Sandbox
- 17 มิ.ย. 63
-
3982
-
Digital Service Sandbox แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ประกาศผลผู้ผ่านการพิจารณา
|
หน่วยงาน |
Solutions |
วันที่ได้รับอนุมัติเข้าทดสอบ |
สถานะการทดสอบ |
1 |
บริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี จำกัด |
Digital ID |
1 ธันวาคม 2563 |
อยู่ระหว่างการทดสอบ |
การพิจารณา อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด 5 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security)
2. ด้านความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy)
3. ด้านความน่าเชื่อถือ (Reliability)
4. ด้านความรับผิด (Accountability)
5. ด้านประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience)
--------------------------------------
Digital Service Sandbox คือ แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมทดสอบ อาทิ ผู้ให้บริการหรือผู้ที่ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่ดำเนินงานหรือประสงค์จะดำเนินงานด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี สามารถเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมหรือบริการของตนก่อนการให้บริการจริงภายในสภาพแวดล้อมและการให้บริการที่จำกัด เพื่อให้สามารถรองรับ Business Model ใหม่ ๆ ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ และประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายของ Digital Service Sandbox
มีกรอบการทดสอบใน Digital Service Sandbox ที่ชัดเจนเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและบริการ
ลักษณะของนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
1. เป็นบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด ซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
- พัฒนาเป็น Infrastructures หรือ Standard กลาง หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือบริการทั้งรัฐและเอกชน
- ไม่มีกฎระเบียบรองรับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ หรือการยอมรับในธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณชนหรือผู้บริโภค
- มีความเสี่ยงที่จะขัดกับกฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแล
2. มีการนำ Innovation หรือ Technology มาใช้ ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีการนำมาใช้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใด หรือแตกต่างจากบริการที่มีอยู่แล้วในประเทศ แต่ยังให้บริการในวงจำกัด หรือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดภาระที่มีอยู่เดิม
รอบ จำนวน และประเภทหรือขอบเขตของนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ในการเข้าร่วมทดสอบ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จะกำหนดรอบและจำนวนผู้เข้าร่วมทดสอบ ตลอดจนประเภทหรือขอบเขตของนวัตกรรมหรือบริการที่จะเปิดให้เข้าร่วมทดสอบในแต่ละครั้งแตกต่างกัน
ในรอบที่ 1 นี้ จะเปิดรับใน วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งประเภทของนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดทดสอบ มีดังนี้
- นวัตกรรมหรือบริการเพื่อรองรับการจัดทำหนังสือหรือเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document)
- นวัตกรรมหรือบริการระบบการจัดการเพื่อรองรับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting)
- นวัตกรรมหรือบริการระบบการจัดการเพื่อรองรับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID)
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมทดสอบ
- เป็นนิติบุคคล (หน่วยงานของรัฐ บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด องค์กรเอกชน หรือนิติบุคคลอื่นที่สำนักงานกำหนด)
- มีทรัพยากรด้านเงินทุน + ระบบงาน + บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ
- มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ≥ 2 ปีนับแต่วันยื่นคำขอ
- ไม่เคยถูกสั่งห้ามประกอบธุรกิจบริการทั้งหมด / บางส่วนเป็นการชั่วคราว หรือไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหรือใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- กรรมการ หรือผู้ซึ่งมีอำนาจจัดการของนิติบุคคล มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ประกาศฯ กำหนด
สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเข้าร่วมทดสอบ
ขั้นตอนการเข้าร่วมทดสอบ
ผู้สมัครสามารถศึกษาข้อมูลการเข้าร่วมทดสอบใน Digital Service Sandbox ได้จาก
ประกาศ สพธอ. เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะครอบคลุมการดำเนินงานในขั้นตอนก่อนเข้าร่วมทดสอบ ระหว่างเข้าร่วมทดสอบ และออกจากทดสอบ ดังนี้
ก่อนเข้าร่วมทดสอบ (ขั้นตอนที่ 1-5)
- ผู้สมัครแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมทดสอบ โดยกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนด ซึ่ง ETDA จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้สมัครทราบ หากนวัตกรรมหรือบริการดังกล่าวอยู่ในขอบข่ายการเข้าร่วมทดสอบใน Digital Service Sandbox ทั้งนี้ ETDA อาจเชิญผู้สมัครให้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมหรือบริการเป็นการเพิ่มเติมได้
- ผู้สมัครยื่นคำขอเข้าร่วมทดสอบ และแนบเอกสารประกอบตามที่ประกาศกำหนด หากนวัตกรรมหรือบริการอยู่ในขอบข่ายของ Digital Service Sandbox ผ่านช่องทาง e-mail : [email protected] ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา หากพ้นกำหนด ETDA จะยุติการพิจารณาเข้าร่วมทดสอบใน Digital Service Sandbox
- ผู้สมัครเข้าเสนอแผนการทดสอบต่อ ETDA อาทิ กระบวนการ ขั้นตอน เป้าหมายตัวชี้วัดความสำเร็จในการทดสอบ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และแผนรองรับการออกจาก Digital Service Sandbox ทั้งกรณีสำเร็จ และไม่สำเร็จ ทั้งนี้ ETDA สามารถพิจารณาขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมได้
- ETDA จะแจ้งผลการพิจารณา รวมถึงให้ผู้สมัครทราบภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับคำขอและเอกสารประกอบครบถ้วน ผ่านช่องทางการติดต่อที่ผู้สมัครได้ให้ไว้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นกรณีที่สำนักงานเห็นชอบให้เข้าร่วมทดสอบ ETDA จะแจ้งกำหนดการเข้าร่วมการทดสอบตามรอบการทดสอบ และหากผู้สมัครมีความจำเป็นไม่สามารถเข้าร่วมทดสอบในรอบดังกล่าวได้ สามารถขอเปลี่ยนแปลงรอบการทดสอบโดยแจ้งให้ ETDA ทราบภายใน 5 วันนับแต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
- ผู้สมัครและ ETDA ลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมทดสอบใน Digital Service Sandbox ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
ระหว่างเข้าร่วมทดสอบ (ขั้นตอนที่ 6)
1. หลักเกณฑ์ที่ผู้เข้าร่วมการทดสอบ ต้องทำในระหว่างเข้าร่วมทดสอบ เช่น
- มีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมข้อมูลหรือหลักฐานประกอบการดำเนินการ
- มีกระบวนการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบ
- มีกระบวนการติดตามความคืบหน้าในการทดสอบ ผลการทดสอบ รวมถึง Transaction Log ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ตลอดจนตัวชี้วัดความสำเร็จในการทดสอบ ความเสี่ยงและข้อผิดพลาดที่พบระหว่างทดสอบ และข้อร้องเรียนที่ได้รับจากลูกค้า
- มีกระบวนการกำกับและควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบ (IT Risk / Cyber Risk / Data Protection / อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) รวมถึงมาตรการดำเนินการเพื่อจัดการความเสี่ยง หรือแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว
- ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
- จัดทำรายงานให้สำนักงานทราบตามรูปแบบ และระยะเวลาที่ตกลงร่วมกัน
2. สามารถขอขยายระยะเวลาการทดสอบ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนถึงวันครบกำหนด
3. สามารถขอผ่อนผันการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ETDA กำหนดได้ ทั้งนี้ จะยังดำเนินการไม่ได้จนกว่า ETDA จะออกประกาศ หรือคำสั่งเป็นการเฉพาะ
ออกจากทดสอบ (ขั้นตอนที่ 7)
1. การออกจากทดสอบ มี 4 กรณีดังต่อไปนี้
กรณีประสบความสำเร็จ
- ประสบความสำเร็จทั้งหมด ผลการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมายในการทดสอบและตัวชี้วัดความสำเร็จในการทดสอบที่กำหนด
- ประสบความสำเร็จบางส่วน ผลการทดสอบยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการทดสอบและตัวชี้วัดความสำเร็จในการทดสอบที่กำหนด แต่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ โดยการปรับปรุงแก้ไขนี้จะให้อยู่ในความดูแลของสำนักงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขภายในกำหนดเวลา และให้บริการภายใต้ขอบเขตที่ ETDA กำหนด
กรณีไม่ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายในการทดสอบและตัวชี้วัดความสำเร็จในการทดสอบที่กำหนด และไม่สามารถปรับปรุงให้เป็นไปตามที่ตามเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จดังกล่าว
กรณีที่ผู้เข้าร่วมทดสอบแจ้งความประสงค์จะออกจาก Digital Service Sandbox
กรณีที่ ETDA ให้ออกจากการทดสอบเนื่องจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- พบ ได้รับข้อร้องเรียน ข้อบกพร่องจากการบริการ กระบวนการดำเนินงาน หรือระบบเทคโนโลยี และไม่สามารถแก้ไขได้
- ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันกับ ETDA ซึ่งสำนักงานได้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ผู้เข้าร่วมทดสอบไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
- กรณีร้ายแรงหรือกระทบต่อผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญ ETDA ให้ออกได้ทันที
2. ผลของการทดสอบ มี 2 กรณี
- กรณีผลของการทดสอบสำเร็จ และ ETDA ให้การรับรองผลการทดสอบดังกล่าวแล้ว ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบดำเนินการตามแผนรองรับการออกจาก Digital Service Sandbox
- กรณีผลของการทดสอบไม่สำเร็จ คือ ให้หยุดการนำเสนอและการบริการแก่ผู้ใช้บริการรายใหม่และรายเดิม พร้อมแจ้งให้ผู้ใช้บริการและสมาชิกทราบก่อนที่จะยุติการให้บริการ ตลอดจนต้องปฏิบัติตามแผนรองรับการออก Digital Service Sandbox รวมถึงรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวให้สำนักงานทราบ
3. สามารถยื่นขอทบทวนผลการพิจารณา เป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ ETDA ประกาศผลการออกจาก Digital Service Sandbox ว่าการทดสอบประสบความสำเร็จบางส่วน หรือไม่ประสบความสำเร็จ หากผู้เข้าร่วมทดสอบไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของ ETDA
4. จัดทำรายงานผลการให้บริการเพื่อติดตามความก้าวหน้า หลังจากที่ออกจาก Digital Service Sandbox ไปแล้วตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่ ETDA กำหนด
ดาวน์โหลด สไลด์ประกอบเวที Open Forum "ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และแนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Service Sandbox)" เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00-16.00