TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

ส่องนโยบายและกฎหมายแพลตฟอร์ม OTT รอบโลก 

Digital Law Documents
  • 20 ต.ค. 64
  • 2895

ส่องนโยบายและกฎหมายแพลตฟอร์ม OTT รอบโลก 

‘ทุกที่ทุกเวลา เลือกได้ตามใจปรารถนา’ คงเป็นคำจัดความที่ดีที่จะใช้เรียกแพลตฟอร์ม Over The Top หรือ OTT บริการนำเสนอเนื้อหาที่ขับเคลื่อนด้วย Digital Media Platform ซึ่งมีทั้งรูปแบบจ่ายค่าบริการรายเดือน/ รายปี เช่น เช่น Netflix, Disney+ และให้ดูฟรี แต่มีโฆษณา เช่น YouTube, LINE TV และที่ตามมาอีกหลายราย จนแทบเรียกได้ว่า แทนที่ Traditional Media Platform อย่างโทรทัศน์และวิทยุระบบ Analog ได้อย่างหมดจด ยิ่งด้วยคุณสมบัติที่ผู้ชมสามารถกจากจะเลือกรับชมได้ทุกเวลา ไม่จำกัดสถานที่ และเลือกเนื้อหาได้ตามใจ กลายเป็นเสน่ห์ของการให้บริการสื่อรูปแบบใหม่ที่ครองใจคนในยุคออนไลน์ แต่การเติบโตอย่างร้อนแรงของแพลตฟอร์ม OTT ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวงการสื่อไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเอง โดยเฉพาะในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจ การโฆษณา และสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งหลายประเทศมีการออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียม และคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้งาน 

statista
ฐานข้อมูลสถิติระดับโลกด้านข้อมูลการตลาดและผู้บริโภค คาดการณ์ว่าในปี 2564 รายได้ในอุตสาหกรรม OTT จะพุ่งสูงถึง 178,012​ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสูงถึง 275,530 ล้านดอลลาร์ในปี 2568 โดยเม็ดเงินเกินกว่าครึ่งมาจากการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม หรือ OTT Advertising  ซึ่งปัจจัยนี้เองเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายประเทศ กำลังเริ่มต้นพิจารณาหรือเริ่มต้นใช้มาตรการกำกับดูแลกิจการ OTT ทั้งในด้านเนื้อหาและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม 

สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการออกกฎระเบียบควบคุมแพลตฟอร์ม OTT อย่างเข้มข้น ยกตัวอย่างเช่น ในด้านเนื้อหาออกอากาศที่มีการโฆษณา มีการกำหนดห้ามสื่อสารหรือโฆษณาเชิงพาณิชย์ที่มีเนื้อหาสร้างอคติต่อเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา ส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ต้องไม่มีการโฆษณาเชิงพาณิชย์เกี่ยวกับบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ และไม่ส่งเสริมหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในกลุ่มเยาวชน รวมถึงต้องไม่สื่อสารโฆษณาที่จะก่อให้เกิดอันตรายทางกายและจิตใจ และต้องไม่ฉกฉวยโอกาสทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อจะให้เยาวชนซื้อหรือเช่าสินค้าและบริการใด ๆ จากความรู้ไม่เท่าทัน ซึ่งจากตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ยกมานั้น แสดงให้เห็นการออกกฎหมายเพื่อต้องการจะคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเป็นหลัก 

ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้เล่นต่างประเทศเข้ามามาก และมีการแข่งขันสูง ทำให้มีการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันแนวใหม่ และการส่งเสริมผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยยึดหลักการ ‘ควบคุมให้น้อยที่สุด-ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม-ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ’ ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมกิจการแพลตฟอร์มโดยตรง เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ  ระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากต่างชาติและผู้ให้บริการในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามได้มีการวางแผนยุทธศาตร์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน และเน้นส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการภายในประเทศด้วย เช่น การตั้งคณะกรรมการเนื้อหา OTT เพื่อความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจร่วมกันในระดับโลก (OTT Content Global Co-Prosperity Committee) รวมตัวแทนผู้ให้บริการและผู้ผลิตเนื้อหาจากในประเทศ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และกำหนดแนวทางการพัฒนาเนื้อหาสู่ตลาดโลก อีกทั้งรัฐบาลยังได้ให้งบสนับสนุนในการพัฒนาและผลิตเนื้อหาเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และมีมาตรการลดหย่อนภาษีอีกด้วย ด้วยมาตรการลักษณะนี้ทำให้เกาหลีใต้ส่งออกคอนเทนต์สู่สายตาชาวโลกเป็นจำนวนมากผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย รวมถึง Squid Game ละครซีรีส์ยอดนิยมบน Netflix อันเป็นกระแสในปัจจุบัน

ขณะที่บางประเทศนั้น มีการควบคุมแพลตฟอร์ม OTT น้อยมาก หรือไม่กำกับดูแลเลย ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ระดับโลกจำนวนมาก โดยกำหนดเพียงมาตรการดูแลและควบคุมด้านลิขสิทธิ์เนื้อหา ซึ่งเป็นกฎระเบียบเดียวกับที่ใช้ควบคุมกิจการโทรทัศน์ทั่วไป แต่ยังไม่มีการออกกฎควบคุมด้านความเหมาะสมของเนื้อหาที่นำเสนอ ทั้งนี้้เพราะสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Communication Act ซึ่งห้ามไม่ให้เซ็นเซอร์เนื้อหาที่ออกอากาศ รวมถึงการออกกฎหมายหรือมาตรการใด ๆ ที่จะขัดต่อหลักการ Freedom of Speech หรือเสรีภาพในการพูดและแสดงออก อย่างไรก็ตามในปี 2562 มีข้อเสนอให้สร้างกรอบกำกับดูแลใหม่ เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มคอนเทนต์ออนไลน์ แต่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (FCC) ปัดตกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นและเข้มงวดมากไป 

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT จำนวนมาก และกำลังเริ่มแนวคิดการดูแลเพิ่มเติม อีกทั้งกำลังมองถึงกลไกเพื่อสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มไทยให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต
___________________________________________

ดิจิทัลแพลตฟอร์มของคนไทยจะเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการหรือนโยบายอะไรที่ผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อควรทราบ หาคำตอบได้ใน Online Seminar ในหัวข้อ “Digital Video Platform Seminar 4D เผย 4 มิติดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า)​ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสื่อ มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นในมิติมุมมองที่หลากหลาย และร่วมเรียนรู้สถานการณ์อุตสาหกกรรมสื่อไทยจากผลกระทบของ Digital Video Streaming Platform แบบครบ 4 มิติทั้งด้านกว้าง ยาว ลึก และครบช่วงเวลา 

พบกันวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคมนี้ เวลา 13:00 - 17:30 น. 

ผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อรับชมงานใน Online Exclusive Platform ได้ทาง 
https://etda-4d-vdo-seminar.tlsx.co.th/th/register

ติดตามรายละเอียดงานได้ที่  https://etda-4d-vdo-seminar.tlsx.co.th/

มองทั่วโลกสู่ประเทศไทย กับการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียม และคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้งาน

Rating :
Avg: 5 (2 ratings)