Digital Citizen
- 30 มิ.ย. 64
-
3607
-
ETDA พัฒนาต้นแบบ “คู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต” ของไทย หนุนเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ สู่พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ
ETDA ต่อยอดโครงการ Internet for Better Life (IFBL) ดึงมาตรฐานความฉลาดทางดิจิทัล (DQ Digital Intelligence) ของ DQ Institute เตรียมพัฒนา “คู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)” ต้นแบบหลักสูตรการอบรม ถ่ายทอดความรู้ การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้สร้างสรรค์ รู้เท่าทันโลกออนไลน์ ในรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจง่าย เพื่อยกระดับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ สู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลคุณภาพ
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การส่งเสริมให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซของประเทศ มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือนั้น นอกจากการสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรที่สนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางออนไลน์ การมีกฎหมาย มาตรฐานที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว
การส่งเสริมให้คนไทยคิดและใช้เทคโนโลยีเป็น อย่างรู้เท่าทัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกคุกคามทางออนไลน์ได้ง่าย อย่าง เด็ก เยาวชน เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และมักเปิดรับสื่อสารสนเทศที่ไม่มั่นคงปลอดภัย รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือเริ่มสนใจที่จะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แต่ยังไม่มีความชำนาญในการใช้งานอุปกรณ์ รวมไปถึงเป็นกลุ่มที่มีการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง หรือ Fake news ก็เป็นอีกภารกิจสำคัญที่ ETDA ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ Internet for Better Life หรือ IFBL (ไอ เอฟ บี แอล) ที่เน้นกิจกรรมหลัก ๆ เช่น การลงพื้นที่จัดอบรมแก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ณ โรงเรียน ชุมชน ชมรม และหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ ยังจัดทำ หลักสูตร และสื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก โดยเผยแพร่ทางออนไลน์ ทั้งรูปแบบวิดิทัศน์ หนังสือคู่มือ บทความ และอินโฟกราฟิกต่าง ๆ ภายใต้ชื่อชุด “วัยใส วัยเก๋า ฉลาดรู้เน็ต” และ Internet for Better Life ที่เผยแพร่ทาง Facebook, YouTube รวมทั้ง เว็บไซต์ และ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ ETDA และสื่อที่เป็นเครือข่ายและพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผลิตอินโฟกราฟิกและสื่อให้ความรู้ ผ่านช่องทางข้างต้นอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมแบบออฟไลน์ แล้วกว่า 5,000 คน และเข้ารับชมสื่อการเรียนรู้ผ่านช่องออนไลน์รวมมากกว่า 10 ล้านการเข้าชม
ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดให้การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรของโครงการ IFBL มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับภาคการศึกษาของประเทศ สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไป ETDA จึงนำแนวคิดตามมาตรฐาน “ความฉลาดทางดิจิทัล (DQ Digital Intelligence)” จาก DQ Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่มีการพัฒนามาตรฐานระดับสากลเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านความฉลาดทางดิจิทัล มาวิเคราะห์ ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สู่การพัฒนาเป็น “คู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)” เพื่อเป็นหลักสูตรในการถ่ายทอดความรู้ การจัดอบรมหรือการเรียนการสอน ที่สามารถดำเนินการได้ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงแนวทางในการผลิตสื่อประกอบเนื้อที่เหมาะสมตรงกับกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตร DQ จะมุ่งพัฒนาที่กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่เพื่อให้ครอบคลุม ETDA จึงขยายไปสู่กลุ่มผู้สูงอายุด้วย ผ่านการพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ เข้าใจง่าย มีการใช้ภาษาที่สามารถสร้างการจดจำ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ นอกจากนี้ ETDA ยังมุ่งหวังให้คู่มือฯ นี้ เป็นเสมือนคู่มือประกอบการเรียนการสอน ที่เป็นแนวทางหรือต้นแบบของหลักสูตรการถ่ายทอดความรู้ให้แก่หน่วยงาน สถานศึกษาและประชาชนที่สนใจ สามารถนำไปถ่ายทอดหรือประยุกต์ใช้ในวงกว้าง เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งประสิทธิผลของการดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความสามารถของคนไทยในการรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และลดปัญหาจากการถูกคุกคามทางออนไลน์ได้ในระยะยาว
ดร.ชัยชนะ กล่าวต่อว่า สำหรับเนื้อหาคู่มือฯ นี้ ได้อิงตามกรอบ DQ Framework ของ DQ Institute ที่มีทั้งหมด 8 ด้าน โดยนำมาปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรม วัฒนธรรม และสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย จนได้ออกมาเป็นกรอบทักษะ 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) ที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญและการจัดการด้านข้อมูลส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ รวมทั้งด้านสิทธิของเจ้าของผลงาน
- ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) ทั้งในเรื่องของเวลา ผลกระทบต่อสุขภาพ อารมณ์และจิตใจที่อาจจะเกิดขึ้น
- ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) เพื่อรู้จักภัยคุกคามออนไลน์ พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม และเครื่องมือในการป้องกันหรือวิธีการรับมือ
- ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) เช่น การค้นหา การวิเคราะห์ประเมินเนื้อหาในโลกออนไลน์ รวมถึงการผลิตเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์และสุดท้ายคือ
- ด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) เพื่อสร้างความร่วมมือในโลกดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่า คู่มือฯ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจะเดินหน้านำร่อง ใช้ถ่ายทอดความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ผ่านการอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมกับเผยแพร่สื่อสร้างความรู้ ความตระหนัก ผ่านช่องทางออนไลน์ของ ETDA และขยายไปยังช่องทางอื่น ๆ ที่หลากหลาย ทั้งผ่าน Influencer และเครือข่ายความร่วมมือ หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยม เพื่อสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและกลุ่มอื่นๆ มากยิ่งขึ้น
ภายในปี 2564 ETDA ตั้งเป้าว่า หลักสูตรและสื่อที่พัฒนาขึ้น จะกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ทั้งในระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นและสามารถสร้างการเข้าถึงสื่อออนไลน์ของโครงการ มีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 10 ล้านการเข้าชม พร้อมๆ กับการผสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน เช่น สถาบันการศึกษา, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และมูลนิธิหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกรอบการดำเนินงานเชิงรุก ที่มีการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนัก และการรับมือ แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ต่อยอดและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ETDA ยกระดับโครงการ Internet for Better Life พัฒนาต้นแบบ “คู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต” ของไทย หนุนเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ สู่พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ