TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซจีน กับ ผลกระทบจาก โควิด-19

e-Commerce Documents
  • 22 ก.ย. 63
  • 1734

2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซจีน กับ ผลกระทบจาก โควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายธุรกิจและหลายพื้นที่ทั่วโลกนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเฉพาะสถานการณ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทางการได้มีมาตรการคุมเข้มเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศ โดยสั่งปิดเมืองและประกาศงดทุกกิจกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ทำให้หลายธุรกิจในจีนต้องปิดตัวลงหรือระงับการดำเนินการชั่วคราว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ก็มีหลายธุรกิจที่เติบโตขึ้นจากพฤติกรรมความปรกติใหม่ หรือ New Normal ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจส่งอาหารเดลิเวอรี ฯลฯ

หลายภาคส่วนคาดคะเนว่า Alibaba และ Tencent สองบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของประเทศจีน เจ้าของแอปพลิเคชันดังอย่าง Taobao และ WeChat ที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี ต่างได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งการคาดคะเนนี้จะเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ในปี 2563 ของทั้งสองบริษัท ตามไปอ่านกันได้เลย

ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ของ Alibaba

รายได้รวมของ Alibaba ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้อยู่ที่ 114,314 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 520,128.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ารายได้ของ Alibaba เติบโตขึ้นถึง 22% โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจกลุ่มแพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ เช่น Taobao.com, Tmall.com, Lazada และกลุ่มบริการขนส่งออนไลน์ เช่น Ele.me, CaiNiao

แพลตฟอร์ม Tmall.com มียอดขายสุทธิ (GMV) ของสินค้าในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นถึง 10% ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่มีการซื้อขายสูงสุดอยู่ในหมวดสินค้าจำเป็น เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกิดการซื้อขายอย่างรวดเร็ว หรือ FMCG และกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่สินค้าประเภทแฟชั่นกลับมียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับยอดขายในปีก่อน ซึ่งตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปซึ่งเน้นจับจ่ายใช้สอยกับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในช่วงที่รัฐบาลจีนมีคำสั่งปิดเมือง งดออกนอกเคหสถานหากไม่มีความจำเป็น และลดการใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือย

ในส่วนของ แพลตฟอร์ม Ele.me ที่ให้บริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี เป็นแพลตฟอร์มในเครือที่ได้รับผลกระทบและมีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการปิดตัวชั่วคราวของตลาดสด ร้านอาหาร และร้านค้าต่าง ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มีการคาดคะเนว่าเมื่อทางการจีนคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ ลง ยอดขายของ Ele.me จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างเช่นปรกติ

สำหรับจำนวนผู้ใช้งาน มีการระบุในรายงานข้อมูลผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของ Alibaba ว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งาน Alibaba ทั้งสิ้น 726 ล้านคน โดยมีจำนวนผู้ใช้งาน Taobao Live เพิ่มขึ้นถึง 88% จากปี 2562 เนื่องจากผู้ขายส่วนใหญ่ที่มีร้านค้าออฟไลน์หันมาเปิดร้านออนไลน์มากขึ้น และใช้ระบบสตรีมมิงถ่ายทอดสด (Live) ในการโปรโมตและขายสินค้า ซึ่งโดยภาพรวมแล้วทาง Alibaba มีการคาดการณ์ว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ของ Tencent

ขณะที่รายได้รวมในไตรมาสที่ 1 ของ Tencent มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 108,065 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 491,695.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้วกว่า 26% โดยรายได้มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

  1. รายได้จากธุรกิจโฆษณาออนไลน์ ที่รายได้เติบโตขึ้นกว่าปีที่แล้วสูงถึง 32% สืบเนื่องจากพฤติกรรม ผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจสินค้าจากโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงหันมาลงทุนกับการทำโฆษณาออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของตัวเลขการเติบโตนี้
  2. รายได้จากธุรกิจบริการเสริม โดยเฉพาะบริการเสริมในกลุ่มธุรกิจเกมออนไลน์ที่เติบโตขึ้นกว่า 31% ทั้งการดาวน์โหลดเกม การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและไอเทมเสริมในเกม และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสาเหตุโดยตรงมาจาก มาตรการปิดเมืองและคำสั่งงดออกนอกเคหสถานหากไม่มีความจำเป็น ทำให้ผู้คนเลือกหาความบันเทิงจากโลกออนไลน์มากขึ้น และเกมออนไลน์ก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาเช่นนี้
  3. รายได้จากธุรกิจในกลุ่ม Fintech หรือกลุ่มธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการทำธุรกรรมออนไลน์ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 22% เนื่องจากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์ที่มากขึ้น ในช่วงที่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักได้ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานบริการเทคโนโลยีด้าน Cloud Computing หรือบริการเก็บไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน WeChat ที่ยังคงเติบโตถึง 3.2% จากปีก่อน ถึงแม้เปิดให้บริการมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม

 จากข้อมูลรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1 ของ Alibaba และ Tencent แสดงให้เห็นแล้วว่า การคาดคะเนของนักลงทุนและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่กะเก็งไว้ว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่นี้จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ผลประกอบการที่ปังยิ่งกว่าในไตรมาสที่ 2 ของ 2 ยักษ์ใหญ่

การระบาดของ COVID-19 ได้กลายเป็นตัวเร่งชั้นดีในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและการทำงานในองค์กรต่าง ๆ แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 สถานการณ์การระบาดของโรคที่ประเทศจีนได้คลี่คลายไปแล้ว แต่ก็ได้ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ Alibaba มีรายได้รวมอยู่ที่ 153,751 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทางฝั่งของ Tencent ก็มีรายได้รวมอยู่ที่ 114,883 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว 29% 

เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นพฤติกรรมความปรกติใหม่ หรือ New Normal ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของการป้องกันควบคุมโรค ช่องทางออนไลน์จึงเป็นทางออกและตัวช่วยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการทำธุรกิจ การศึกษา การใช้จ่ายซื้อ-ขายสินค้า หรือความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคเหล่านี้ล้วนส่งผลดีกับผลประกอบการของ Alibaba และ Tencent อย่างเห็นได้ชัดเช่นนี้


ที่มา:

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)