้ประกอบการ Enterprises เลือกใช้มากที่สุด ได้แก่ Facebook ถือเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ที่มี Return Of Investment (ROI) ดี และสร้างยอดขายได้มากที่สุด 95.00% รองลงมา คือ Google Ads 75.00% LINE 60.00% Instagram Ads 35.00% และ YouTube 30.00% ตามลำดับ โดยคาดการณ์ปี 2563 ช่องทางการตลาดดิจิทัลใหม่มาแรงคงหนีไม่พ้น TikTok เพราะจากข้อมูลในไตรมาสแรกปี 2563 TikTok มีจำนวน users ในไทยมากกว่า 10 ล้าน users และได้รับการดาวน์โหลดแล้ว 315 ล้านครั้ง นับเป็นยอดการดาวน์โหลดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา
ผู้ซื้อชำระเงินช่องทางไหนกัน
ธุรกิจ e-Commerce กับช่องทางการชำระเงิน โดยปี 2561 พบว่า ช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ชำระเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากที่สุด คือ ช่องทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคาร 46.37% รองลงมา คือ บัตรเครดิต/บัตรเดบิต 24.46% และบัตรพรีเพด 19.40% ส่วนช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ชำระเงินให้กับผู้ประกอบการ Enterprises มากสุด คือ ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคาร 38.14% รองลงมา คือ บัตรเครดิต/บัตรเดบิต 31.40% และการสั่งจ่ายด้วยเช็ค (Cheque) /ใบสั่งของ (Purchase Order) 16.76% ส่วนในปี 2563 จากวิกฤตโควิด-19 อาจนำไปสู่สังคมไร้เงินสดและคาดว่าความคุ้นชินนี้จะกลายเป็น New Normal
ไปรษณีย์ไทย ยังครองใจเรื่องขนส่ง โดยเฉพาะ SMEs
ธุรกิจ e-Commerce กับช่องทางการขนส่ง ปี 2561 พบว่า ช่องทางที่ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ใช้ส่งสินค้าและบริการมากสุด คือ บริษัทไปรษณีย์ไทย 94.55% รองลงมา คือ บริษัทจัดส่งสินค้า เช่น DHL, Nim Express, FedEx, Kerry เป็นต้น 26.14% ส่วนผู้ประกอบการ Enterprises ช่องทางที่ใช้มากสุด คือ บริษัทจัดส่งสินค้า 50.00% รองลงมา คือ บริษัทไปรษณีย์ไทย 46.15%
แรงงานแบบไหน ที่ธุรกิจ e-Commerce ต้องการ
สำหรับ Hot Issue ด้าน Digital Workforce ที่ธุรกิจ e-Commerce ต้องการมากที่สุดคือ สาย Programmer & Developer/IT Support ทั้งใน SMEs และ Enterprises สูงสุด 20.5% และ 23.08% ขณะที่สายงานด้าน Social Media Administration ก็ติด Top 3 ที่ผู้ประกอบการต้องการเช่นกัน ซึ่งทุก ๆ ปี ไทยกลับมีเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ประมาณ 4-5 แสนคน และ 63% จบปริญญาตรีในสายสามัญ ขณะที่ตลาดต้องการแรงงาน Digital Workforce และหลังวิกฤต โควิด-19 นี้ คาดการณ์ Online จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงภาคการศึกษา ก็ต้องปรับ ขยับวิธีการเรียนการสอน (e-Learning) และมีหลักสูตรผลิตแรงงานรองรับเทรนด์ของธุรกิจดิจิทัล และ New Normal ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
ดาวน์โหลด รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2562
ดาวน์โหลด เอกสารการแถลงผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2562
ภาพรวมมูลค่า e-Commerce ในประเทศไทย ปี 2563 เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด New Normal ที่ทุกคนต้องเจอคือ Challenge & Opportunities ที่ผู้ซื้อ-ผู้ขายต้องปรับตัวไปพร้อมกัน
มูลค่า e-Commerce ไทย ปี 62 คาดพุ่ง 4.02 ล้านล้านบาท พร้อมครองแชมป์ B2C สูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน