TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA พาสำรวจ 5 ประเทศต้นแบบรัฐบาลดิจิทัล  พัฒนา e-Government สร้างบริการสุดล้ำเพื่อประชาชน

Digital Service Documents
  • 22 มิ.ย. 65
  • 11348

ETDA พาสำรวจ 5 ประเทศต้นแบบรัฐบาลดิจิทัล พัฒนา e-Government สร้างบริการสุดล้ำเพื่อประชาชน

โลกแห่งเทคโนโลยีหมุนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขึ้นทุกวัน ทุกประเทศต่างล้วนปรับตัวตามให้ได้ไวมากที่สุด ขณะที่ เทคโนโลยีก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชากรโลกเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆ เรื่อง ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะในฝั่งภาครัฐ ต่างปรับตัว และการให้บริการก้าวสู่โลกออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ด้วยรูปแบบการให้บริการที่หลายคนต่างคุ้นหูอย่าง e-Government หรือ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คือ การจัดการบริการต่างๆ ของภาครัฐให้กับประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดต่อและขอรับบริการจากภาครัฐได้ง่าย รวดเร็ว และประหยัดเวลาในการตรวจสอบ การจัดทำเอกสารสำคัญต่างๆ ที่ภาครัฐร้องขอ ที่สำคัญประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

สำหรับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญที่จะผลักดันและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศดิจิทัล หรือ Digital Ecosystem ที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ทั้งระหว่างภาครัฐกับรัฐ ธุรกิจกับธุรกิจ หรือแม้แต่ภาครัฐกับภาคธุรกิจ เพื่อให้การทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เชื่อมโยงระบบข้อมูลได้อย่างคล่องตัวและช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการจากแต่ละหน่วยงานได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิด e-Government ขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถของภาครัฐในการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดย e-Government จะช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงจุด รวมถึงมีความโปร่งใสอีกด้วย

แต่ก่อนจะไปทราบว่าสถานการณ์ e-Government กับประเทศไทย ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร วันนี้จะขอพาทุกคนไปรู้จัก e-Government ในประเทศต่างๆ ว่าภาครัฐแต่ละประเทศมีการพัฒนาและผลักดันระบบดิจิทัลเพื่อให้บริการภาคประชาชนอย่างไรบ้าง โดยแต่ละประเทศมีการจัดอันดับจากดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

1-‘เดนมารก’-ท-1-ของ-e-Governance-ในยโรป.jpg

‘เดนมาร์ก’ ที่ 1 ของ e-Governance ในยุโรป

ประเทศเดนมาร์ก เป็นประเทศในแถบยุโรปที่มีค่าเฉลี่ยของการเป็น e-Government สูงสุดในภูมิภาคยุโรป และมีค่าเฉลี่ยในการเป็น e-Government สูงที่สุดจาก 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยเดนมาร์กมีการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับระบบของหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น และริเริ่มโครงการต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เดนมาร์กมีนโยบายที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ มากกว่า 100 รายการอย่างง่ายดายและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อนโดย Digital Key ในชื่อ NemID ที่ใช้เข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในทุกแพลตฟอร์ม เปรียบเสมือนเป็นกล่องจดหมายที่ปลอดภัยในการสื่อสารระหว่างรัฐและประชาชนในประเทศ

เดนมาร์กมีการวางรากฐานที่ดีตั้งแต่เมื่อปี 2511 โดยให้ประชาชนทุกคนในเดนมาร์กลงทะเบียนในฐานข้อมูลกลาง หรือ Central Person Register (CPR) ก่อนเริมผลักดันเข้าสู่ระบบดิจิทัลในปี 2544 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ e-Government ในเดนมาร์ก โดยได้มีการสร้างลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานทุกแห่งที่จำเป็นต้องใช้อีเมลในการทำงาน และเริ่มสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลในที่ทำงานกัน จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2554 ที่กำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องมี Digital Post ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐและประชาชนบนช่องทางออนไลน์ ส่วนในภาคธุรกิจก็มีการบังคับใช้ Digital Post เช่นเดียวกัน

2-‘เกาหลใต’-ตวทอปฝงเอเชย-ดาน-e-Government.jpg

‘เกาหลีใต้’ ตัวท็อปฝั่งเอเชีย ด้าน e-Government

เกาหลีใต้ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งในฝั่งเอเชียที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด โดยมีค่าเฉลี่ยการเป็นรัฐบาลดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 2 ในดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในการบริหารจัดการภาครัฐ ในปี 1998 กระทรวงการปกครองและมหาดไทยได้ออกวิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับ e-Government ในศตวรรษที่ 21 ตั้งเป้าสู่การเป็นรัฐบาลที่มีคุณภาพสูงในการส่งมอบบริการบนนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ประชาชนในประเทศ โดยแผนดังกล่าว ได้มีการจัดให้มีหน่วยงานแบบ One-Stop Service เพื่อบริการประชาชนในทุกที่ทุกเวลา อย่างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมผลักดันการบริการแบบ Non-Stop Service ที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งยังมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลกันอย่างสมบูรณ์ด้วย

สำหรับ e-Government ที่ทางเกาหลีใต้บริการประชาชนในประเทศมีหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของงานราชการ งานเอกสารถูกเชื่อมต่อกันไว้ด้วย Government Superhighway Network หรือ GSN เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดถูกเชื่อมโยงกัน และเข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยพยายามสร้างระบบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันให้ได้มากที่สุด ทั้งยังมีบริการที่หลากหลาย อาทิ ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการประกันสุขภาพ และระบบการขอสิทธิบัตรทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ภาครัฐที่มีบริการเพื่อประชาชน แต่ภาคเอกชนก็เข้าร่วมเช่นกัน

3-การพฒนาอยางกาวกระโดดของ-e-Government-ใน-‘เอสโตเนย’.jpg

‘เอสโตเนีย’ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ e-Government ใน ‘เอสโตเนีย’

จากดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศเอสโตเนีย โดยในปี 2018 ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศเอสโตเนียอยู่ในอันดับที่ 16 และในปี 2020 ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศเอสโตเนียอยู่ในอันดับที่ 3 ถือว่าเป็นการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เอสโตเนียถือเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กในทวีปยุโรป มีประชากร 1.3 ล้านคน แต่กลับก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในสังคมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับระบบ e-Government ของเอสโตเนีย ถือได้ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะข้อมูลภาครัฐมีการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกๆ ด้าน จึงนับว่าเป็นต้นแบบของอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก เอสโตเนียใช้เวลาพัฒนาระบบการทำงานของ e-Government ในประเทศถึง 17 ปี นับตั้งแต่ประกาศเอกราช มีการปรับปรุงการทำงานและการให้บริการของภาครัฐโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐได้ง่ายผ่านเว็บไซต์ e-Government ของเอสโตเนีย แสดงให้เห็นว่าการให้บริการภาครัฐของเอสโตเนียนั้น ร้อยละ 99 เป็นแบบออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวเอสโตเนียเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ง่ายมี 2 ประการหลักๆ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์บริการภาครัฐผ่านการยืนยันตัวตนด้วย Electronic-ID และอีกปัจจัย คือ ความโปร่งใส ซึ่งเอสโตเนียมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องความโปร่งใส โดยข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลและประวัติทั้งหมดไม่สามารถถูกลบออกได้

4-‘สงคโปร’-มาแรงแซงหนาควาท-1-e-Government-ในอาเซยน.jpg

‘สิงคโปร์’ มาแรงแซงหน้าคว้าที่ 1 e-Government ในอาเซียน

สำหรับในอาเซียนเรานั้น สิงคโปร์ ถือเป็นที่ 1 ใน ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน อยู่อันดับที่ 2 ของทวีปเอเชียและอันดับ 11 ของทั่วโลก ประเทศสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะทำให้ประเทศเป็น Smart Nation ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ตั้งแต่วันที่เริ่มก่อตั้งประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมนานาชาติ โดยมีประชาชนเป็นที่ตั้ง ยกระดับการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนสามารถทำได้อย่างสะดวกและปลอดภัยผ่าน Nation Digital Identity นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้เกิดระบบ E-Payments เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นไปได้ง่ายและทั่วถึง พร้อมสร้างฐานข้อมูลเป็นฐานข้อมูลเดียวจัดเก็บในรูปแบบ Big Data เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ กำหนดทิศทางนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากที่สุด

ในปี 2023 สิงคโปร์มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น e-Government มากขึ้น โดย 70% ของระบบราชการจะต้องอยู่บนคลาวด์ ข้าราชการทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องดิจิทัล ทุกกระทรวงจะต้องมีโครงการปัญญาประดิษฐ์อย่างน้อย 1 โครงการเพื่อให้บริการ หรือสร้างนโยบาย และการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานต้องใช้เวลาแค่ไม่เกิน 7 วันทำการ โดยทุกกระทรวงจะต้องเสนอแผนในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการผลักดันงานภายในรัฐบาลด้วย

5-‘ไทย’-มงสการเปน-e-Government-ไตอนดบขนอยางตอเนอง.jpg

‘ไทย’ มุ่งสู่การเป็น e-Government ไต่อันดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เข้าสู่การเป็น e-Government มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไต่อันดับขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจากปี 2018 อยู่อันดับที่ 73 และในปี 2020 ขึ้นมาอันดับที่ 57 ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานของรัฐก็ได้เดินหน้าพัฒนาองค์กรก้าวสู่การเป็น e-Government อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการประชาชนสะดวก และรวดเร็วมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ระบบ e-LandsAnnoucement ระบบเผยแพร่ประกาศสำนักงานที่ดินเพื่อการรักษาสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต ระบบ Tax Single Sign On ที่มีการยืนยันตัวตนแบบ One-Time Password (OTP) เพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นระบบ e-Service ด้านภาษีของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ภายใต้กระทรวงการคลัง และระบบ SSO Connect ของสำนักงานประกันสังคม ที่ใช้สร้างบัตรประกันสังคมแบบเสมือน เพื่อให้บริการตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ประกันตน เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังตั้งเป้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอยู่บนพื้นฐานที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและคุ้มค่า อีกทั้งมีการขับเคลื่อนบุคลากรภาครัฐเข้าสู่การเป็น e-Government รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนการทำงานในองค์กร เทคโนโลยี และกฎระเบียบ เพื่อยกระดับงานบริการของภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในการขับเคลื่อนรัฐบาลสู่ ‘รัฐบาลดิจิทัล’ หรือ e-Government ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องนี้ มีหน่วยงานหลักสำคัญ นำโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของระบบรัฐบาลดิจิทัล ที่ทำหน้าที่ให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานภาครัฐ และประชาชน ทั้งในด้านความสะดวกและรวดเร็วจากระบบที่มีการเชื่อมโยงกันเป็นบริการแบบ One-Stop Service รวมถึงมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ผ่านข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Open Government Data of Thailand

ขณะเดียวกัน ETDA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อน e-Government ตามแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 - 2565 ที่มุ่งยกระดับทุกภาคส่วนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการดำเนินงานที่ส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคงปลอดภัย และน่าเชื่อถือ ด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย เห็นได้จากผลสำรวจโดย ETDA ที่พบว่า ในปี 2564 มูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยมีแนวโน้มการเติบโตสูงถึง 4.01 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 6.11% จากปี 2563 จากการที่รัฐบาลได้มุ่งส่งเสริมและผลักดันในการวางสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ในปี 2565 ETDA ยังได้เดินหน้าขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เร่งเปลี่ยนผ่านบริการแบบเดิมสู่บริการแบบดิจิทัลให้เกิดขึ้นในภาครัฐอย่างเข้มข้น เช่น การสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน Digital Signature การขยายระบบ e-Saraban ไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันมากขึ้น รวมถึงกำกับและดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล (Digital Service) เดินหน้าผลักดันให้เกิดการบังคับใช้ (ร่าง) พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... เหล่านี้มิใช่เพียงส่งผลดีในแง่บริการประชาชนเท่านั้น แต่จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะช่วยขยายการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศให้ใหญ่ขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง

สามารถติดตามข่าวสารน่าสนใจของ ETDA ได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand  รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ETDA Thailand ทุกช่องทาง

Rating :
Avg: 5 (3 ratings)