Digital Trend
- 06 ต.ค. 64
-
1257
-
เมื่อออสเตรเลีย ‘ท้าชน’ แพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความเป็นธรรมให้สื่อท้องถิ่น
รัฐบาลทำอย่างไร ให้สื่อท้องถิ่นได้ “รายได้ที่ควรได้” จาก Digital Platform
ใครที่ติดตามสถานการณ์ของธุรกิจสื่อและธุรกิจดิจิทัล คงได้ทราบว่า ปัจจุบัน ออสเตรเลีย ได้มีการบังคับใช้กฎหมาย ‘News Media and Digital Platforms Mandatory Bargaining Code’ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อมาตรการการกำกับดูแลกิจการด้านดิจิทัล โดยกฎหมายฉบับนี้มีเพื่อควบคุม ‘ความไม่สมดุล’ ของอำนาจต่อรองระหว่าง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์กับกิจการสื่อภายในประเทศ เป็นผลให้เจ้าของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook และ Google จำเป็นต้องทำข้อตกลงทางธุรกิจกับกิจการสื่อท้องถิ่นในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย ‘ค่าข่าว’ หรือค่าคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของทั้งสอง ทั้งนี้ เพื่อกำกับดูแลการแข่งขันของแพลตฟอร์มออนไลน์ และสร้างความเป็นธรรมด้านรายได้ให้กับสื่อในประเทศ
สาเหตุหลักของการออกกฎหมายฉบับนี้ มาจากความไม่เป็นธรรมด้านรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์กับสื่อท้องถิ่นภายในประเทศออสเตรเลีย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ทำตัวเป็น ‘บรรณาธิการใหญ่’ จากการสำรวจโดย Reuter Institute ระบุว่า Facebook มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกรับข่าวสารของประชาชน เห็นได้ชัดจากสถิติของชาวออสเตรเลียกว่า 40% ที่ติดตามข่าวผ่านทาง Facebook แม้จะฟังดูเป็นแต้มต่อสำหรับสำนักงานข่าวหรือสื่อในออสเตรเลียที่เผยแพร่คอนเทนต์ผ่านช่องทางนี้ แต่ขณะเดียวกัน Facebook กลายเป็นบรรณาธิการข่าวที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกเนื้อหาสำหรับผู้บริโภค ซึ่งเกณฑ์ในการเลือกนั้นขึ้นกับเม็ดเงินในการซื้อโฆษณาก็มีส่วนอย่างปฏิเสธไม่ได้ กล่าวคือถ้าสำนักข่าวไหนจ่ายเงินให้ Facebook มาก ผู้คนก็จะเห็นเนื้อหาของสำนักข่าวนั้นมาก
และจากการตรวจสอบของคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) พบว่า ค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าโฆษณาดิจิทัลใน Google และ Facebook คิดเป็น 81% ของรายได้ที่สื่อรายใหญ่ได้รับ ซึ่งในปี 2562 Google และ Facebook ทำรายได้จากโฆษณาของสื่อในออสเตรเลีย 4.3 และ 0.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ทำให้เกิดความกังวลว่าแพลตฟอร์มเทคโนโลยีจะเข้ามาครอบงำวงการสื่อ และส่งผลให้สื่อรายย่อย หรือปลาตัวเล็กที่มีทุนน้อยกว่า จำต้องปิดกิจการลงไป จนกลายเป็นประเด็นโต้แย้งในการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ และนำไปสู่การร่างกฎหมายเสริมอำนาจต่อรองของธุรกิจสื่อในที่สุด (Media Bargaining regulation) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและป้องกันไม่ให้สื่อในออสเตรเลียถูกเอาเปรียบจากแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยใช้เวลาเพียง 8 เดือน นับตั้งแต่การร่างแนวคิดกฎหมายฉบับแรกเข้าพิจารณาในรัฐสภาไปจนถึงวันที่บังคับใช้
แน่นอนว่าการออกข้อกำหนดแบบนี้ทำให้ทั้งสองแพลตฟอร์มไม่พอใจ จนมีการตอบโต้อย่างรุนแรง เช่นในกรณีของ Facebook เลือกที่ตอบโต้ด้วยการประกาศปิดกั้นผู้ใช้งานในออสเตรเลีย จนทำให้ชาวออสเตรเลียไม่สามารถรับข่าวสารในแพลตฟอร์มได้ เช่นเดียวกันในรายของ Google ก็มีการขู่จะเอาเครื่องมือ search หรือเครื่องมือช่วยค้นหาออก แต่สุดท้ายหลังจากโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งคู่ก็ยอมถอยไปตั้งรับและเจรจาหาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
โดยสรุปแล้ว กฎหมาย News Media Bargaining Code คือการที่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook และ Google ต้องจ่ายเงินให้สํานักข่าว เมื่อมีการนําเนื้อหาข่าวของสํานักข่าวนั้นมาแสดงบนแพลตฟอร์มของตนเอง ซึ่งปัจจุบันข้อตกลงนี้ยังมีการใช้เฉพาะกับสื่อรายใหญ่เท่านั้น แต่ในอนาคต อาจมีการขยายข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสื่อรายเล็กด้วย
นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง ในฐานะกรณีศึกษาสำหรับการออกกฎหมายควบคุม และต่อรองอำนาจระหว่างรัฐกับแพลตฟอร์มออนไลน์
_______
นี่คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เราจะนำเสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสื่อและอุตสาหกรรม Digital Platform สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอเชิญทุกท่านร่วม Online Seminar ในหัวข้อ “Digital Video Platform Seminar 4D เผย 4 มิติดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” รวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสื่อ มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นในมิติมุมมองที่หลากหลาย และร่วมเรียนรู้สถานการณ์อุตสาหกกรรมสื่อไทยจากผลกระทบของ Digital Video Streaming Platform แบบครบ 4 มิติทั้งด้านกว้าง ยาว ลึก และครบช่วงเวลา
พบกันวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคมนี้ เวลา 13:00 - 17:00 น. ติดตามรายละเอียดงานและการลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ Facebook page ของ ETDA และ Event Partner เร็ว ๆ นี้
ดิจิทัลวิดีโอแพลตฟอร์มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย