e-Commerce
- 19 ธ.ค. 62
-
1376
-
ETDA จับมือ บัญชีฯ จุฬาฯ เสริมแกร่ง e-Commerce และ e-Transactions ไทย ก้าวทันเวทีโลก
นำงานวิชาการผสานประสบการณ์ พัฒนางาน และสร้างคนที่มี Skills ทันเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการทางวิชาการ และพัฒนาและยกระดับทักษะ เกี่ยวกับการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กับ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA และ รองศาสตราจารย์
ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ โดยมี
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้ช่วยคณบดี และ
ดร.กวิน อัศวานนท์ อาจารย์ประจำคณะฯ รวมทั้ง
ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการ EDTA ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ณ ชั้น 15 ของ ETDA
สุรางคณา กล่าวว่า ETDA เป็นหน่วยงานที่ผลักดันธุรกรรมออนไลน์หรือ e-Transactions และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังผสานความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ในยกระดับงานทั้งสองด้านให้แข็งแกร่ง และสถาบันการศึกษาก็เป็นอีกภาคส่วนที่มีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพราะมีทั้งงานวิจัยและเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่สู่อุตสาหกรรมดิจิทัล
ทางจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ต้องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หรือบัญชี จุฬาฯ เอง โดย คณบดี รองศาสตราจารย์
ดร. วิเลิศ ก็วางแนวทางในการเป็น Chief Business School ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ETDA เองที่จะเป็น “ผู้นำ” การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจอนาคตด้วยธุรกรรมออนไลน์
ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาทักษะด้านธุรกรรมออนไลน์และ e-Commerce ของทั้งสองหน่วยงาน จะเพิ่มความแข็งแกร่งทั้งในเรื่อง e-Standard, Commercial Digital, Branding, Digital Marketing และการเตรียมพร้อมเพื่อสนับสนุนการทำงานภายใต้กรอบความตกลงด้าน e-Commerce และ Digital Services ในเวทีองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)
องค์ความรู้และงานวิจัยจากจุฬาฯ ที่จะมาผสานกับประสบการณ์ทำงานของ ETDA ทั้งในเรื่องการสำรวจ การวางนโยบายและแผน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญทั้งเรื่องกฎหมาย มาตรฐาน และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะการทำงานกับผู้ประกอบการ SMEs และการลงพื้นที่ชุมชน จะช่วยกันส่งเสริมให้เกิดเป็นพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งในที่สุด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของนิสิต บุคลากรทางการศึกษา และผู้ประกอบการไทย
จากการที่เมื่อเร็ว ๆ นี้
World Economic Forum ได้ประกาศ
Global Competitiveness Index 4.0 แม้ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจาก 67.5 คะแนนเป็น 68.1 คะแนน อย่างไรก็ตาม อันดับกลับลดลง 2 อันดับ ไปอยู่ที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นว่า ไทยยังมีคะแนนที่น้อยอยู่ในเรื่อง ICT Adoption หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ประโยชน์ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ น่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้สูงขึ้นและแข่งขันกับต่างประเทศได้
สุรางคณา กล่าว