Foresight
- 21 พ.ย. 62
-
1309
-
ETDA กับสิ่งที่อยากบอก บนเวที Boost with Facebook
อัปเดตตัวเลขสถิติ เครื่องมือ และโครงการสำคัญ หนุนผู้ประกอบการไทย Go Online เพื่อโอกาสและชีวิตที่ดีกว่า
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ร่วมงานสัมมนา
“Boost with Facebook” จัดโดย
Facebook ประเทศไทย เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ในยุคดิจิทัล สามารถเชื่อมต่อธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่าง Facebook (เฟซบุ๊ก) และ Instagram (อินสตาแกรม) พร้อมอัปเดตเคล็ดลับการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์จากปากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เช่น การโฆษณาและเครื่องมือต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก การใช้อินสตาแกรมเพื่อขยายธุรกิจ การสร้างสรรค์โฆษณาผ่านมือถือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
John Wagner, Facebook Thailand Managing Director เผยว่า เฟซบุ๊กได้เปิดโครงการ Boost with Facebook มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ภาคต่าง ๆ กว่า 1,800 คน ได้เรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างโอกาสและรายได้
พร้อมเผย
สถิติเฟซบุ๊กของประเทศไทยถึงไตรมาส 2 ของปี 2562 เช่น
- จำนวนผู้เข้าถึงเฟซบุ๊กรายเดือน: มากกว่า 55 ล้านรายต่อเดือน
- จำนวนผู้เข้าถึงเฟซบุ๊กรายวัน: มากกว่า 39 ล้านรายต่อวัน
- จำนวนผู้เข้าถึงเฟซบุ๊กรายเดือนด้วยมือถือ: มากกว่า 54 ล้านรายต่อเดือน
สำหรับการดำเนินงานของ
Facebook ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทย มีทั้ง
- Training (การฝึกอบรม) โดยเฟซบุ๊กต้องการให้คนที่มีความสามารถได้เข้าถึงโอกาส และได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของตน รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐ เอกชน และภาคสังคม
- Resourses (แหล่งเรียนรู้) ด้วยการให้บริการในรูปแบบ Web and Access Point ที่สามารถเรียนรู้ด้วยกัน และแน่นอนว่า แหล่งเรียนรู้เหล่านี้มีให้บริการเป็นภาษาไทยด้วย (https://www.facebook.com/boost)
- Inspiration (แรงบันดาลใจ) เฟซบุ๊กอยากให้ผู้ใช้งานได้มีกำลังใจและแรงบันดาลใจ จากการได้ฟัง ได้ชม ผลงานของคนที่เป็นตัวอย่าง เช่น ฮาซัน พ่อค้าอาหารทะเล ที่ขายของผ่าน Facebook Live (https://www.facebook.com/HasunDriedSeafood/)
ตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนโอกาสธุรกิจไทยบนโลกออนไลน์ได้อย่างไร?
ด้าน สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ตัวเลขสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้มือถือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ต ได้สะท้อนไลฟ์สไตล์หลายอย่างที่เปลี่ยนไปของคนไทย และ เฟซบุ๊ก ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สำคัญในยุคดิจิทัลนี้
- สถิติผู้ใช้โทรศัพท์มือถือปี 2562 สูงถึง 129 ล้านเลขหมาย
- ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 47.5 ล้านราย
- ผู้ใช้เฟซบุ๊ก มากกว่า 55 ล้านรายต่อเดือน
ในขณะที่จำนวนคนไทยมีเพียง 66 ล้านคน จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่า ETDA จะต้องส่งเสริมให้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ สร้างอาชีพ หารายได้ด้วยการทำ e-Commerce
- Social Commerce ที่นิยมใช้ในไทย จากผลสำรวจมูลค่า e-Commerce ของ ETDA พบว่า ผู้ประกอบการไทยนิยมใช้เฟซบุ๊กทำการตลาดออนไลน์มากถึง 93.94 % เมื่อเทียบกับ Social Commerce เจ้าอื่น ๆ เช่น Line, YouTube
- เฟซบุ๊ก ยังครองอันดับ 1 ใน 3 สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมของคนไทย 3 ปีซ้อน จากผลสำรวจ IUB 2018 ของ ETDA
หากเจาะที่มูลค่า e-Commerce และพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นผู้บริโภคไทยทั้งปี ที่สำรวจโดย ETDA มีอะไรน่าสนใจบ้าง
- พฤติกรรมผู้บริโภค: ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาที ในทุก ๆ วันและคนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตไปกับการซื้อของออนไลน์ ซึ่งทำให้พฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์ติด 1 ใน 5 พฤติกรรมยอดฮิตที่คนไทยนิยมมาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน
- ช่วงวัยที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ต: กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่ม Gen Y ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาทำงานมากถึง 10 ชั่วโมง 22 นาที และในช่วงวันหยุดถึง 11 ชม. 52 นาที
- มูลค่า e-Commerce ในปี 2561 (ซึ่งยังไม่รวมยอดขายในเทศกาล 11.11) สูงถึง 3,150,232.96 ล้านบาท (3.15 ล้านล้านบาท) และเติบโตจากปีที่แล้วถึง 14.04 % และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากการสำรวจทั้งหมด ทำให้ทาง ETDA เห็นว่า ต่อจากนี้ธุรกรรมออนไลน์และธุรกิจ e-Commerce จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของคนไทย ETDA จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้คนไทยเติบโตไปพร้อมตลาด e-Commerce
โอกาสของคนตัวเล็กในเทศกาล 11.11
จากอีเวนต์วันคนโสดที่ Alibaba จัดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนตอนนี้กลายเป็นมหกรรมชอปปิงออนไลน์ระดับโลก และยังสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบัน หลายแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ผูกติดกับอีเวนต์ที่เป็นวันเดือนต่าง ๆ เพื่อทำให้ตัวเลขการซื้อขายออนไลน์ในวันนั้น ๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยสู้กันด้วยกลไกราคาที่พิเศษ ซึ่งมีตัวเลขที่น่าสนใจหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ร่วมจัดเทศกาลด้วย
ตัวเลข e-Commerce จากเทศกาลในปี 2562
- Lazada: คำสั่งซื้อที่มีมูลค่าสูงสุดในไทย มีมูลค่าสูงถึง 360,000 บาท มียอดวิวใน Lazada ผ่านแอปมือถือและทีวี
- ทั่วประเทศมากกว่า 13 ล้านคน
- Shopee: ขายสินค้าไปได้ 70 ล้านชิ้นในวันที่ 11.11 และมีผู้ชม Shopee Live มากกว่า 65 ล้านวิวและผู้เข้าร่วมกิจกรรมโปรโมชั่นกว่า 150 ล้านครั้ง
- JDCentral: ยอดขายคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 273% และมียอดขายเพิ่มขึ้นจากเทศกาลลดราคา 9 เดือน 9 ใน Joy Super Mart ถึง 200% มีผู้ใช้งานในเว็บไซท์เพิ่มจากปกติ 4 เท่า
ไทยกำลังก้าวสู่ Aging Society กับโจทย์ท้าทายในการสร้างรายได้จาก e-Commerce
นอกจากดูแลและส่งเสริมผู้ประกอบการ ETDA ยังห่วงใยกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของ ETDA เอง พบว่า เป็นอีกวัยที่มีความเสี่ยงในการใช้ออนไลน์
จากข้อมูลของ TDRI พบว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุ เราจึงต้องเริ่มให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะ
- สังคมสูงอายุ: ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวน 11 ล้านคนหรือคิดเป็น 16.5% ของประชากรไทย ซึ่งคาดว่าปี 2593 จะมีจำนวนประชากรผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) คิดเป็น 35% ของประเทศ
- แหล่งรายได้ของผู้สูงวัย: แหล่งรายได้ของผู้สูงอายุในปัจจุบัน มาจากลูกหลาน คิดเป็น 35% การทำมาหากินด้วยตนเอง 31% และเบี้ยยังชีพ 20% ซึ่งตัวเลขที่น่ากังวลคือ ถ้าผู้สูงอายุมีเงินออมจำนวน 1 ล้านบาท จะมีพอใช้จ่ายเพียง 10 ปีถ้าผู้สูงอายุใช้เงิน เดือนละ 7,000 บาท
ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนไทยทุกคน ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ต่าง ๆ มีโอกาสและมีส่วนร่วมในการเติบโตไปพร้อมกับมูลค่า e-Commerce ในไทยที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำตอบคือ การพัฒนาทางด้านทักษะดิจิทัล เพื่อช่วยผู้ประกอบการภายในพื้นที่ห่างไกลสามารถแข่งขันในธุรกิจออนไลน์ได้
ETDA กับการส่งเสริม e-Commerce ของประเทศ
จากข้อมูลทั้งหมด ETDA จึงได้เข้าไปส่งเสริมงาน e-Commerce ในหลาย ๆ ส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ โดยมุ่งเน้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ กลุ่มผู้สูงวัย และเข้าถึงคนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เดินหน้าอย่างไม่เกิดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น
- โครงการ Thailand e-Commerce Sustainability ช่วยผลักดันและพัฒนาให้เกิด Digital Workforce ในประเทศและเพิ่มทักษะด้าน e-Commerce ให้กับ SMEs โดยถ่ายทอด Knowhow และประสบการณ์จริงผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ
- โครงการ Internet for Better Life (IFBL) เพื่อให้เด็กและผู้สูงวัยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจในการหารายได้ พร้อมทั้งมีความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานด้วย โดยสามารถสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุในปีนี้ไปกว่า 80 คน และมียอดเข้าถึงสื่อสร้างสรรค์ทางออนไลน์ไปกว่า 2.16 ล้าน
สำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ นอกจากนำโครงการ IFBL ไปเยือนแล้ว ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการทำ e-Commerce อย่างเป็นระบบ เข้าใจกระบวนการตั้งแต่การพัฒนาสินค้า การสร้างสรรค์งานออกแบบ การทำตลาดออนไลน์ ไปถึงการบริหารคลังสินค้า การจัดส่ง และการรับชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ เพราะเล็งเห็นว่า เมื่อมีการใช้มือถือและอินเทอร์เน็ตมากขึ้นแล้ว ก็ควรนำมาใช้สร้างรายได้ด้วย
"คำคราม" (
https://www.facebook.com/khamkram.sakon/) เป็นตัวอย่างโครงการนำร่อง เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล ช่วยชาวบ้านนำสินค้าชุมชนมาสร้างรายได้ทางเลือกอีกหนึ่งช่องทางผ่าน e-Commerce และสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง ETDA ได้ร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายในการดำเนินงาน
สุรางคณา ทิ้งท้ายว่า ETDA ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล การกระจายรายได้ให้กับชุมชนห่างไกล ทุกหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนคนไทยทุกคนให้สามารถสร้างรายได้ผ่าน e-Commerce ทุกภาคส่วนต้องเดินหน้า ลงมือทำไปพร้อมกัน...