Digital Service
- 27 ก.พ. 63
-
1059
-
ETDA เปิดเวที เร่งสร้างความเข้าใจผู้บริหารไทย ใช้ AI อย่างรับผิดชอบ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดเวทีหัวข้อ "Responsible AI" เพื่อแชร์ประสบการณ์และอัปเดตความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ของไทย ว่าไปถึงไหนแล้ว และทำให้ได้ ทำให้ดี มีอยู่จริงหรือไม่ ให้ผู้นำองค์กรและผู้บริหารธุรกิจระดับสูงในไทยเกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถประยุกต์ใช้ AI ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ ห้อง FEGO ของ ETDA บริเวณชั้น 15 อาคารเดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระรามเก้า (อาคารบี) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา
วันนี้จริยธรรม AI ในประเทศไทยไปถึงไหนกันแล้ว
อาจารย์มนัสศิริ จันสุทธิรางกูร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมจัดทำร่างหลักการและแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ "Digital Thailand - AI Ethics Guideline" ของกระทรวงดีอีเอส เปิดเผยว่า AI เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก หลายสิ่งที่เราสัมผัสหรือใช้งานในชีวิตประจำวัน ล้วนมีเทคโนโลยี AI เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ในภาคธุรกิจต่างก็นำ AI มาช่วยในการดำเนินงาน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย หรือแม้แต่กองทัพ ก็มีการใช้เทคโนโลยี AI ทั้งสิ้น แต่ปัญหาต้องตระหนักที่ไม่ควรมองข้าม คือการนำ AI มาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น
ทำ Deep Fake Video ให้ดูสมจริง เพราะนำ AI แบบ Deep Learning มาสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น ให้คนพูดอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ โดยที่เสียงและภาพดูสอดคล้องเป็นธรรมชาติ ราวกับคนคนนั้นพูดและอัดคลิปเองจริง ๆ จนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นการสื่อสารจาก AI หรือคนคนนั้นจริง ๆ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคนคนนั้น หน่วยงาน หรือองค์กรที่คนคนนั้นสังกัดอยู่
นำไปพัฒนาเป็นอาวุธ เพื่อใช้ในการทำสงคราม เช่น ยิ่งจรวดด้วย AI
สิ่งที่กระทรวงดีอีเอส ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องช่วยกันทำและขับเคลื่อนคือ การจะทำให้อย่างไรให้การใช้ AI คำนึงถึงหลักจริยธรรม “โปร่งใส ไม่หลอกลวง เป็นธรรม”
การมีคำถามว่า การพัฒนาเทคโนโลยี AI ของไทยยังเดินหน้าไม่ถึงไหน หากนำกรอบจริยธรรมเข้ามาครอบ จะทำให้การพัฒนาช้าลงหรือไม่ เมื่อดูทั่วโลก เช่น OECD EU จีนและสหรัฐฯ ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และกำหนดให้มี AI Ethics Guideline เข้ามาดูแลจริยธรรมในการใช้ในประเทศของตนด้วย แม้จะยังไม่ชัดเจนในมุมของกฎหมายก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการสร้างความตระหนัก ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ขณะที่ไทยเองก็ได้กำหนด Guideline นี้แล้วในเฟสแรก โดยกระทรวงดีอีเอสร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแถลงการณ์อย่างเป็นทางการช่วงตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
เนื้อใน AI Ethics Guideline ไทย
อาจารย์มนัสศิริ กล่าวว่า AI Ethics Guideline ของไทย ได้ผ่านการสำรวจและการศึกษา จาก Guideline สำคัญ ๆ ในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้หลักจริยธรรม AI ของไทยมีความครอบคลุมมากที่สุด โดย AI Principles ในเฟสแรกที่แนะนำมีหลักปฏิบัติ 6 หลักการใหญ่ ๆ ดังนี้
- ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ความสอดคล้องกับกฎหมายจริยธรรมและมาตรฐานสากล
- ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ
- ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
- ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม
- ความน่าเชื่อถือ
ไม่เพียงกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรม แต่ทีมผู้จัดทำยังวางแผนในการพัฒนาหลักจริยธรรม AI ในเฟส 2 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยการต่อยอดพัฒนามาจาก Guideline จริยธรรมในเฟสแรก ที่จะทำให้มีรายละเอียดมากขึ้น ในแง่ของการปฏิบัติแบบบูรณาการที่นำมาปรับใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานพิจารณา ซึ่งจะใช้ Framework ของ COBIT 2019 ที่มีความน่าเชื่อถือมากในปัจจุบัน ทั้งยังมีมิติครอบคลุมในส่วนของการบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาใช้เป็นกรอบในการร่างหลักจริยธรรมในเฟสนี้ด้วย
อาจารย์ย้ำว่า จริยธรรม AI ไม่ได้ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี AI ของไทยด้อยหรือช้าลงแต่อย่างใด แต่กลับทำให้การใช้เทคโนโลยี AI มีความน่าเชื่อถือ และสะท้อนถึงความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ด้วยหลักจริยธรรมที่มีมาตรฐาน เทียบเท่าสากล
สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด
AI Ethics Principle & Guideline ได้ที่ bit.ly/aiethicsth
ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบการบรรยายหัวข้อ
"แนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของไทย" ไปถึงไหนแล้ว โดย อ.มนัสศิริ จันสุทธิรางกูร ได้ที่
สไลด์
อ่านต่อ
Responsible AI in Action
ดาวน์โหลดข้อมูลเวที “"Responsible AI" ได้ที่
https://www.etda.or.th/content/responsible-ai-for-thailand.html