Digital Trend
- 08 ก.ย. 66
-
612
-
ถอดรหัส 5 ไอเดีย สู่ นวัตกรรมบริการดิจิทัล เพื่อคนเมืองเชียงใหม่ให้ GOOD ยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้หลายๆ จังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ต่างมีปัญหาที่รอให้แก้ไขและพัฒนาไปร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความแออัดของเมือง ความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ ปัญหามลพิษทางอากาศ ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ จังหวัดที่เป็น Top Destination อย่าง “จังหวัดเชียงใหม่” หนึ่งในจังหวัดสำคัญของภาคเหนือที่หลายคนต่างรู้จัก เพราะเป็นแลนด์มาร์คยอดนิยมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวในแต่ละปีได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แต่ใครวันนี้จังหวัดเชียงใหม่กลับพบปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในเรื่องของสุขภาวะ จากฝุ่น PM 2.5 ปัญหาด้านความสะอาดของแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนปัญหาเรื่องสุขภาพ จนอาจกระทบต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นต้น
นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ เมื่อเร็วๆ นี้ ETDA พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์ภาครัฐ เอกชน ตลอดจนหน่วยงานท้องถิ่น ในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (SMID) และ เทคซอส มีเดีย เดินหน้าจัดกิจกรรม “Hack for Good Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรม ระบบ บริการ หรือเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเข้ามายกระดับและช่วยแก้ปัญหาชีวิตของคนเมืองให้ GOOD D D ยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนวันนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วว่า มีนวัตกรรม บริการดิจิทัล ไหนบ้างที่คว้าความเป็นสุดยอดจากเวทีการแข่งขันครั้งนี้ไปครอง และเพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับบริการสุดว้าวจากทุกทีมผู้ชนะ เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก พร้อมถอดรหัส 5 ไอเดีย สู่ นวัตกรรม บริการดิจิทัล เพื่อคนเมืองเชียงใหม่ให้ GOOD ยิ่งขึ้น ที่สำคัญเราเองก็สามารถนำมาใช้งานได้ด้วย ว่าแล้วไปดูกัน !!
Smile Migraine: แอปฯ เพื่อคนปวดหัวไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรน ถือเป็นอาการยอดฮิตที่พบได้ทุกวัย แต่พบมากและฮิตสุดๆ คือ กลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งสาเหตุของอาการปวดในแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันออกไป อย่าง อาการปวดศีรษะไมเกรนของคนเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เกิดากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 เป็นสำคัญ จนนำมาสู่ความเครียดและอาการปวดศีรษะตามมา ซึ่งจากการศึกษาเกี่ยวกับไมเกรนอย่างจริงจัง ของ ทีม Smile Migraine พบว่า วันนี้ คนไทยปวดศีรษะไมเกรนแล้วกว่า 10 ล้านคน และมีข้อน่ากังวลคือ ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา สาเหตุมาจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในการดูแลรักษาตัวเอง ทั้งการกินยาที่ผิดวิธีจนอาจนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆ ตามมา อีกทั้งแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ทีม Smile Migraine จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Smile Migraine” ภายใต้แนวคิด “Connect the Dots” เชื่อมโยงทุกองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ ข้อมูล และ Community ของคนที่ปวดศีรษะไมเกรน ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไมเกรนได้รับการรักษาได้อย่างถูกจุด รวมไปถึงมีแนวทางในการดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี ผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และผู้มีประสบการณ์ที่มาร่วมแชร์วิธีการรักษาและการดูแลตนเองในแอปฯ นี้ เพื่อให้ผู้ป่วยไมเกรนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และไม่ต้องทนกับอาการปวดศีรษะเรื้อรังอีกต่อไป ที่สำคัญ แอปฯ นี้ ยังเปิดขยายโอกาสในการดูแลรักษาไปยังผู้ป่วยไมเกรน ในพื้นที่ห่างไกล เช่น บนภูเขา บนดอย อีกด้วย
แอปพลิเคชัน Smile Migraine มีจุดเด่นคือ การเชื่อมต่อโรคไมเกรนกับผู้ป่วย ที่ผู้ป่วยสามารถรู้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและอาการปวดไมเกรนของตนเองได้ ถัดมาคือการเชื่อมต่อผู้ป่วยกับทีมแพทย์ ที่สามารถพูดคุยและทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้โดยตรงผ่านแอปฯนี้ การเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนด้วยกันเอง เพื่อสร้างเป็น Community ของคนปวดศีรษะไมเกรน ที่จะได้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ทั้งการแนะนำวิธีการดูแลตัวเองในฉบับของแต่ละคน ไปจนถึงการพูดคุยแสดงความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และเชื่อมต่อข้อมูลบันทึกการรักษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น
อนาคต ทีม Smile Migraine ตั้งใจจะพัฒนานำเทคโนโลยีมาต่อยอดเป็น “Wearable Device” หรืออุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถวัดค่าต่างๆ ในการช่วยควบคุมและรักษาโรคไมเกรนให้ดีขึ้น พร้อมขยายการให้บริการไปทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกจังหวัดเป็น “Migraine Free Zone” หรือพื้นที่ที่มีแต่ความสงบ ปราศจากโรคไมเกรน พร้อมทิ้งท้ายแนะ 3 แนวคิดการทำงานสำคัญ ‘Passion-Business Process-Team (Ecosystem)’ แก่ผู้ผลิตเจ้าของนวัตกรรมทุกคน ต้องเริ่มสร้างแรงบันดาลใจ เซตเป้าหมายที่ต้องการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาให้ชัดเจน พร้อมแผนธุรกิจในการบริหารผลิตภัณฑ์หรือการบริการให้เกิดความยั่งยืน และตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือการบริหารทีม ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะทีมของตนเอง แต่ต้องนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมาทำงานร่วมมือกันแก้ปัญหาให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่ดีด้วย
Dietz Telemedicine: ระบบการแพทย์ทางไกลแบบครบวงจร อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงการรักษาได้
เพราะมองเห็นปัญหาหลายๆ ประเด็น ทั้ง ปัญหาคนไข้ล้น เตียงไม่พอ แพทย์ พยาบาล มีจำนวนจำกัด ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลรัฐ ที่เคยมีในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งตอนนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น จนอาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สภาพเเวดล้อมในโรงพยาบาลของรัฐ มีความแออัดมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้การให้บริการเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐกว่า 90% โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องพึ่งพาสวัสดิการการรักษาจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ 30 บาท สิทธิประกันสังคม อีกทั้งกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง เพื่อเข้ามารับรักษาในเมืองทุกๆ ครั้ง อีกทั้ง ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่มีแม้กระทั่งค่าเดินทาง จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางมารับการรักษา รับยา ตามนัดได้ และขาดความต่อเนื่องในการรักษา จึงเป็นที่มาพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลแบบครบวงจร ที่ชื่อว่า Dietz Telemedicine Station ขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแล รักษา จากแพทย์ในโรงพยาบาลได้ ทุกที่ทุกเวลา สะดวกและรวดเร็ว ในรูปแบบการแพทย์ทางไกล ได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้แนวคิด “Empathy” หรือ ความเข้าอกเข้าใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ทั้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ ไปจนถึงนักกายภาพ ที่แต่ละกลุ่มต่างมีความต้องการในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ป่วย ต้องการการรักษาที่รวดเร็ว ใช้บริการง่าย สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไกลๆ เพื่อมาพบแพทย์ ที่ส่วนใหญ่กว่าจะได้พบแพทย์ก็ต้องรอนานหลายชั่วโมง ขณะที่ บุคลากรทางการแพทย์ ต้องการระบบที่เข้ามาช่วยให้การให้บริการและการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากในแต่ละเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดภาระงานที่ไม่จำเป็น และสามรถให้บริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ลดความแออัดของโรงพยาบาล เป็นต้น
โดย Dietz Telemedicine อยู่ระหว่างการร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล ร่วมกับทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งโรงพยาบาลนี้ สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 1.5 ล้านครั้งต่อปี จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในเมืองเชียงใหม่ ที่มีปริมาณของการใช้บริการทางการแพทย์ 6.5 ล้านครั้งต่อปี ก่อนเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ในส่วนของพื้นที่เทศบาลต่างๆ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) สถานีอนามัยในเมืองเชียงใหม่ ที่มีกว่า 279 แห่ง เพื่อให้คนเมืองเชียงใหม่ได้ถึงการดูแลรักษาที่ดีขึ้น พร้อมเดินหน้าต่อยอดไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าภายในปี 2566 ระบบ Dietz Telemedicine จะต้องมีการเชื่อมต่อบริการกับโรงพยาบาลรัฐไม่น้อยกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดจะมีผู้ป่วยได้เข้าใช้บริการการแพทย์ทางไกลผ่านระบบนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 1,000,000 คน จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานเข้าถึงการรักษาผ่าน Dietz Telemedicine แล้วกว่า 200,000 คน
Talk to Peach: แอปฯ ปรึกษาสุขภาพทางเพศ พบผู้เชี่ยวชาญสบายใจ ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
จาก Insight พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ค่อยกล้าพูดคุยเรื่องเพศแบบเปิดเผย เพราะเชื่อว่า การพูดคุยเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ดูไม่ค่อยเหมาะสม เป็นเรื่องที่ไม่ควรเปิดเผย จึงทำให้เกิดความเขินอาย ทั้งๆ ที่ปัญหาเรื่องเพศดังกล่าว ถือเป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรืออายุเท่าไร ต่างก็ประสบปัญหาเรื่องนี้ไม่ต่างกัน อีกทั้งตอนนี้จำนวนคลินิกสุขภาพทางเพศในไทยมีจำนวนไม่มากนัก และไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่โรงพยาบาลที่ให้บริการด้านนี้ กว่าจะได้เข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที ก็ต้องจองรอคิวนานหลายวัน หรือ หลายเดือนเลยก็ได้ นอกจากนี้ จากการค้นข้อมูลใน Google Trend ของทีม Talk to Peach พบว่า คนเชียงใหม่ค้นหาเรื่องเพศมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง จากทั้งหมด 77 จังหวัด ซึ่งมีจำนวนการค้นหามากกว่าเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นที่มาในการพัฒนาแอปพลิเคชัน Talk to Peach เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพทางเพศ สามารถเข้าถึงการปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศได้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสบายใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน
แอปพลิเคชัน Talk to Peach ได้เริ่มเปิดให้บริการแล้ว โดยมีจุดแข็งคือ “Expertise” หรือความเชี่ยวชาญ เนื่องจากทีมงานที่มาทำงานขับเคลื่อนแอปฯ นี้ ร่วมกันล้วนเชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพทางเพศ เช่น นักเพศวิทยา คุณหมอสูตินรีเวช ที่สามารถให้คำปรึกษาและสามารถรักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศได้ ขณะเดียวกันด้วยความเชี่ยวชาญ ยังทำให้เจาะข้อมูลอินไซต์กลุ่มเป้าหมายที่มาใช้บริการได้อย่างลึกซึ้ง แบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มเพศชายหญิง อายุ 15-40 ปี มักกังวลเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 2. กลุ่มคู่สมรส จะมีปัญหาเรื่องความต้องการทางเพศที่ไม่เท่ากัน และ 3. กลุ่มคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ต้องการคนที่คอยให้คำปรึกษา แต่มีปัญหาข้อจำกัดในเรื่องของภาษา อาจทำให้เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลยาก ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทีมงานยังมีผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจคอยวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อพัฒนาการให้บริการแอปพลิเคชัน Talk to Peach โดยเพิ่มการให้บริการช่องทางออฟไลน์คู่ออนไลน์ ด้วยการเปิดคลินิกชื่อ Peach Clinic ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพเพศโดยเฉพาะ ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การรักษา ตลอดจนการทำหัตถการต่างๆ และแผนอนาคตจะขยายธุรกิจในรูปแบบ Medicine Delivery คิดค้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพศโดยเฉพาะ เพื่อให้คนเชียงใหม่ที่ประสบปัญหาด้านนี้ สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีคุณภาพและเกิดความสบายใจ
Kaset Market: แพลตฟอร์มที่ทำให้ร้านอาหารเข้าถึงวัตถุดิบปลอดสารได้จากผู้ผลิตโดยตรง
นอกจาก ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อความเครียดของคนเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นอีกสาเหตุหลักของการเกิดสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร และในอาหารมากกว่า 70% ยังพบสารปนเปื้อน อันเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีในการเกษตร เพื่อเร่งการเติบโต ให้ได้ผลผลิตทันการจัดจำหน่ายหรือส่งออก ซึ่งหากไม่รีบแก้ปัญหาเหล่านี้ อนาคตอาจเห็นจำนวนตัวเลขของคนเชียงใหม่เป็นโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ นอกจากนี้จังหวัดเชียงใหม่ยังมีจำนวน เศศอาหาร หรือ Food Waste มากกว่า 140 ตันต่อวัน หากลองคำนวณรายปี จำนวนที่ออกมาถือว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นแพลตฟอร์ม Kaset Market ที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง ระหว่าง ผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้สามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี ได้จากผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์โดยตรง
ทีม Kaset Market เผยว่า การเปลี่ยนแปลง Mindset ของกลุ่มเกษตรกรให้หันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ คือความสำเร็จอีกขั้นของทีม ที่จากเดิมส่วนใหญ่ใช้สารเคมีในการผลิตวัตถุดิบเพื่อเร่งการผลิต ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว พร้อมชี้แนะถึงข้อดีของการทำเกษตรไร้สารเคมี สู่การต่อยอดจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ลูกหลานไม่ต้องเจ็บป่วยต่อไปในอนาคต แผนต่อไปของทีมคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน และขยายฐานกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกิดการ Mass Adoption ให้เร็วที่สุด ควบคู่กับการพัฒนาสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด
ทีม We Chef Food Truck Platform: แพลตฟอร์มเพื่อธุรกิจ Food Truck สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ช่องทางพื้นที่การค้าขายเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการดูแลและส่งเสริม ไม่แพ้เรื่องคุณภาพอาหารเช่นกัน จากการศึกษา ระบบนิเวศ Food Truck ไทยของ ทีม We Chef Food Truck พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มนี้ อย่าง พ่อค้าแม่ค้า มีช่องทางการค้าขายที่ค่อนข้างจำกัด อีกทั้งยังพบปัญหาการสื่อสาร ไม่รู้ว่ามีกิจกรรม Food Truck มีที่ไหนบ้าง และไม่ได้รับการติดต่อจาก Organizer ทำให้เกิดการขาดรายได้จำนวนมาก จากปัญหาดังกล่าว จึงจุดไอเดียสู่การคิดค้นแพลตฟอร์ม We Chef Food Truck เพื่อช่วยบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการขายอาหารให้กับธุรกิจ Food Truck ไทย โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างเจ้าของพื้นที่ เช่น ปั้มน้ำมัน หรือพื้นที่อื่นๆ เชื่อมต่อกับผู้ประกอบการหรือพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงเพิ่มฟังก์ชัน Booking ในระบบให้พ่อค้า แม่ค้า สามารถเลือกจองพื้นที่ที่ต้องการขาย และไม่ต้องกังวลเรื่องของการขาดรายได้
ขณะที่พื้นที่ทำเลทองของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้กำหนดอยู่แค่ย่านดาวน์ทาวน์หรือนิมมานเท่านั้น โดยเฉพาะพื้นที่รอบนอกตัวเมืองเชียงใหม่เท่านั้น แต่พื้นที่บริเวณรอบหมู่บ้านจัดสรรนั้นค่อนข้างมีความน่าสนใจ และในอนาคตคาดว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของหมู่บ้านจัดสรรจะสูงขึ้นอีกต่อเนื่อง ดังนั้น การนำรถ Food Truck ไปเสิร์ฟถึงที่ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้าน จึงเป็นหนึ่งแนวทางการ
ต่อยอดที่มีความเป็นไปได้ และสามารถทำให้ผู้ประกอบการ Food Truck ในจังหวัดเชียงใหม่ ขยายช่องทางการขายได้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายใหญ่ต่อไปของทีมคือ การทำให้ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก สามารถนำแพลตฟอร์มไปบุกต่างประเทศได้อย่างจริงจัง รวมทั้งจะต่อยอดธุรกิจด้าน Service ให้ครอบคลุมมากกว่า Food Truck เช่น Salon Truck บริการเสริมสวย หรือ Grooming Truck บริการตัดแต่งขนสุนัข เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับคนไทยผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
นี่คือตัวอย่างสุดยอดไอเดียผู้ชนะทั้ง 5 ทีม จากกิจกรรม “Hack for Good Well-Being Creation นวัตกรรมดี เมืองดี ชีวิตดี” ของ ETDA ี่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและยกระดับชีวิตที่ไม่จำกัดแค่คนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ แต่ยังพร้อมสู่การต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย ทำให้เราได้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อีกขั้น ซึ่งนอกจากกิจกรรมนี้แล้ว ETDA เรายังมีกิจกรรมดีๆ ที่จะช่วยส่งเสริมทั้ง Service provider, Startup และ SMEs ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจให้มากกว่าที่เคย ติดตามได้ที่ ETDA Thailand