TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

บริการของเรา

ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์ AIGC by ETDA เปิดวงชวนกูรูจับเทรนด์ Gen AI ‘หนุนองค์กรเร่งวางกรอบธรรมาภิบาลการใช้ AI’ หลังพบ องค์กรไทย กว่า 73.3 % มีแผนใช้ AI ในอนาคต!

AIGC Documents
  • 29 พ.ย. 67
  • 54

ศูนย์ AIGC by ETDA เปิดวงชวนกูรูจับเทรนด์ Gen AI ‘หนุนองค์กรเร่งวางกรอบธรรมาภิบาลการใช้ AI’ หลังพบ องค์กรไทย กว่า 73.3 % มีแผนใช้ AI ในอนาคต!

ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center หรือ AIGC ) ภายใต้สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเวที AI Governance Webinar 2024 “จับเทรนด์ AI พลิกโฉมทุกภาคส่วน…ใช้อย่างไรให้มีธรรมาภิบาล ?” ชวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลากหลายด้านร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมเผยแนวโน้มโลกให้ความสำคัญด้านจริยธรรม AI ชี้ทุกภาคส่วนต้องเร่งสนับสนุนองค์กรให้ตระหนักถึงความสำคัญของใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล หลังผลสำรวจ AI Readiness Measurement 2024 พบองค์กรไทยมีแผนใช้ AI เพิ่มถึง 73.3% ในอนาคต โดยกลุ่มการศึกษา - การเงิน – โลจิสติกส์ ติดโผพร้อมใช้ AI สูงที่สุด
MMW_6537_0.jpg
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA กล่าวว่า Generative AI เป็นเครื่องมือที่หลายภาคส่วนทั้งรัฐ และเอกชนนำไปใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน และมีแนวโน้มว่าภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเครื่องมือนี้ไปใช้งานมากขึ้น สอดคล้องกับ ‘ผลสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับบริการดิจิทัลประจำปี 2567 หรือ AI Readiness Measurement 2024’ ชี้ว่าปีนี้สัดส่วนขององค์กรไทยที่ประยุกต์ใช้งาน AI แล้ว เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 17.8% (ปี 66 อยู่ที่ 15.2%) และมีองค์กรที่จะเตรียมใช้งาน AI ในอนาคต สูงถึง 73.3% โดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมใช้งาน AI สูงที่สุดคือ กลุ่มการศึกษา กลุ่มการเงินและการค้า และกลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่ง เป็นต้น  แม้ในมุมของการใช้ AI ในองค์กรเติบโตขึ้น แต่หากพิจารณาในมุมของการประยุกต์ใช้จริยธรรม AI หรือ AI Ethics กลับพบว่ามีองค์กรตระหนักรู้และนำ AI Ethics มาปรับใช้ในองค์กรแล้ว อยู่ที่ 16.5% ขณะที่อีกกว่า 43.7% เริ่มวางแนวคิดในการนำ AI Ethics มาปรับใช้ ดังนั้น จะเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่องค์กรต้องคำนึงถึง นอกจากความพร้อมในการใช้งานแล้ว ก็คือเรื่องของจริยธรรมและธรรมาภิบาลของการใช้งาน AI โดยเฉพาะ Gen AI ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งาน และลดความเสี่ยง หรือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น 
M75_5247_0.jpg
ศูนย์ AIGC by ETDA ที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ ล่าสุด ได้เปิดตัว“แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” (Generative AI Governance Guideline for Organizations) ที่เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กร ให้เกิดความเข้าใจการใช้ AI รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถกำหนดกรอบแนวทางการใช้งานภายในองค์กรได้อย่างเหมาะสม และสานต่อสู่การเปิดเวทีเสวนา AI Governance Webinar 2024 ในหัวข้อ “จับเทรนด์ Gen AI พลิกโฉมทุกภาคส่วน…ใช้อย่างไรให้มีธรรมาภิบาล ?” ชวนผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลากหลายมิติ ทั้งภาครัฐ นักพัฒนา นักกฎหมาย อาทิ ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ รองคณบดีด้านงานวิรัชกิจและนิตินวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIGC Fellow, รศ.ดร.วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และ AIGC Fellow, คุณชัชวาล สังคีตตระการ นักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, และคุณรจนา ล้ำเลิศ ที่ปรึกษา ETDA และหัวหน้าศูนย์ AIGC by ETDA มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองสะท้อนถึงเทรนด์และความสำคัญของจริยธรรมและธรรมาภิบาล AI ในเวทีโลก สู่การร่วมหาคำตอบถึงความพร้อมของไทยกับการใช้ AI อย่างไรให้เหมาะสม ลดเสี่ยง เป็นที่ยอมรับของสากลอย่างยั่งยืน

M75_5267_0.jpg

ด้าน นางสาวรจนา ล้ำเลิศ ที่ปรึกษา ETDA และหัวหน้าศูนย์ AIGC by ETDA กล่าวว่า ในปี 2568 โลกมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายๆ ประเทศต่างเริ่มเรียนรู้ถึงโอกาสและผลกระทบ ตลอดจนความเสี่ยงในหลายๆ มิติ ที่เป็นผลมาจากการใช้งาน Gen AI ทั้งจากการกรณีศึกษาและ use case ที่เกิดขึ้นจริง เช่น กรณีศึกษาในต่างประเทศที่ Gen AI ให้คำตอบแก่เยาวชนไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ นำมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางกฎหมาย อย่างเรื่องลิขสิทธิ์ และ ความเป็นเจ้าของผลงาน ที่ AI สร้างขึ้น ตลอดจนประเด็นด้านจริยธรรม ความเหมาะสมของการใช้งาน AI ที่องค์กรต้องคำนึงว่า การใช้ AI จะส่งผลต่อผู้รับบริการ ทั้งในหรือนอกองค์กรหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบต่อผู้รับบริการ เช่น ความเชื่อมั่นในด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และการลดอคติในผลลัพธ์ ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร แต่ยังเพิ่มความได้เปรียบทางธุรกิจอีกด้วย 

M75_5172_0.jpg

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นจริยธรรมและธรรมาภิบาลการใช้ AI ในวงกว้าง ที่ผ่านมา ศูนย์ AIGC by ETDA จึงได้ร่วมมือกับ พาร์ทเนอร์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ ผ่านกิจกรรมเสวนาและสัมมนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดทำหลักสูตรอบรม เวิร์กช็อป สำหรับนักพัฒนาและบุคลากรในองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ AI ที่โปร่งใสและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการบรรจุเนื้อหาด้านธรรมาภิบาล AI เข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งคู่มือ Guideline รวมถึงบทความทางวิชาการ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาและนำเนื้อหาไปประยุกต์ใช้ฟรี ผ่านเว็บไซต์ และ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand เพื่อให้องค์กรรวมถึงคนไทยพร้อมรับมือกับการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

M75_5169_0.jpg

อย่างไรก็ตาม เพื่อตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการร่วมเป็นผู้นำขับเคลื่อนจริยธรรมและ การกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI สู่การปฏิบัติจริงและเป็นที่ยอมรับในสากล ในปีหน้านี้ ประเทศไทย นำโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เตรียมเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานการประชุมนานาชาติครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก กับงานระดับโลก “UNESCO Global Forum for the Ethics of AI 2025” ภายใต้แนวคิด Ethical Governance of AI in Motion ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ณ กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการแถลงข่าวความร่วมมืออย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป ผู้สนใจติดตามการถ่ายทอดสด รวมถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ทำให้คุณ #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand ที่เดียว

M75_5369_0.jpg

M75_5340_0.jpg
 

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)