TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA จุดพื้นที่เดบิวต์ "เทรนเนอร์ดิจิทัล"  ผู้ส่งต่อ 5 Skills Set ใหม่แห่งปี 2565 ที่ #ของมันต้องมี ในโลกยุคดิจิทัล

Digital Citizen Documents
  • 25 พ.ค. 65
  • 1598

ETDA จุดพื้นที่เดบิวต์ "เทรนเนอร์ดิจิทัล" ผู้ส่งต่อ 5 Skills Set ใหม่แห่งปี 2565 ที่ #ของมันต้องมี ในโลกยุคดิจิทัล

ในทุกๆ ปี หลายคนมักจะเห็นทอปปิกคอนเทนต์เชิงเปิดทักษะใหม่ที่จำเป็นของปีนั้นๆ แต่ถ้าขยายภาพใหญ่เป็นยุคสมัย โดยเฉพาะ “ยุคดิจิทัล” ที่ปัจจุบันทุกคนล้วนใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อเรียน ทำงาน ทำธุรกิจ ติดต่อสื่อสารกันแล้ว คำถามที่ตามมาคือ Skill Set ใหม่ ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนควรมีไว้ติดตัว มีอะไรบ้าง? และเราจะสามารถไปเรียนรู้ชุดทักษะใหม่ทางดิจิทัลนี้ได้จาก “ใคร?”

ดังนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) จึงร่วมมือกับ Dek-D เปิดตัวโปรเจกต์ ETDA Digital Citizen Trainer หรือ EDC Trainer พื้นที่สร้าง “เทรนเนอร์ดิจิทัล” ผู้ที่จะเข้ามาช่วยส่งต่อองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะทางดิจิทัลต่อผู้คน ชุมชน สังคม หน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งขยายกว้างไปทั่วประเทศไทย โดยเทรนเนอร์ดิจิทัลที่ได้รับการอบรมจาก ETDA จนมีความพร้อมทางดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ จะทำหน้าที่ช่วยเติมเต็มคลังความรู้ ครบถ้วนทั้งทฤษฏี กิจกรรมเสริมทักษะ และการทดสอบ เพื่อพัฒนาผู้คนในยุคดิจิทัลสู่การเป็น “พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ” ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพและมีความสร้างสรรค์ ด้วยการมี Skill Set ใหม่ หรือชุดทักษะจำเป็นที่จะต้องมีในด้านดิจิทัล ภายใต้หลักสูตร ETDA Digital Citizen (EDC) หรือ การสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยอิงมาตรฐานสากล มีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับพฤติกรรม วัฒนธรรม และสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของคนไทย

3-ETDA-Digital-Citizen-Trainer.jpg
4-ETDA-Digital-Citizen-Trainer.jpg
5-ETDA-Digital-Citizen-Trainer-(3).jpg

แล้ว เทรนเนอร์ดิจิทัล จะช่วยเติมชุดทักษะใหม่ทางดิจิทัลแบบใดบ้าง วันนี้ ETDA จะพาทุกคนไปเปิด 5 Skills Set ใหม่ที่ #ของมันต้องมี ในโลกดิจิทัล ภายใต้หลักสูตร ETDA Digital Citizen (EDC) มีอะไรบ้าง ไปดูกัน!

6-ทกษะท-1-ดานอตลกษณดจทล-(Digital-Identity).jpg

ทักษะที่ 1 - ด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity)

รู้จักการสร้างตัวตน และจัดการความเป็นส่วนตัวให้ปลอดภัยในโลกยุคดิจิทัล

เริ่มที่ ทักษะด้านอัตลักษณ์ดิจิทัล (Digital Identity) ที่จะสอนให้ทุกคนรู้จักกับประตูด่านแรกกับการก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ สร้างความตระหนักรู้ในการสร้างตัวตน ให้เข้าใจและระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เพราะถ้าไม่ระวังก็อาจเจอกรณีการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอม ไลน์ปลอม ยกตัวอย่าง กรณีถูกคนอื่นแอบอ้างปลอมเป็นเราในเฟซบุ๊ก แล้วทักไปขอยืมเงินเพื่อนเราหรือทำเรื่องเสียหาย ซึ่งก็มี 3 วิธีจัดการที่ ETDA แนะนำ คือ แจ้งที่ 1 แจ้งสิทธิ เพื่อบอกผู้ให้บริการ เช่น เฟซบุ๊กหรือไลน์ได้รับทราบ ด้วยวิธีการกดรีพอร์ตหรือรายงาน แบ่งเป็น กรณี #เฟซบุ๊กปลอม ให้ไปที่หน้าโพรไฟล์ปลอม กดปุ่มสัญลักษณ์จุด 3 จุดบนปกโพรไฟล์ เลือกค้นหาการสนับสนุนหรือรายงานโพรไฟล์ แล้วกรอกข้อมูลทำตามขั้นตอนบนหน้าจอเกี่ยวกับบัญชีปลอมเพื่อส่งรายงาน ซึ่งระบบจะช่วยตรวจสอบได้เลย ส่วนกรณี #ไลน์ปลอม ให้ไปที่หน้าแชทของไลน์ปลอม เลือกสัญลักษณ์จุดสามจุดจากนั้นกดรีพอร์ต เลือกเหตุผลในการรีพอร์ตแล้วกดส่ง เรื่องจะถูกส่งไปยังไลน์สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น เพื่อตรวจสอบต่อไป

ถัดมาแจ้งที่ 2 แจ้งเตือน หลังจากรายงานไปยังเฟซบุ๊กหรือไลน์แล้ว ให้รีบเตือนบอกญาติ และเพื่อนๆ ว่าเราถูกแอบอ้าง แคปเจอร์หรือเก็บภาพรูปการสนทนาไว้เป็นหลักฐาน และให้เพื่อนๆ ช่วยกันแจ้งรีพอร์ตตามขั้นตอนแรกอีกแรง และแจ้งที่ 3 แจ้งความ ให้รวบรวมหลักฐานไว้ เช่น แคปเจอร์จับภาพหน้าจอสนทนาออนไลน์ หรือหน้ารูปโพรไฟล์ที่ถูกปลอมขึ้นมา แล้วนำไปแจ้งความกับตำรวจท้องที่หรือตำรวจ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หรือแจ้งทางเว็บไซต์ www.tcsd.go.th/แจ้งเหตุ/ ตำรวจก็จะดำเนินการตามกระบวนการเพื่อหาตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากเริ่มต้นไม่ถูกสามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน 1212 ETDA หรือที่รู้จักกันในชื่อ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ที่ดำเนินงานโดย ETDA และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็จะช่วยแนะนำและดำเนินการช่วยเหลือตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัญหาที่พบ

7-ทกษะท-2-ดานการใชเทคโนโลยดจทลอยางเหมาะสม-(Digital-Use).jpg

ทักษะที่ 2 - ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use)

จัดสรรเวลาหน้าจออย่างสมดุล เพราะสุขภาพ อารมณ์ และความรู้สึกสำคัญ!

ด้าน ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม (Digital Use) จะช่วยสร้างความเข้าใจในการจัดสรรเวลาหน้าจอได้อย่างสมดุล การเสพเนื้อหาบนโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม และรับรู้ผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งกับตนเองและผู้อื่น ยกตัวอย่าง การใช้เวลาติดกับหน้าจอโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นอินเทอร์เน็ต ดูคลิปวิดีโอ อัปเดตข่าวสาร ซึ่งการอยู่ในโลกดิจิทัลนานเกินไปก็ส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพ มีอาการปวดหลัง ปวดคอ จนนำไปสู่โรคฮิตคนวัยทำงานอย่างออฟฟิศซินโดรม หรือเกิดอาการนิ้วล็อก ส่วนในด้านจิตใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ และสำหรับในด้านสังคม ถ้าไม่สามารถแยกการใช้ชีวิตประจำวันออกจากการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้

โดยหนึ่งในเรื่องที่ทุกคนจะได้จากทักษะด้าน Digital Use คือ การบริหารจัดการเวลาบนหน้าจอ หรือ Screen Time Management ซึ่งจะช่วยเสริมทักษะในการรู้จักควบคุมตนเอง และสามารถแบ่งเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ต การเล่นเกมออนไลน์ และโซเชียลมีเดียได้ รวมถึงรู้จักการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เวลาบนหน้าจอ และกิจกรรมในชีวิตประจำวันโดยไม่กระทบต่อสุขภาพตนเองและความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง เช่น มีเป้าหมายทุกครั้งที่ใช้งานดิจิทัลอย่างการฝึกตนเองไม่เล่นมือถือเมื่อถึงเวลาเข้านอน และให้คนในโลกความจริงเป็นเบอร์หนึ่งเสมอ อีกทั้งการท่องโลกอินเทอร์เน็ตมากไปก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะโดนหลอกจากการใช้เวลาบนดิจิทัลด้วย เช่น มีมิจฉาชีพหลอกขายไอเท็มเกมแล้วไม่ให้สินค้า หรือสวมรอยเป็นเพื่อนเราหลอกให้เราโอนเงินไป ซึ่งก็มีสารพัดวิธีที่มิจฉาชีพคิดค้นใหม่ๆ จึงต้องมีสติและระมัดระวัง

7-ทกษะท-2-ดานการใชเทคโนโลยดจทลอยางเหมาะสม-(Digital-Use).jpg

ทักษะที่ 3 - ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security)

มุ่งเน้นความปลอดภัยทางไซเบอร์ รู้วิธีและใช้เครื่องมือเบื้องต้นรับมือภัยคุกคามได้จริง

ต่อมา ทักษะด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล (Digital Security) จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงหรือความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นบนโลกดิจิทัลต่อตัวเอง ต่อส่วนรวม และไม่เป็นผู้สร้างภัยร้ายนั้นเอง รวมทั้งสร้างความเข้าใจต่อประเด็นภัยคุกคามไซเบอร์ที่เป็นอันตรายต่อข้อมูล ระบบ และอุปกรณ์ รวมทั้งรู้จักวิธีหรือเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยป้องกัน และรับมือกับภัยคุกคามได้ ยกตัวอย่าง กรณีมือถือหาย จะทำอย่างไรถ้าคนที่เก็บได้ขโมยข้อมูลในมือถือไป ซึ่งก็จะมีสอนวิธีจัดการ เช่น 1. แจ้งผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน เพื่อระงับการให้บริการ เช่น e-Banking 2. เปลี่ยนรหัสผ่าน Password ในการเข้าใช้บริการต่างๆ ที่มีในมือถือ 3. แจ้งความกับตำรวจ เพื่อหาตัวผู้ร้าย และเพื่อเป็นหลักฐาน กรณีผู้ร้ายอาจนำมือถือไปทำความผิดต่อภายหลัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การป้องกันไว้ก่อนเกิดเหตุย่อมดีกว่า โดยทุกคนต้องรู้ก่อนว่า ตนเองเก็บข้อมูลหรือแอปพลิเคชันอะไรในมือถือบ้าง ให้ตั้งรหัสล็อกหน้าจอมือถือและรหัสผ่าน ในการเข้าแอปต่างๆ เหมือนใส่ล็อก 2 ชั้น ให้ล็อคเอาท์ (Logout) เสมอเมื่อไม่ใช้แอปใดๆ แล้ว ไม่บันทึกข้อมูลส่วนตัว Username และรหัสผ่านไว้ในมือถือ ถ้ามือถือเป็นระบบแอนดรอยด์ ให้เปิดใช้ Find My Device และหากเป็นระบบ IOS ให้เปิดใช้ Find my iphone จากในมือถือ ซึ่งเป็นระบบที่สามารถล็อกหรือล้างข้อมูลมือถือจากเบราว์เซอร์เมื่อมือถือหายได้นั่นเอง

7-ทกษะท-2-ดานการใชเทคโนโลยดจทลอยางเหมาะสม-(Digital-Use).jpg

ทักษะที่ 4 - ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)

ข้อมูลส่วนตัวสำคัญอย่างไร ทำไมต้องป้องกัน

สำหรับ ทักษะด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) จะสร้างองค์ความรู้ให้เข้าใจความหลากหลายของข้อมูลบนโลกดิจิทัล ให้สามารถค้นหา วิเคราะห์ และเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและจริยธรรม ยกตัวอย่างประเด็นคำถามที่พบบ่อยอย่าง ข้อมูลส่วนตัวสำคัญอย่างไร ทำไมต้องป้องกัน? เคยไหมว่า เวลาเราเล่นโซเชียลมีเดีย สิ่งที่เรากำลังคิดหรือกำลังสนใจ เช่น อยากกินโอมากาเสะ อยู่ๆ โฆษณาร้านโอมากาเสะต่างๆ ก็เด้งขึ้นมาเหมือนรู้ใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากทุกวันนี้มีกระบวนการเรียกว่า “DATA Processing” ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล ที่ผู้ให้บริการต่างๆ รวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ต เช่น ชอบสินค้าใด ชอบกิจกรรมประเภทไหน ชอบอาหารอะไร หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมอยู่ในฐานข้อมูล เพื่อที่ผู้ให้บริการสามารถให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนและพัฒนาธุรกิจหรือบริการตนเองได้นั่นเอง

ขณะเดียวกัน ข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง เช่น ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เพื่อแลกกับการดูดวงออนไลน์ฟรี หรือเข้าแอปพลิเคชันเปลี่ยนหน้าที่ต้องอัปโหลดรูปถ่ายส่วนตัว ก็อาจจะถูกผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดได้ อย่างการนำข้อมูลไปก่ออาชญากรรมต่างๆ ปลอมแปลงตัวตน แบล็กเมล โทรศัพท์ข่มขู่ โดยเฉพาะข้อมูลที่เราโพสต์ลงบนสื่อโซเชียลแล้วเปิดเป็นสาธารณะ (Public) ทำให้ใครๆ ก็สามารถมองเห็นข้อมูลของเราได้ ดังนั้น ข้อมูลสำคัญควรตั้งให้เฉพาะเพื่อนเห็นได้เท่านั้น หรือ Friend Only ซึ่งจะทำให้เราควบคุมตัวตนของเรา ให้มีความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ETDA ยังฝาก 4 เคล็ดลับที่ดีสำหรับปกป้องข้อมูลส่วนตัวด้วย ดังนี้

  1. ปกปิดหมายเลข IP ที่ใช้งานโดยอาศัยบริการ VPN
  2. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของเบราว์เซอร์ที่ใช้ และให้ปิดการทำงานของคุ้กกี้ (cookie)
  3. ใช้งานโหมดท่องเว็บไซต์แบบส่วนตัว ด้วยระบบ Private Browsing และ
  4. อย่าคลิกลิงก์ที่ไม่แน่ใจโดยตรง

7-ทกษะท-2-ดานการใชเทคโนโลยดจทลอยางเหมาะสม-(Digital-Use).jpg

ทักษะที่ 5 - ทักษะด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication)

รู้จักวิธีการจัดการร่องรอยดิจิทัลที่ดี เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์สร้างสรรค์บนโลกดิจิทัล

ส่งท้ายด้วย ทักษะด้านการสื่อสารดิจิทัล (Digital Communication) สร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของผลกระทบจากการสื่อสารและการสร้างร่องรอยดิจิทัลทั้งทางบวกและลบ รู้จักเครื่องมือและวิธีการในการจัดการร่องรอยทางดิจิทัลที่ดี และการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีบนโลกดิจิทัล ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้ ต้องยอมรับว่าโอกาสบนโลกออนไลน์ที่จะสื่อสารว่าเราเป็นใคร ทำอะไรก็มีมากผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การทำคอนเทนต์ลงบนช่องยูทูบ สตรีมเมอร์ บล็อกเกอร์ เขียนคอนเทนต์ออนไลน์ เป็นต้น เหล่านี้เมื่อลงมือทำออกไปสู่สาธารณชนแล้วก็อาจได้กระแสตอบรับที่ดี และไม่ดีได้ กรณีหากได้รับผลกระทบเชิงลบ คอมเมนต์ไม่ดี ด่าว่า ถ้าเรารู้จักวิธีการจัดการร่องรอยดิจิทัล เราก็อาจทราบว่าเป็น BOT ซึ่งย่อมาจาก Robot เป็นโปรแกรมที่ใช้ทำงานแทนมนุษย์ ที่มักถูกใช้ในการปั่นหรือสร้างคอมเมนต์แย่ ๆ จากแหล่งเดียว ซึ่งสิ่งนี้ก็นับเป็นภัยคุกคามที่ระบาดหนักชนิดหนึ่งเช่นกัน ที่อาจสร้างความรำคาญใจให้แก่เราและคนรอบตัวได้

เพื่อการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันสร้างสรรค์บนโลกดิจิทัล สำหรับผู้ที่อยากสร้างคอนเทนต์ เช่น ยูทูบเบอร์ที่ดีสื่อสารบนโลกดิจิทัล ETDA ก็มีเคล็ดลับมาฝากเช่นกัน คือ

  1. เลือกทำจากสิ่งที่ตนเองชอบก่อน เช่น ชอบเกม เครื่องสำอาง ก็นำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังผ่านยูทูบ
  2. ข้อมูลต้องแน่น ต้องเป๊ะ ต้องมีการเตรียมข้อมูล ศึกษาหาข้อมูลลึกซึ้ง ยิ่งถ้ามีแบรนด์หรือเจ้าของสินค้านำสินค้ามาให้รีวิว เรายิ่งต้องศึกษา
  3. นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจ ตามกระแสก็ได้ แต่เรื่องที่นำเสนอต้องไม่ซ้ำกับคนอื่น และหากมีการอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งอื่น ควรมีการบอกแหล่งที่มาเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์
  4. เผยแพร่งานลงในโซเชียลทุกช่องทางของตนเอง และเลือกไฮไลต์ไปลงให้เหมาะกับแต่ละช่องทาง เช่น คลิปสั้นๆ สนุกๆ ก็อาจลงใน TikTok แทน พร้อมศึกษาเวลาที่กลุ่มเป้าหมายของเราจะดูด้วย
  5. โปรโมทตามสื่อต่าง ๆ ถ้ายังไม่มีงบก็อาจไปฝากเนื้อฝากตัวตามเพจที่ยินดีลงให้ หรือถ้ามีงบก็สามารถซื้อโฆษณามาเพิ่มการโปรโมทได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นชุดทักษะที่สำคัญที่เราทุกคนจำเป็นต้องมีในโลกดิจิทัล ซึ่งยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากทีเดียว ใครที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ เทรนเนอร์ดิจิทัลหรือทักษะทางดิจิทัลแบบเชิงลึกเพิ่มเติม สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand

Rating :
Avg: 4.8 (5 ratings)