Digital Citizen
- 20 ม.ค. 63
-
3448
-
อวยลูกออนไลน์ นึกถึงใจลูกหรือยัง
ไม่แปลกหรอกที่พ่อแม่รู้สึกว่า ลูกของเราน่ารัก อยากจะอวด อยากจะโชว์รูปหรือคลิปลูกของเราให้คนอื่นดู เผลอ ๆ อาจมีแมวมองมาเห็น มาพาไปเป็นดารา เป็นนางแบบเด็ก ลูกจะมีชื่อเสียง เงินทองจะไหลมาเทมา หรือลูกเราเก่ง สอบติดโรงเรียนดัง ทำคะแนนได้อันดับต้น ๆ ของประเทศ เราชื่นชมยินดี อยากจะบอกใคร ๆ
อารมณ์อยากอวดลูกนั้นมีกันทุกคน พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนคิดหรือรู้สึกแบบเดียวกันนี้ จึงไม่แปลกใจเลยที่เรามักเห็นภาพหรือวิดีโอเด็กมากมายบนอินเทอร์เน็ต ทั้งที่โพสต์เองและส่งต่อ ๆ กันมาด้วยเอ็นดูหรือชื่นชมเด็ก
ดูผิวเผินอาจเหมือนไม่มีอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าการโพสต์ข้อมูลบนโลกออนไลน์อาจนำภัยและความเสี่ยงมาถึงตัวลูก ๆ ทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิเด็กด้วย
สิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน
สิทธิเด็กขั้นพื้นฐานมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการโดยสรุป ได้แก่
1) สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่
2) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา
3) สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และ
4) สิทธิในการมีส่วนร่วม
แล้วการลงภาพเด็กนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กข้อใดได้บ้าง
การลงภาพเด็กในชุดนักเรียนหรือหน้าโรงเรียน การแชร์โลเกชัน อาจทำให้เด็กตกเป็นเป้าของการล่อลวง การลักพาตัว เด็กอาจถูกนำภาพไปใช้ในเรื่องเพศส่วนตัวสำหรับผู้ที่มีรสนิยมทางเพศกับเด็ก หากพ่อแม่ลงภาพเด็กใส่ชุดว่ายน้ำ แต่งกายล่อแหลม หรือโพสต์ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเด็กอาจไม่รู้ตัว เพราะเขากำลังเล่นหรือทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน เช่น เล่นน้ำในสระ หรือฝึกฉีกขาในห้องเรียนโยคะ
รู้หรือยังว่าเด็กตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงภัยอันตรายได้ด้วยมือของพ่อแม่ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กข้อที่เด็กควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตรายต่าง ๆ
การลงภาพเด็กที่อยู่ในท่าทางตลกขบขันชวนหัวเราะ เด็กอาจรู้สึกอับอาย ไม่อยากให้ใครเห็น การสร้างสถานการณ์หลอกลูก เช่น ใช้มีดปลอมปักแขนตัวเองแล้วร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด เพื่อดูอากัปกิริยาความไร้เดียงสาของเด็กที่กำลังตกใจและเป็นห่วงพ่อแม่ที่กำลังเจ็บปวด (ปลอม ๆ) และตัวเขาเองไม่สามารถช่วยเหลือคนที่เขารักได้ เป็นการทำร้ายจิตใจเด็ก เป็นรูปแบบหนึ่งของการทารุณกรรมเด็ก
การลงภาพหรือข้อมูลโดยไม่ได้สอบถามหรือได้รับความยินยอมจากเด็ก นั่นคือขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเฉพาะในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา
ความผิดในแง่กฎหมาย
การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก การลงภาพหรือคลิปวีดีโอเด็กถูกทุบตี ทำร้าย โดนลงโทษ แฉ ประจาน เด็กในอุบัติเหตุหรืออยู่ในสภาพที่น่าสมเพชเวทนา นอกจากจะเป็นการทารุณกรรมจิตใจเด็ก อาจโดนข้อหานำเด็กมาแสวงหาประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26, 27 ด้วย
มาตรา 26
(5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
(6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
(7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะ เป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
มาตรา 27
ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดย เจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบ
แล้วการโชว์ความเก่งของเด็ก ๆ ล่ะ
มาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามเรื่องการลงภาพหรือคลิปวีดีโอด้านบวก ที่ไม่ใช่ทารุณทำร้าย แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีชื่อเสียง ที่พ่อแม่ต้องการดันลูกเข้าวงการบันเทิงล่ะ สามารถทำได้หรือไม่ อันนี้
ควรต้องพิจารณาความต้องการของเด็กด้วย เด็กเต็มใจที่จะมาแต่งตัว ฝึกเดินแบบ โพสต์ท่าถ่ายแบบ หรืออยากจะเล่นสนุกตามวัยของเขา
เด็กต้องการหรือยินยอมให้เผยแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ตหรือไม่ การให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเป็นการรักษาสิทธิพื้นฐานของเด็กข้อหนึ่งที่สำคัญ
การโพสต์หรือแชร์ภาพเด็ก ๆ ที่ไม่ใช่ลูกของเรา
ในส่วนของการแชร์เพื่อช่วยล่ะ ทำได้หรือไม่ บางครั้งเราอาจเห็นโพสต์ภาพเด็กพิการ เด็กมอมแมมขอทาน เด็กไร้บ้าน เด็กอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ก็อยากให้เขาได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้คน เราอาจจะถ่ายและแชร์โพสต์ไปในอินเทอร์เน็ต
หากวัตถุประสงค์คือต้องการช่วยเหลือ ก็ควรส่งภาพให้บุคคลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น พ่อแม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก สายด่วนช่วยเหลือเด็ก ฯลฯ แบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่าและไม่เป็นการประจานเด็กด้วย
ก่อนโพสต์หรือแชร์ ภาพหรือคลิปเด็ก ๆ ควรเช็กสักนิด
ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก ก่อนโพสต์หรือแชร์อะไรเกี่ยวกับเด็ก ๆ บนโลกออนไลน์ ควรตรวจสอบสิ่งเหล่านี้เสียก่อน
- ไม่ควรเป็นภาพเด็กไม่ใส่เสื้อผ้า เสื้อผ้าน้อยชิ้น มีการแต่งตัวหรือแสดงท่าทางไม่เรียบร้อยเหมาะสม ไม่ว่าอยู่ในวัยใดก็ตาม เพราะนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกนำภาพไปใช้ในเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย
- ไม่เป็นภาพเด็กถูกทำร้ายร่างกาย ทารุณกรรมทางจิตใจ การแกล้งเด็กให้ร้องไห้หรือทำให้เกิดความหวาดกลัวเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก แม้จะไม่ได้ตั้งใจแต่ก็สร้างบาดแผลในใจให้กับเด็ก การบันทึกภาพหรือวิดีโอไว้และนำไปลงในอินเทอร์เน็ตเป็นการละเมิดซ้ำ
- การถ่ายภาพร่วมกับการแชร์โลเกชัน อาจทำให้เด็กตกเป็นเป้าของคนร้ายลักพาตัวเด็ก
- ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก เช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น ที่อยู่ โรงเรียน หมายเลขโทรศัพท์ ภาพถ่าย ฯลฯ เป็นช่องทางทำให้เข้าถึงเด็กได้ คนร้ายอาจสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วนำมาแอบอ้างเป็นญาติหรือคนรู้จักเพื่อพูดคุยเข้าหาเด็ก และล่อลวงเด็กไปได้
การโพสต์เรื่องใด ๆ ของเด็กลงบนอินเทอร์เน็ต ควรคำนึงถึงความรู้สึกของเด็กด้วย ถ้าเด็กโตพอที่จะตัดสินใจได้ ควรให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ถ้าเด็กยังเล็กเกินไป ยังไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจอย่างเหมาะสมได้เอง ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ตัวเด็ก ความต้องการของเด็กในช่วงวัยของเขา หากไม่แน่ใจให้ละเว้นการลงสื่อดังกล่าวเสียจะดีกว่า
การโพสต์เรื่องใด ๆ ของเด็กลงบนอินเทอร์เน็ต ควรคำนึงถึงความรู้สึกของพวกเขา ไม่ว่าจะตอนนี้ หรือเมื่อพวกเขาโตขึ้นในอนาคต