TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน วัยเก๋า วัยใส พาสินค้าชุมชน Go Online

e-Commerce Documents
  • 02 พ.ย. 63
  • 1176

e-Commerce เพื่อชุมชน ตอน วัยเก๋า วัยใส พาสินค้าชุมชน Go Online

          บ้านหนองห้า ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติและป่าเขาที่สวยงาม คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ปลูกพืชผัก ทำไร่ทำสวน ทำให้ในหนึ่งปีมีช่วงเวลาว่างหลังหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่ง สาย แก้วกันทา สมาชิกในชุมชนเล็งเห็นว่า คงจะดีไม่น้อยหากสามารถหาอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนในช่วงเวลาว่างนี้ได้
          เมื่อเกิดไอเดียขึ้น สาย จึงเริ่มสังเกตสิ่งที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำได้และชำนาญ เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาอาชีพ จนกระทั่งพบว่าสิ่งนั้นคือ “การทอผ้าซิ่นน่าน” ที่คนในชุมชนส่วนใหญ่มักทอเป็นประจำเพื่อสวมใส่อยู่แล้ว สาย จึงได้ริเริ่มชักชวนคนในชุมชนจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้น เมื่อปี 2542 ตอนนั้นชุมชนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดมากมาย เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดน่าน สนับสนุนงบประมาณด้านวัสดุอุปกรณ์ องค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ สนับสนุนงบประมาณด้านวิทยากรให้ความรู้เรื่องการคิดค้นลวดลายผ้าซิ่นทอของชุมชน
 

CHK_0584.jpg(โรงทอผ้าประจำกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองห้า)
 
การบริหารจัดการของกลุ่มทอผ้าในช่วงเริ่มต้นเป็นการแยกกันทอผ้าที่บ้านของสมาชิกแต่ละคน และนำผ้าทอที่ได้มารวมที่กลุ่มเพื่อนำไปขายตามงานเทศกาลต่าง ๆ จนกระทั่งปี 2559 ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ โครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว ให้แก่ชุมชนบ้านหนองห้า จนเกิดเป็นการรวมกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองห้าขึ้นอย่างเป็นทางการ มีการจัดสร้างโรงทอผ้าบริเวณพื้นที่อเนกประสงค์ของชุมชนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก เพื่อให้การทอผ้ามีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมคุณภาพการทอได้ดียิ่งขึ้น จนผ้าทอของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองห้าเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย
 

จากความสำเร็จของ “แม่” สู่การต่อยอดของ “ลูก”

          กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองห้า กลายเป็นกลุ่มพัฒนาอาชีพตัวอย่าง ที่มีผู้มาศึกษาดูงานมากมาย ทั้งในแง่การบริหารจัดการกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ และในแง่ของความสำเร็จด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนที่สามารถสร้างรายได้จากการทอผ้าจากอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลักได้
 

“ที่กลุ่มเรา ถ้าใครอยากเข้ามาเรียนทอผ้า เราจะสอนให้หมดเลย
ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนขึ้นกี่ทอผ้าออกมาเป็นผืนเลย
เพราะเราอยากให้คนมีรายได้และอยากสืบสานวัฒนธรรมบ้านเราด้วย”

- สาย กล่าว

IMG_1190.JPG(มีธรรม ณ ระนอง ผู้เชี่ยวชาญ และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA
พร้อมทั้ง สุภาสินี และ ณัฎฐณิชา แก้วกันทา ตัวแทนผู้ดูแลช่องทางออนไลน์ของชุมชนบ้านหนองห้า)
 
          จากความสำเร็จของการรวมกลุ่มสร้างอาชีพให้แก่คนชุมชนของ สาย ทำให้ สุภาสินี แก้วกันทา และ ณัฎฐณิชา แก้วกันทา ลูกสาวทั้ง 2 คน ของ สาย ซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะช่วยชุมชนบ้านหนองห้า เพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น นอกจากการขายโดยวิธีการออกบูทตามเทศกาลต่าง ๆ ทั้ง 2 คนจึงเริ่มนำผ้าซิ่นของชุมชนมาสวมใส่ไปทำงานในวันที่มีการรณรงค์แต่งผ้าไทยของที่ทำงาน ทำให้เพื่อนร่วมงานของทั้งคู่สนใจและติดต่อซื้อผ้าซิ่นอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นการบอกปากต่อปากแก่คนใกล้ชิด
          “พี่ชอบผ้าไทยอยู่แล้วเพราะเห็นแม่ทอมาตั้งแต่เด็ก พอแม่มารวมกลุ่มคนในหมู่บ้านจัดเป็นกลุ่มสตรีทอผ้าสร้างรายได้ พี่ก็อุดหนุนกลุ่มซื้อมาใส่ไปทำงาน คนที่ทำงานก็ชอบก็มาขอซื้อแล้วก็บอกต่อกันไปเรื่อย ๆ เลยคิดว่าถ้าช่วยกันกับน้องสาวเปิดเพจแล้วเอาผ้าของกลุ่มมาขายออนไลน์จริงจังไปเลยน่าจะดี จะได้ช่วยชุมชนขายอีกทาง” สุภาสินี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นพาสินค้าชุมชนก้าวสู่โลกออนไลน์
          ระยะแรกของการขายผ่านช่องทางออนไลน์ สุภาสินี และ ณัฎฐณิชา ใช้ประสบการณ์จากการเป็นผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ของตนมาปรับเข้ากับการขาย โดยคำนึงถึงความต้องการและความคาดหวังของทั้งคู่เมื่อครั้งเป็นผู้ซื้อว่าวิธีการสื่อสารแบบใดที่จะดึงดูดลูกค้าให้สนใจร้านออนไลน์ของชุมชน
 

“เราพยายามอัปเดตร้านของเราทุกวัน ให้คนที่ติดตามเห็นถึงความต่อเนื่อง
ให้เขาเชื่อใจว่าเรามีตัวตนจริง ๆ เป็นร้านค้าของชุมชนเพื่อชุมชน
แล้วก็พยายามโพสต์หลาย ๆ แบบ ทั้งรูปภาพ วิดีโอ ไลฟ์สด
ให้ลูกค้าเห็นรายละเอียดผ้าเราให้ชัดที่สุด”

สุภาสินี และ ณัฎฐณิชา กล่าว

CHK_0341.jpg
(กิจกรรม Workshop ให้ความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์ โดย ผู้แทนจาก ETDA)
 

ความไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายของการขายออนไลน์

          ปัจจุบันการขายออนไลน์ถึงแม้จะอำนวยความสะดวกและเป็นช่องทางที่สร้างโอกาสสำหรับผู้ขาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกสินค้าล้วนมีคู่แข่งในโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อย ผ้าซิ่นทอของชุมชนบ้านหนองห้าก็เช่นกัน ปัญหาด้านการเป็นผู้ขายหน้าใหม่ที่ยังไม่สามารถเจาะกลุ่มผู้ซื้อรายใหม่ ๆ หรือ ปัญหาการขายสินค้าประเภทผ้าที่ภาพถ่ายอาจแสดงผลในเรื่องของสีได้ไม่ชัดเจน นับเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการขายของทั้งคู่
          สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) เพื่อผลักดันให้การทำอีคอมเมิร์ซสามารถลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ และสร้างชาติ ภายใต้แนวคิด e-Commerce Nation จึงได้ผสานความร่วมมือกับ สค. ที่ดูแลและสนับสนุนชุมชนด้านผลิตภัณฑ์และการสร้างรายได้ ผู้ดูแลชุมชน บ้านหนองห้า อยู่แล้ว ร่วมกันลงพื้นที่กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองห้า เพื่อให้ความรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตและการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมั่นคงปลอดภัย และการทำอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร โดยศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการขายออนไลน์ของชุมชนบ้านหนองห้าจนถอดเป็นหลักสูตรเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการขายออนไลน์ของชุมชนบ้านหนองห้า โดยเฉพาะ เริ่มจากการสร้างแบรนด์ กำหนดภาพลักษณ์ และสร้างความน่าเชื่อถือให้ร้านค้าออนไลน์ของชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) ร่วมกับผู้ดูแลร้านค้าออนไลน์ทั้ง 2 ของชุมชน ทั้งการสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้า (Storytelling) การผลิตคอนเทนต์ (Content) รูปแบบต่าง ๆ และการถ่ายภาพสินค้าให้ดึงดูดลูกค้าและเห็นรายละเอียดสินค้าอย่างชัดเจน ไม่เกิดปัญหาทางการขาย
 
Picture1SN.png
(เฟซบุ๊กเพจ สายเงิน ผ้าไหมทอมือ ร้านค้าออนไลน์ของชุมชนบ้านหนองห้า)
 

วิกฤตครั้งใหญ่ ในช่วงเวลาสำคัญ ช่องทางออนไลน์ถือเป็นฮีโร่ของชุมชน

          ช่วงเดือน เมษายน ของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของชุมชนที่จะมีรายได้เกิดขึ้นจากการออกบูทขายผ้าทอตามงานต่าง ๆ ที่ทางหน่วยงานของรัฐจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในชุมชนต่างรอคอยเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้งานเทศกาลต่าง ๆ ถูกยกเลิก ทำให้ผ้าทอของชุมชนที่ถักทอเตรียมไว้คงค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก แต่นับเป็นโชคดีของชุมชน ที่ สุภาสินี และ ณัฎฐณิชา ได้ปูทางการขายออนไลน์ไว้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตโรคระบาดนี้ขึ้น ทำให้ช่องทางออนไลน์ถือเป็นช่องทางหลักช่องทางเดียวที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ที่แม้จะเกิดวิกฤตก็ยังคงมียอดคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
 

“ถ้าไม่ได้ที่ลูกสาวเอาไปขายออนไลน์ก็คงแย่
โชคดีที่เขาสองคนทำไว้ แล้วมีหน่วยงานเข้ามาช่วยแบบนี้”

- สายเงิน กล่าว
 
          สำหรับผู้ที่สนใจผ้าซิ่นทอมือ โดย ชุมชนบ้านหนองห้า อ.นาน้อย จ.น่าน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ สายเงิน ผ้าไหมทอมือ และทางออฟไลน์ ที่ กลุ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีทอผ้าบ้านหนองห้า หมู่ 8 ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน หรือ ติดต่อสั่งซื้อ โทร. 085-723-1103 (คุณ สายเงิน จ.น่าน) หรือ 087-183-1787 (คุณแอม ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ)

Rating :
Avg: 3 (2 ratings)