TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

Knowledge Sharing

4P ฉบับ อีคอมเมิร์ซ EASY ที่ง่ายสำหรับทุกคน

e-Commerce Documents
  • 17 ธ.ค. 63
  • 3878

4P ฉบับ อีคอมเมิร์ซ EASY ที่ง่ายสำหรับทุกคน

            คนทำการตลาดคงคุ้นเคยกับกลยุทธ์แบบ 4P เป็นอย่างดี ยิ่งกลยุทธ์ชัดเจนก็ช่วยให้การขายราบรื่นขึ้น ในมิติของการขายสินค้าออนไลน์ก็ต้องอาศัย 4P เช่นกัน แต่จะแตกต่างจาก 4P ของกลยุทธ์การตลาดโดยทั่วไป ที่ประกอบด้วย สินค้า (Product ) ราคา (Price) โปรโมชัน (Promotion) และสถานที่ (Place) ที่เราเคยรู้จักมากน้อยแค่ไหน ดร. เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing ภาคภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายหลักการ 4P ฉบับอีคอมเมิร์ซ ไว้ดังนี้

P1 - Product (สินค้า)

            การขายออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องกำหนดหรือเลือกว่าจะขายสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งในร้านเดียว เพราะรูปแบบการขายออนไลน์ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสถานที่สต็อกสินค้าหรือชั้นวางสินค้า ทำให้ผู้ขายสามารถขายสินค้าได้หลากหลายกว่าการขายแบบออฟไลน์ และการจำกัดการขายสินค้าเพียงอย่างเดียวเป็นการตัดโอกาสทางการขายด้วย
ดังนั้น ควรกำหนดสินค้าให้เป็นไปตาม Positioning หรือ ตำแหน่งทางการตลาดของร้านในรูปแบบไลฟ์สไตล์หรืออารมณ์มากกว่า เช่น หากปัจจุบันเราขาย อาหารคลีน ให้วางตัวเป็นร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพ เพราะในอนาคตเราจะสามารถขยายการขายสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น ทั้ง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง อุปกรณ์ออกกำลังกาย ฯลฯ
 

P2 - Price (ราคา)

            การขายออนไลน์ นอกจากการคำนวณเรื่องต้นทุนกำไรแล้ว การเปรียบเทียบราคาก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ก่อนกำหนดราคาสินค้าควรสำรวจราคาตลาดสินค้าที่จะทำการขายเสียก่อน โดยเราไม่จำเป็นต้องกำหนดให้ราคาสินค้าของเราถูกที่สุด แต่ต้องกำหนดให้สินค้าของเรามี “ราคาดี” คือ ราคาที่สมเหตุสมผลกับคุณภาพของสินค้านั้น ๆ ทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น หากเราขายสินค้าประเภทขนมเบเกอรี แต่ตั้งราคาสูงกว่าร้านอื่น เราต้องให้เหตุผลและข้อมูลถึงคุณค่าซึ่งลูกค้าได้รับที่มากกว่า อาจจะเป็นเรื่องของการอธิบายคุณภาพของส่วนผสมที่ใช้ทำขนมชนิดนั้น ๆ
 

P3 - Platform (แพลตฟอร์ม)

            ปัจจุบันแพลตฟอร์มสำหรับการขายออนไลน์มีอยู่หลากหลายช่องทาง การจะเลือกใช้งานแพลตฟอร์มควรดูจาก “กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย” ที่เรากำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อให้การขายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เราควรเลือกใช้แพลตฟอร์มที่มีลูกค้าของเราเป็นผู้ใช้งานอยู่ เช่น หากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นที่ชื่นชอบการแต่งตัว อาจเลือกแพลตฟอร์ม Instagram หรือ หากต้องการขายส่งสินค้าจำนวนมาก อาจเลือกแพลตฟอร์ม อีมาร์เก็ตเพลส
 

Promote (การโปรโมตบนออนไลน์)

            วิธีการหรือรูปแบบในการโปรโมตสินค้าออนไลน์นั้นขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่เราเลือกใช้ เพราะแต่ละแพลตฟอร์มจะมีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป และการโปรโมตสินค้าทำได้หลากหลายวิธี เช่น การโฆษณา การผลิตคอนเทนต์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวสินค้า (Storytelling) ฯลฯ โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ การวางกลยุทธ์การโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงและตรงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เช่น หากเราขายสินค้าประเภทผ้าไทยและมีกลุ่มลูกค้าเป็นวัยทำงาน อาจจัดทำคอนเทนต์แนะนำการแต่งตัวไปทำงานด้วยผ้าไทยอย่างไรให้ดูทันสมัยและสวยงาม
 
            4P ฉบับ อีคอมเมิร์ซ นี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนการตลาดออนไลน์เท่านั้น ตามไปติดตามการแชร์ความรู้ “การจัดทำแผนการตลาดออนไลน์” โดย ดร. เอกก์ ภทรธนกุล ทั้งหมด ได้ที่ หลักสูตรอีคอมเมิร์ซ EASY ที่ง่ายสำหรับทุกคน “EASY E-COMMERCE ACADEMY SKILLS LEARN BY YOURSELF” ได้ที่ bit.ly/EASYe-COMMERCEbyETDA
 

Rating :
Avg: 4.5 (2 ratings)