Digital Law
- 09 ต.ค. 63
-
21344
-
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 3
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แค่หมวด 1 ก็ครอบคลุมครบวงจรเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ทบทวนโครงสร้างกฎหมาย อะไรทำให้ครบวงจร
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ประกอบด้วย 7 หมวด คือ
- หมวด 1 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการทำธุรกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องต่าง ๆ
- หมวด 2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ รองรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้
- หมวด 3 ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการกำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญและมีผลกระทบวงกว้าง
- หมวด 3/1 ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รองรับให้บุคคลสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลได้ โดยมีกลไกการควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย
- หมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ รองรับการให้บริการภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
- หมวด 5 คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) รองรับการมีคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ
- หมวด 6 บทกำหนดโทษ กำหนดไว้สำหรับหมวดที่ 3 และหมวดที่ 3/1 ในส่วนธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเท่านั้น
เจาะหมวด 1 รองรับวงจรเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ภายใต้หมวด 1 ตั้งแต่มาตรา 7 ถึงมาตรา 25 ได้รองรับการทำธุรกรรมในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องต่าง ๆ โดยมีไฮไลต์ที่สำคัญคือ
- มาตรา 7 ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใด เพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
นั่นหมายถึง มาตรานี้ รองรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ไช้ได้แบบกระดาษ
มาตรา 8-12 ครบวงจรสำคัญ
- e-Document มาตรา 8 รองรับในเรื่อง ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง
- e-Signature มาตรา 9 รองรับในเรื่อง ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบทั่วไป ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 สำหรับวิธีการในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถใช้วิธีการอื่นใดหรือพยานหลักฐานอื่นประกอบ ในการระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อและการแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อ
- e-Original มาตรา 10 รองรับในเรื่อง เอกสารต้นฉบับ ซึ่งใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการรักษาความถูกต้องของข้อความตั้งแต่ข้อความเสร็จสมบูรณ์และสามารถแสดงข้อความนั้นภายหลังได้ โดยความถูกต้องให้พิจารณาถึงความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดของข้อความ เว้นแต่การรับรองหรือบันทึกเพิ่มเติม หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตามปกติในการติดต่อสื่อสาร การเก็บรักษา หรือการแสดงข้อความซึ่งไม่มีผลต่อความถูกต้องของข้อความนั้น
- นอกจากนี้ ยังรองรับการเปลี่ยนสื่อ ในมาตรา 10 วรรค 4 และมาตรา 12/1
- e-Archive มาตรา 12 รองรับ การเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- e-Evidence มาตรา 11 รองรับ การนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไปเป็นพยานหลักฐาน ในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด
มาตรา 13-24 รองรับวงจรเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
มาตรา 13-14 รองรับ ในด้าน
การแสดงเจตนา
- มาตรา 13 รองรับ คำเสนอ /คำสนองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำเสนอหรือคำสนองในการทำสัญญาอาจทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และห้ามมิให้ปฏิเสธการมีผลทางกฎหมายของสัญญาเพียงเพราะเหตุที่สัญญานั้นได้ทำคำเสนอหรือคำสนองเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- มาตรา 14 รองรับ การแสดงเจตนา /บอกกล่าวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในระหว่างผู้ส่งข้อมูลและผู้รับข้อมูล การแสดงเจตนาหรือคำบอกกล่าวอาจทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
มาตรา 15-24 รองรับ ในด้าน
การรับส่ง
- มาตรา 15 - มาตรา 21 รองรับ การส่ง – รับ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- มาตรา 22 รองรับ การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ถือว่าได้มีการส่งเมื่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น เมื่อได้เข้าสู่ระบบข้อมูลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ส่งข้อมูล
- มาตรา 23 รองรับ การรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล
- มาตรา 24 รองรับ สถานที่ส่ง - รับ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ให้ถือว่าได้ส่ง ณ ที่ทำการงานของผู้ส่งข้อมูล หรือได้รับ ณ ที่ทำการงานของผู้รับข้อมูล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏที่ทำการงานของผู้ส่งข้อมูลหรือผู้รับข้อมูล ให้ถือเอาถิ่นที่อยู่ปกติเป็นสถานที่ที่ส่งหรือได้รับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 25 วิธีการแบบปลอดภัย
มาตรา 25 รองรับ
วิธีการแบบปลอดภัย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าได้ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในมาตรา 9 โดยได้มีการออก
พระราชกฤษฎีกาวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ภายใต้ พ.ร.ฎ.นี้ ได้มีประกาศ 3 ฉบับออกมา คือ
ดาวน์โหลด พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 1
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 2
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 3
อ่านต่อ พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ เดอะซีรีส์ ตอนที่ 4
หมายเหตุ คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามบทความนี้ จัดทำขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ในการเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเท่านั้น การจะปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ตรวจสอบ และยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ
พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ แค่หมวด 1 ก็ครอบคลุมครบวงจรเอกสารอิเล็กทรอนิกส์