TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์

Digital Law Documents
  • 25 ส.ค. 63
  • 64354

พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์

รู้มั้ยว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มีผลเท่ากับ กระดาษ ใช้ได้ทางกฎหมายมานานแล้ว จะเป็นหนังสือ จะเป็นลายเซ็น จะเป็นต้นฉบับ หรือต้องเป็นพยานหลักในศาล ก็ทำเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยกฎหมายฉบับนี้

ETA_1_S2_ETDA.jpg

กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) เป็นกฎหมายกลางที่รองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีผลผูกพันและใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

ETA_3_S2.jpg

หลักการพื้นฐานของ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ

กฎหมายฉบับนี้มีหลักการ คือ

  • หลักความเท่าเทียมกัน (Functional Equivalence) ระหว่าง “กระดาษ” และ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีผลทางกฎหมายเทียบเท่าการใช้กระดาษ
  • หลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technological Neutrality) ที่ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง แต่รองรับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ
  • หลักเสรีภาพการแสดงเจตนา (Party Autonomy) ของคู่สัญญา
ETA_5_S2.jpg

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายธุรกรรมฯ ได้มีหลักเกณฑ์รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น หากเกิดคดีความฟ้องร้องแล้วมีการขอหลักฐานต้นฉบับ กฎหมายก็จะระบุไว้ว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นฉบับต้องเป็นอย่างไร หรือในกรณีที่บางหน่วยงานมีข้อบังคับเรื่องการจัดเก็บเอกสารบางประเภทเป็นเวลาหลาย ๆ ปี กฎหมายก็จะระบุว่า วิธีการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายเป็นอย่างไร

ETA_1_S2_5.jpg

ต้นแบบของ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ

กฎหมายฉบับนี้ได้ยกร่างขึ้นตามแนวทางของกฎหมายแม่แบบที่จัดทำโดย UNCITRAL หรือคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law) ที่เป็นแนวทางซึ่งหลายประเทศยอมรับและนำมาใช้เป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายภายในของตนเช่นกัน เพื่อทำให้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ มีความสอดคล้องระหว่างกัน (Legal Harmonization) ไม่ว่าจะเป็น
  • กฎหมายแม่แบบว่าด้วยการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Model Law on Electronic Commerce 1996) ที่รองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
  • กฎหมายแม่แบบว่าด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Model Law on Electronic Signatures 2001) ที่รองรับสถานะทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
  • อนุสัญญาว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ (The United Nations Convention on the Use of Electronic Communications in International Contracts) ที่รองรับการทำสัญญาระหว่างประเทศในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้การทำสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีความครบถ้วนยิ่งขึ้น

กฎหมายหลายฉบับ ก็โยงมายัง พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ

เมื่อกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกฎหมายกลางที่รองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเสริมการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ทำให้เมื่อมีการปรับปรุงกระบวนการตามกฎหมายต่าง ๆ ให้ทำในแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ กฎหมายฉบับต่าง ๆ จึงได้เชื่อมโยงมายังกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสอดคล้องและความชัดเจน เช่น
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 “มาตรา 11 การดำเนินการทางศุลกากร ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกันกับการดำเนินการทางศุลกากรโดยเอกสาร ทั้งนี้ การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 “มาตรา 105 วรรคสอง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา การขยายระยะเวลา วิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยอาจกำหนดให้ยื่นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ การกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรูปแบบและวิธีการใช้อิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารได้ด้วย รวมทั้งให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวัน”
  • ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 “มาตรา 3 โสฬส การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรและการจัดทำเอกสารอื่นใดตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร จะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์”

ETA_1_S2_3.jpg

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอื่นจะไม่ได้เขียนโยงมายังกฎหมายธุรกรรมฯ เหมือนตัวอย่างกฎหมายข้างต้น แต่เราก็ยังสามารถนำกฎหมายธุรกรรมฯ ไปปรับใช้ได้เช่นกัน ติดตามได้ในตอนต่อไป

ดาวน์โหลด พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)

อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 1 
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 2
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 3
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 4

หมายเหตุ คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามบทความนี้ จัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น การจะปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ
 

จากปฐมบทของกฎหมายดิจิทัลในปี 2544 มีกฎหมายอะไรอีกบ้างที่ออกตามมา

20201013_Digital_law.jpg

"กฎหมายดิจิทัล" ได้ออกแบบมาให้ครอบคลุม ตั้งแต่เรื่อง "นโยบาย" "มาตรฐานและการอำนวยความสะดวก" ตลอดจน "ระบบนิเวศที่น่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย" โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ได้ดูแลในส่วน "มาตรฐานและการอำนวยความสะดวก" ผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ และ พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ

ด้านนโยบาย

เพื่อวางนโยบายและกำหนดทิศทางขับเคลื่อนเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยให้มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ด้านมาตรฐานและการอำนวยความสะดวก

เพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับหลักการของ UN e-Communication และรองรับสถานะทางกฎหมายของการใช้งานระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลหรือ Digital ID

เพื่อยกระดับการทำงานของ ETDA ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซ

หรือ พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีระบบการทำงานและข้อมูลเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ

ด้านระบบนิเวศที่น่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย

กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่ทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง ความผิดที่ใช้ข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินคดี

เพื่อกำหนดมาตรฐานในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล รักษาสิทธิ์ของเจ้าของข้อมูลและเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนานวัตกรรมการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง

เพื่อดูแลบริการที่มีความสำคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure) ให้สามารถป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้

ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ มีผลเท่ากับ กระดาษ

Rating :
Avg: 4.9 (9 ratings)