TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

เปิดสเต็ป ปลุกสติ ชั่งใจก่อนโอน รู้ทันกลโกง ‘โจรไซเบอร์’ รับปีมังกรทอง

Digital Trend Documents
  • 27 ธ.ค. 66
  • 1296

เปิดสเต็ป ปลุกสติ ชั่งใจก่อนโอน รู้ทันกลโกง ‘โจรไซเบอร์’ รับปีมังกรทอง

ปัญหาภัยออนไลน์ ถูกหลอกให้โอนเงินโดยเหล่าโจรไซเบอร์เกิดขึ้นรายวันและอยู่ใกล้รอบตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 พบ มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความผ่านช่องทางต่างๆ รวมแล้วกว่า 531,109 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นคดีออนไลน์กว่า 302,836 ครั้ง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 41 ล้านบาท จากการถูกหลอกลวงและการฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Romance Scam หลอกให้รักแล้วโอนและลงทุน, แก๊งค์คอลเซนเตอร์ ที่ปลอมว่าตัวเองมาจากองค์กรที่มีชื่อเสียง หรือเป็นที่รู้จัก, SMS หลอกให้คลิกลิงก์ปลอม, หลอกให้กู้เงินออนไลน์, หลอกทำงานเสริมทางออนไลน์, ปลอมหรือแฮกบัญชีผู้ใช้งาน รวมไปถึง พนันออนไลน์ เป็นต้น

ที่สำคัญกว่าเราจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ก็สูญเงินไปแล้ว ซ้ำร้ายไปอีก ผู้เสียหายจะรู้สึกว่า พอจะเอาผิดโจรไซเบอร์เหล่านี้ก็ทำได้ยาก เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักมีฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านหรือแถบชายแดน ในวันที่เหล่าโจรไซเบอร์ที่มาพร้อมสารพัดกลโกงระบาดหนัก! เราจะรู้ทันและเอาตัวรอดได้อย่างไร? วันนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จะพาทุกคนไปเปิดสเต็ป ปลุกสติ ชั่งใจก่อนโอน รู้ทันกลโกง ‘โจรไซเบอร์’ รับปีมังกรทอง เริ่มเลย….

Banner-02.jpg

5 อันดับมุขยอดนิยมของ “โจรไซเบอร์”
อดีตอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับ ‘romance scam’ หลอกให้รักโดยการใช้รูปโปรไฟล์โซเชียลมีเดียปลอม ทำทีเข้ามาตีสนิท สุดท้ายก็มาหลอกขอยืมเงินบ้างล่ะ หลอกให้โอนเงินบ้างล่ะ แต่ปัจจุบันรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพถูกพัฒนา เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แต่ที่ดูเหมือนจะฮิตติดลมบนและมักถูกหลอกเป็นอันดับต้นๆ จนติด Top 5 กลโกงที่เหยื่อผู้เสียหายแจ้งความเข้ามาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่สุด ได้แก่

  1. หลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ ที่โอนเงินแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า ไปจนถึงได้รับสินค้าไม่ตรงปกตามที่สั่ง พอคนซื้อทวงถาม คนขายก็หายเงียบ เผลอๆ ปิดเฟซ บล็อคข้อความไปเลยก็มี
  2. หลอกโอนเงินเพื่อแลกกับการได้งาน อีกกลลวงสุดฮิต พบมากตั้งแต่ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา เพราะในช่วงนั้น เป็นช่วงที่คนว่างงาน ตกงานเยอะ  มิจฉาชีพจึงอาศัยช่องโหว่หลอกให้ทำงานง่ายๆ ทางออนไลน์ รายได้ดี หลายร้อยบาทต่อวัน แต่มีเงื่อนไข คือ จะต้องเติมเงินเข้าระบบก่อน เพื่อเปิดระบบงาน และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่สามารถถอนเงินออกมาได้
  3. หลอกให้กู้เงิน กรณีนี้มักมุ่งไปยังผู้มีปัญหาทางการเงิน อาจจะมาจากระบบ SMS ที่ส่งแบบหว่าน หรือ จากความตั้งใจของผู้ตกเป็นเหยื่อเองที่ต้องการกู้ยืมเงินเอง รูปแบบของการหลอกคือให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกดเข้าไปในลิงค์สำหรับกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นจะมีวิธีล่อให้ผู้ที่เป็นเหยื่อโอนเงินไปก่อนเพื่อเป็นเครดิต จากนั้นเหยื่อก็จะไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้ เสียทั้งความหวัง เสียทั้งเงินที่มี
  4. หลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพมักจะหวังเงินก้อนใหญ่จากการหลอกลวงในรูปแบบนี้ โดยการหลอกให้ลงทุนจะมีทั้งลงทุนในหุ้น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล รูปแบบในการหลอกลวงมีได้ตั้งแต่การสร้างความเชื่อใจผ่านคนใกล้ตัว หรือวิธีที่นิยมในตอนนี้คือการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อการเทรดโดยเฉพาะ
  5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์เพื่อรีดทรัพย์ เป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นกรณีที่มักจะถูกหลอกให้เสียทรัพย์ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้บ่อยไม่เว้นแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้

Banner-03.jpg

เปิดสเต็ปกลลวง รู้ก่อน ไม่ถูกหลอก
จากหลากหลายรูปแบบกลลวง สารพัดมุขเด็ดสุดแนบเนียนที่เหล่าโจรไซเบอร์ นำมาใช้หลอกดูดเงินจากเรานั้น หากสังเกตดีๆ แล้วค่อยๆ ถอดสูตรกลลวงเหล่านี้ จะเห็นว่า แต่ละรูปแบบ แต่ละประเภทที่มิจฉาชีพมักใช้หลอก มี “จุดร่วมของสเต็ปกลลวง” ที่น่าจับตา เรียกว่า ถ้าเรารู้ก่อน เราก็จะเอ๊ะ ชั่งใจมากขึ้น เพื่อไม่ให้หลงเชื่อมิจฉาชีพ  ดังนี้ 

  1. เน้นสร้างความน่าเชื่อ : โดยทำที แอบอ้างว่าตนเองมีหน้าที่การงานดี มีฐานะหรือมาจากองค์กรใหญ่ หน่วยงานราชการ มีตำแหน่งหน้าที่การงานอยู่ในระดับสูง เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ เกรงกลัว เกรงใจ บางครั้งถึงขั้นบอกข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เพื่อทำให้เหยื่อตายใจและเชื่อจริงๆ ว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ
  2. เร่งเร้า เร่งรัด เร่งรีบ : มิจฉาชีพมักอาศัยการสร้างประเด็นที่สำคัญ และมักจะเร่งรัดผู้ที่จะตกเป็นเหยื่อด้วยความเร่งรีบ เช่น การหลอกให้กรอกข้อมูลทันที, การหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันโดยทันที เป็นต้น เมื่อประกอบกับการสร้างความน่าเชื่อถือข้างต้นแล้ว จะยิ่งที่ให้ผู้ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อคล้อยตามได้ง่าย
  3. มุ่งประสงค์ต่อเงินเป็นหลัก : เป้าหมายหลักของกลุ่มมิจฉาชีพก็คือ ‘เงิน’ ดังนั้น จงจำไว้ว่า หากการสนทนากับคนแปลกหน้าที่เราแทบไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ ของเขา แล้วเกิดการพูดคุยที่ชักจูงไปในประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ หรือชวนทำเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ให้ช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ก่อน ชวนเล่นหุ้น เทรดทอง โดยอ้างเรื่องของรายได้ที่จะตามมา เพื่อมาจูงใจ หรือพูดคุยแล้วให้เราโหลดแอปพลิชัน สามารถตั้งข้อสงสัยได้เลยว่า คุณกำลังเข้าสู่กลลวงของมิจฉาชีพ ที่อาจนำไปสู่การสูญเงิน

Banner-04.jpg

“3 เอ๊ะ” สูตรป้องกันภัย  ‘โจรไซเบอร์’
            เพราะถูกหลอกไม่ใช่แค่เจ็บใจ เสียความรู้สึก หรือสูญเงินเพียงไม่กี่บาท แต่เชื่อหรือไม่ว่า การถูกหลอกแต่ละ มีหลายรายเลยที่แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว บางรายแทบคิดสั้นถึงขั้นฆ่าตัวตาย  ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนไม่เสี่ยงต่อการต้องตกเป็นเหยื่อของเหล่าโจรไซเบอร์ ETDA จึงขอแนะนำ “3 เอ๊ะ” สูตรป้องกันภัย จาก  ‘โจรไซเบอร์’ มีอะไรบ้างไปดูกันเลย…          

  1. ‘เอ๊ะก่อนเชื่อ’ เมื่อได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อเชิญชวน ชักจูง ให้เราต้องทำธุรกรรมใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องเอ๊ะก่อนเชื่อ รีบตัดสายทันที และอย่ากดลิงก์ หรือติดตั้งแอปฯ โดยเด็ดขาด อยากให้ลองเช็คโดยติดต่อไปที่เบอร์กลางที่น่าเชื่อถือของหน่วยงานที่แอบอ้างนั้นด้วยตนเองก็จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยตรวจสอบก่อนได้
  2. ‘เอ๊ะก่อนซื้อ’ ในกรณีการซื้อสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตามขอให้ตั้งข้อสังเกต และตรวจทานให้ดีว่าช่องทางนั้นๆ น่าไว้ใจมากเพียงใด เป็นผู้ขายที่ได้รับการยืนยันตัวตนหรือการันตีจากแพลตฟอร์มหรือไม่ รีวิวจากผู้ซื้อก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ต้องตรวจให้มั่นใจ ก่อนตัดสินใจกดสั่งซื้อ
  3. ‘เอ๊ะก่อนโอน’ เมื่อลองตรวจสอบสินค้าและบริการจนแน่ใจ สิ่งสุดท้ายที่เรียกว่าจะพลาดไม่ได้คือ เราต้องเอ๊ะก่อนโอน ง่ายๆ คืออย่าโอนเงินโดยทันที! แต่ต้องเอ๊ะก่อนว่า บัญชีที่เรากำลังโอนไปนั้น เป็นบัญชีของ “มิจฉาชีพหรือบัญชีม้า” หรือไม่ โดยเราสามารถเข้าไปเช็คชื่อบัญชีว่ามีประวัติการโกงที่เราอาจเสียงจะถูกหลอกซ้ำได้ผ่านเว็บไซต์ www.blacklistseller.com หรือเว็บ https://www.chaladohn.com/

Banner-05.jpg

ตกหลุมพราง ‘โจรไซเบอร์’ เข้าแล้ว ต้องทำไง
            ใครที่ระวังแล้วแต่ก็ไม่วาย ตกหลุมพราง ตกเป็นเหยื่อเหล่าโจรไซเบอร์ อย่าฟูมฟายเสียใจไป ต้องเร่งตั้งสติ ในกรณีที่คุณตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตแล้ว อย่าเพิ่งสิ้นหวัง หรือลนลาน ETDA มีแนวทางที่จะช่วยให้คุณตั้งรับเมื่อคุณพลาด ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้

  1. รีบตัดการติดต่อกับโจรในทุกช่องทางให้เร็วที่สุด เช่น หากถูกหลอกผ่านทางโทรศัพท์ ให้รีบตัดสาย รีบหยุดการให้ข้อมูล แต่หากมาในรูปแบบการกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน ให้รีบออกจากหน้าเว็บไซต์นั้น หรือลบแอปพลิเคชัน (Uninstall) ออกจากมือถือของเราทันที เพื่อป้องกันไม่ให้โจรไซเบอร์แฮกหรือเข้าถึงข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือของเราได้ เพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้ลุกลาม
  2. ติดต่อธนาคารบัญชีของเรา เพื่อแจ้งอายัดเงินในบัญชีของเราและอายัดบัญชีปลายทางที่เราโอนเงินไปชั่วคราวเป็นเวลา 72 ชั่วโมง โดยธนาคารจะออกเลข ‘Bank Case ID’ ให้เราเพื่อใช้ในการแจ้งความดำเนินคดีภายใน 72 ชั่วโมง
  3. รีบรวบรวมหลักฐาน แคปหน้าจอ ประวัติการสนทนา สลิปการโอน แอปพลิเคชันที่เราถูกหลอก ทั้งหมด พร้อม ‘Bank Case ID’ ที่ สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ https://thaipoliceonline.com
  4. แต่ถ้าไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน หรือ อยากได้คำปรึกษา ชี้แนะเพิ่มเติม ง่ายๆ แค่ติดต่อมาที่ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA  ที่จะคอยให้คำปรึกษา เป็นเพื่อนคู่คิด และช่วยประสานส่งต่อ ไปยังหน่วยงานที่้เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณได้รับการช่วยเหลือได้เร็วที่สุด
  5. รีบป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย แจ้งชื่อ หมายเลขบัญชี รายละเอียดของโจรไซเบอร์ ที่เว็บ www.blacklistseller.com หรือเว็บ https://www.chaladohn.com/ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียง เตือนคนอื่น ไม่ให้เสี่ยงต่อการถูกหลอก ถูกโกง และตกเป็นเหยื่อรายต่อไปอีก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสเต็ปปลุกสติ ที่ ETDA รวบรวมมาไว้เพื่อให้เราทุกคนได้รู้ทันกลลวง                    โจรไซเบอร์ ซึ่งต้องย้ำเลยว่า ในวันที่…ชีวิตเราก้าวสู่โลกออนไลน์ง่ายแสนง่าย แค่ปลายนิ้ว นอกจากการรู้เท่าทันแล้ว สิ่งสำคัญ คือ เราต้องมีสติ ชั่งใจ และต้องเอ๊ะในทุกเรื่องที่เข้ามา อย่าเชื่อแค่ สิ่งที่ได้เห็น หรือ ได้ยินเท่านั้น แต่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วน และต้องคอยอัปเดตติดตามข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกลโกงของเหล่าโจรไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เรารู้เท่าทันสถานการณ์  ลดโอกาสเสี่ยง ที่จะเป็นเป็นเหยื่อรายต่อไป

Rating :
Avg: 4 (4 ratings)