TOP

Sitemap

Sitemap Descriptions

เกี่ยวกับ สพธอ.

Knowledge Sharing

ETDA Live Ep.6: โดเมนเนมภาษาไทย ใช้-ดี ยังไง? ไขข้อสงสัย ที่เราอาจไม่เคยรู้

Digital Service Documents
  • 24 มิ.ย. 64
  • 2200

ETDA Live Ep.6: โดเมนเนมภาษาไทย ใช้-ดี ยังไง? ไขข้อสงสัย ที่เราอาจไม่เคยรู้

เมื่อเอ่ยถึง “โดเมนเนม” หลายคนคงนึกถึง โดเมนภาษาอังกฤษ แต่ใครจะรู้ว่าเรามี “โดเมนเนมภาษาไทย” ซึ่งว่ากันว่า นี่เป็นอีกเครื่องมือนึงที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงเว็บไซต์และบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ และยังลดปัญหาที่อาจเกิดจากการแอบอ้างและลดการสับสนของผู้บริโภคได้อีกด้วย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ THNIC Foundation ได้จัดเวที ETDA Live Ep.6 หัวข้อ  โดเมนเนมภาษาไทย ใช้-ดี ยังไง? ไขข้อสงสัย ที่เราอาจไม่เคยรู้ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจถึงแนวทางในการใช้งานโดเมนเนมที่สร้างโอกาสให้กับสังคมในการ Go Digital ได้ง่ายและมั่นคงปลอดภัย โดยมี ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด รองผู้อำนวยการ ETDA ธงชัย แสงศิริ ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมผลักดันโดเมนเนมภาษาไทยของ ETDA ร่วมแลกเปลี่ยนกับ เพ็ญศรี อรุนวัฒนามงคล ผู้บริหาร THNIC Foundation หน่วยงานที่ดูแลและจดทะเบียนโดเมนเนมของไทย พร้อมกับ มือสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ใช้โดเมนเนมภาษาไทย คือ พนา ไหวพินิจ เบื้องหลังเว็บไซต์ กาแฟเมืองปาน.ไทย และ เมธปริยา คำนวนวุฒิ Head of Marketing, Lnw Co., Ltd. ที่ร่วมดันให้ผู้ค้าบนแพลตฟอร์มหันมาใช้โดเมนเนมภาษาไทย 

โดเมนเนม คืออะไร

เพ็ญศรี เกริ่นนำว่า “หลายคนอาจจะบอกว่า ‘โดเมนเนม’ คืออะไร อย่างที่ ETDA ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยทุกปี ว่ากิจกรรมออนไลน์ยอดนิยมคืออะไร เห็นได้ทุกครั้ง คือ โซเชียลมีเดีย ดูหนัง ดูทีวีออนไลน์ ถ้าเราเข้าโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก เราก็พิมพ์ facebook.com เข้าไป หรือว่าเวลาเราไป search เราก็ต้องเข้า google.co.th พวกนี้ที่เราเห็น คือ ชื่อโดเมน หรือโดเมนเนม เป็นส่วนที่เราเอามาใช้กับชื่อเว็บไซต์ นอกจากนั้น โดเมนเนม ยังเอาไปใช้เป็นที่อยู่อีเมล (Email Address) ด้วย อย่าง etda.or.th แต่ละคนก็มีอีเมลว่า [email protected] ด้วย”

ศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการอภิบาลอินเทอร์เน็ต อธิบายความหมายของ Domain Name System หรือ ระบบโดเมนเนม ไว้ว่าคือ ระบบชื่อโดเมนที่ช่วยให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต สามารถทราบประเภทของเว็บไซต์ที่เข้าใช้งานได้ง่าย เพราะโดยปกติคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกเครื่องจะมีหมายเลขที่อยู่ประจำเครื่อง คล้าย ๆ กับหมายเลขโทรศัพท์ แต่มีจำนวนตัวเลขมากกว่า เรียกว่า เลขที่อยู่ไอพี หรือ Internet Protocol - IP ซึ่งจดจำได้ยาก การใช้ชื่อโดเมนจึงช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เพียงแค่จำชื่อโดเมน ไม่ต้องจำเลขที่อยู่ไอพี เช่น แทนที่จะต้องพิมพ์ 207.151.1593 ก็พิมพ์เพียงแค่ www.internic.net เท่านั้น ระบบชื่อโดเมนจึงเปรียบเสมือนอุปกรณ์ช่วยจำที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อมีผู้พิมพ์ชื่อโดเมนเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ใดเว็บไซตํหนึ่ง ระบบชื่อโดเมนจะแปลชื่อดังกล่าวเป็นหมายเลขที่อยู่ไอพี แล้วจึงเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์นั้น ๆ นอกจากนี้ ระบบชื่อโดเมนยังช่วยทำให้อีเมลสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมและส่งถึงผู้รับได้อย่างถูกต้องด้วย

ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า หากย้อนไปอดีต เราพบแต่โดเมนเนมที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีไม่กี่โดเมน เช่น .com .org ตอนหลังจึงมีเพิ่มเยอะแยะเต็มไปหมด เพราะเมื่อโลกเปลี่ยน คนใช้งานอินเทอร์เน็ตก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการอภิบาลอินเทอร์เน็ต หรือธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance) นำโดย ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) หรือ องค์กรความร่วมมือด้านการจัดสรรชื่อและหมายเลขทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและรับผิดชอบในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานหลักของระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนระดับนานาชาติ ในการกำหนดทิศทางการใช้อินเทอร์เน็ตที่ตอบโจทย์คนทั้งโลกจริง ๆ และ ETDA ก็ไปเป็นตัวแทนประเทศไทยในการให้ความเห็นนั้นด้วย
 
ธงชัย เสริมว่า ETDA ได้รับมอบหมายจากทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเข้าร่วมเวทีของ ICANN ในฐานะ Advisory Committee ซึ่งเมื่อจะพิจารณานโยบายอะไร ที่กระทบกับการใช้อินเทอร์เน็ต ก็จะถามว่า Stakeholder กลุ่มไหนมีความเห็นอย่างไร เพราะ ICANN ก็ทำงานกันแบบเรียกว่า Multistakeholder และเราไปเป็นหนึ่งใน Stakeholder ในฐานะของตัวแทนภาครัฐ 170 กว่าประเทศ
 
เพ็ญศรี ได้ขยายความให้ฟังว่า THNIC เอง มีพันธกิจหลายอย่าง แต่อย่างที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารจัดการตัวโดเมนที่เรียกว่า รหัสประเทศ ได้แก่ .th และ .ไทย โดยมูลนิธิฯ ได้รับมาจาก ICANN ซึ่งเหมือนกับการส่งต่อในการกระจายโดเมนแต่ละตัว มาให้บริหารจัดการกันเอง
 
“อย่างที่ ดร.ศักดิ์ บอกว่า แต่ก่อน เราก็มี .com .net .org ไม่กี่ตัว แล้วก็มีโดเมนรหัสประเทศของแต่ละประเทศ รวม ๆ หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็มีอยู่ 200 กว่าประเทศ ก่อนหน้านี้ 30-40 ปี ที่อินเทอร์เน็ตเริ่มก็มีแค่ 200 กว่าตัวเท่านั้นเอง ถึงปัจจุบันก็มีเป็น 1,500 กว่าแล้ว สำหรับ Top-level Domain
 
20160614-final-Internet-Gov-Technical-Terms-TLD.jpg

จุดประกาย โดเมนเนมภาษาท้องถิ่น 

เพ็ญศรี อธิบายเรื่องนี้ว่า ภาษาอังกฤษ ก็เป็นภาษาสากลที่ใช้กันทั่วโลก การใช้โดเมนเนมก็เช่นเดียวกัน จนมาถึงราว ๆ ช่วงปี 2010 ก็เริ่มเกิดการทดลองของประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ในการเริ่มใช้ Internationalized Domain Name คือเริ่มนำภาษาถิ่นตัวเองมาใช้ อย่างประเทศไทย ก็เริ่มทดสอบโดยการให้จดโดเมนภาษาไทยข้างหน้า ลงท้ายด้วย .th เพราะตอนนั้น Top-level Domain ยังไม่มีตัวที่เป็นภาษาท้องถิ่น จนกระทั่งเกิด .ไทย ขึ้นในที่สุด
 
“อย่างจีน รัสเซีย หรืออินเดีย ที่เขามีประชากรเยอะลย หรือมีภาษาของตัวเอง ก็ต้องการที่จะให้คนในประเทศที่ไม่รู้จักตัวอักษรภาษาอังกฤษ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นอุปสรรคของเขาแหมือนกัน เป็น Digital Divide อย่างนึง พอเริ่มมีการใช้ภาษาท้องถิ่น ICANN ก็มองเห็นความจำเป็น ก็เลยเปิดตัว Top-level ให้เริ่มพิจารณาว่า ประเทศไหนอยากจะมีภาษาท้องถิ่นของตัวเองบ้าง ซึ่งไทยก็ submit application เข้าไป และเปิดลงทะเบียนในปี 2011 หรือ 2554 คือ 10 ปีที่แล้วพอดี ปีนี้ก็เลยเป็นการฉลอง 10 ปีของประเทศไทย
 
รู้จัก.ไทย ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโดเมนเนมภาษาไทย ได้ขยายความเรื่องนี้ว่า Internationalized Domain Name (IDN) หรือ โดเมนเนมภาษาท้องถิ่น คือ ชื่อโดเมนที่สามารถประกอบด้วยอักษร (character) อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวอักษรภาษาอังกฤษ 37 ตัว ซึ่งได้แก่ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ (อักษรละติน) ในรหัส ASCII A-Z, ตัวเลขอารบิก 0-9 และเครื่องหมายยัติภังค์ (-) แต่เดิมการจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมถูกจำกัดให้ใช้ตัวอักขระ ASCII เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิคของระบบชื่อโดเมน ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบ IDN เราจึงสามารถใช้ตัวอักษรในภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาไทย อันหมายรวมถึงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายอื่น ๆ ในภาษาไทยในรหัส  Unicode  ในการกำหนดชื่อโดเมนได้ และมีการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยครั้งแรกในปี 2554 โดยตัวอย่างที่สามารถใช้ เช่น กรมแพทย์ทหารเรือ.รัฐบาล.ไทย หรือ รู้จัก.ไทย ตามหลักการตั้งชื่อโดเมนที่กำหนดไว้ใน นโยบายการรับจดทะเบียนชื่อโดเมน .th และ .ไทย ฉบับปรับปรุงปี 2563 โดย THNIC
 
  • เว็บไซต์ไทยที่ใช้โดเมนเนมภาษาไทย ใช้สื่อความหมายได้ชัดเจน ไม่ต้องแปลเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ก่อให้เกิดปัญหาในการอ่านและการสื่อสารชื่อโดเมน นอกจากนี้โดเมนเนมภาษาไทยยังใช้บ่งบอกความเป็นตัวตน ขององค์กร ชุมชน บุคคล ได้
  • การใช้โดเมนเนมภาษาไทย ช่วยลดข้อจำกัดด้านภาษา ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และช่วยเพิ่มมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยได้ ผู้ประกอบการที่ต้องการโปรโมตสินค้าในไทย สามารถตั้งชื่อโดเมนที่บอกได้ทำธุรกิจอะไร ทำให้ลูกค้าจดจำชื่อโดเมน และค้นหาชื่อโดเมนนั้นได้ง่ายขึ้น
ในเรื่องการโปรโมตสินค้า เมธปริยา ขยายความว่า แม้ในธุรกิจของเธอเองยังไม่ได้ใช้ .ไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ยังใช้ .com อยู่ แต่ว่าการให้บริการร้านค้าออนไลน์ที่มี 8 แสนกว่าร้านค้าบนแพลตฟอร์มของเธอ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ คนไทยค้าขายกันบนอินเทอร์เน็ตกันเยอะ ซึ่งการแข่งขันในการค้าก็จะมีเรื่องทำให้คนค้นหาเราได้ง่าย และคนจดจำเว็บของเราได้ง่าย ซึ่งจริง ๆ บางคนจดโดเมนชื่อภาษาไทย.com เอาไว้แล้ว แม้ยังไม่ใช้โดเมน .ไทย เพื่อให้คอนเทนต์ค้นหาโดยคนไทยได้ง่าย
 
“ตรงนี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ สามารถเอามาเสริมได้อีก 1 ข้อ เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับในกูเกิล และอีกข้อ คือเรื่องของการจดจำได้ง่ายกว่า ถ้าพิมพ์ภาษาอังกฤษ อาจจะสะกดยาก ดังนั้น โอกาสที่เราจะให้คนเข้าถึงเว็บไซต์ของเราได้มากขึ้น ก็มีโอกาสเกิดขึ้นด้วย จึงสนใจ .ไทย ตรงนี้”
 
อย่างไรก็ตาม เมธปริยา ก็บอกว่า เรื่องการติดอันดับของการค้นหาคำใน Search Engine ก็มีปัจจัยหลาย ๆ ข้อ แต่ถ้าเป็นคนไทยค้นหาก็ควรจะเจอคอนเทนต์ที่เป็นของคนไทยก่อน ดังนั้น การใช้ชื่อคำเฉพาะที่เป็นภาษาไทยก็มีโอกาสมากกว่า เพียงแต่ว่าก็เป็น 1 คะแนนในอีกหลาย ๆ ข้อ นอกจากนั้น เวลาเราค้น keyword ปกติ จะมีการให้น้ำหนักกับการที่ keyword อยู่ในโดเมนเนม ถ้าคำไหนอยู่ในโดเมนเนม ก็จะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นไปอีก
 

ทำไมต้องใช้ .ไทย

เพ็ญศรี ขยายความให้ฟังว่า หากเป็น .ไทย เป็นการจดกับ THNIC โดยตรง ดังนั้นจึงตรวจสอบตัวตนของผู้จดได้ หากใครทำธุรกรรมกับโดเมนเนมที่ลงท้ายด้วย .ไทย ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่ง ว่ามีตัวตน สามารถเข้าถึงได้ และเชื่อมั่นได้ ต่างกับการจดเป็น .com ซึ่งหน่วยงานทะเบียนที่ดูแลอยู่ที่สหรัฐฯ นอกจากเงินที่ไหลไปยังหน่วยงานจดทะเบียนที่อยู่ต่างประเทศ การที่เปิดให้บริการทั่วโลก จำนวนโดเมนเนมก็มาก การที่จะดูแลตรวจสอบว่า คนที่จดทะเบียนชื่อนั้นจริงไหม หรือหมายเลขโทรศัพท์นั้นจริงไหมก็อาจจะไม่ทั่วถึง ทำให้มีกรณีการจดโดเมนเพื่อหลอกลวง หรือ Phishing ขึ้น  

domain_thai-(1).jpg
 
สำหรับ พนา กล่าวถึงความเป็นมาของ กาแฟเมืองปาน.ไทย ว่าเริ่มมาจากกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ซึ่งในเรื่องการตลาดของเกษตรกร การที่จะสร้างเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าก็ค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก ยิ่งเป็นภาษาอังกฤษแทบจะไม่ต้องพูดถึง โอกาสที่มีก็จะน้อยมาก เมื่อทาง THNIC สนับสนุนให้สร้างเว็บไซต์เพื่อขายสินค้า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของเกษตรกร ซึ่งอาจยังไม่สามารถที่จะทำหรือใช้เวลาตรงนี้ได้ เขาก็ได้เข้าไปมีส่วนช่วย ที่ผ่านมา เขาก็เคยมีประสบการณ์ทำเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ พอมาเจอที่เป็นภาษาไทย ก็ง่ายขึ้นที่จะเพิ่มเติมหรือทำอะไรในเว็บไซต์
 
การมีเว็บไซต์ ได้มีส่วนที่ประชาสัมพันธ์ว่า กาแฟของเกษตรกรขายที่นี่นะ ทำให้คนค้นหาได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กาแฟของเกษตรกรขายได้ ยอดขายก็ดีขึ้น นอกจากนั้น ในเว็บไซต์ยังได้ใช้ประชาสัมพันธ์ เรื่องการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ให้เกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ในอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
 
อีกอย่างคือ สินค้าที่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ กลุ่มเป้าหมายก็คือคนไทย ที่อยู่ในประเทศไทย เมื่อค้นหาได้ง่าย ประชาสัมพันธ์ได้ง่าย ก็เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร ได้ง่าย
 

จากเว็บไซต์ .ไทย สู่อีเมล .ไทย

ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า เคยสอบถามคนสำรวจข้อมูลว่า ทำไมคนไทยนิยมใช้แอปพลิเคชันไลน์ ก็พบว่าไลน์ไม่จำเป็นต้องใช้อีเมลในการสมัคร เราสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือได้ คนที่นิยมใช้ไลน์โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด จึงไม่ค่อยใช้เฟซบุ๊ก เพราะพอสมัครแล้วต้องใช้อีเมล เลยมองว่า การที่มีโดเมนเนมภาษาไทย เราก็มีอีเมลภาษาไทย ซึ่งจะไปขยายผลได้หลายอย่าง
 
เพ็ญศรี ตอบว่า ตอนนี้ก็ทำได้แล้ว สมมติการาจดในนามขององค์กรเป็นโดเมนเนมภาษาไทย ก็สามารถสร้างอินบ็อกซ์หรือเมลบ็อกซ์เป็นภาษาไทยด้วย ถ้าต้องการทดลองเข้าไปใช้อีเมลภาษาไทย สามารถเข้าไปที่เว็บ คน.ไทย ที่จะสมัครขอเปิดบัญชีอีเมลได้ ข้างหน้าก็จะเป็นชื่อคนขอ เช่น เพ็ญศรี@คน.ไทย
 
ที่ผ่านมา ก็มีการสอบถามหาก หากใช้อีเมลภาษาไทยสามารถนำไปติดต่อสื่อสารกับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ไหม ซึ่งการทำ solution ของอีเมลนี้ สามารถที่จะทำให้ระบบรู้ได้เอง ว่าคนรับรับภาษาไทยได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็จะส่งภาษาอังกฤษที่คู่กันไป คือ อีเมล จะมีทั้งแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเมลบ็อกซ์เดียวกัน หากคนต่างชาติจะพิมพ์หาก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ ส่วนคนไทยจะพิมพ์หากันเอง ก็ใช้ภาษาไทยด้วยกันได้เลย จึงตอบโจทย์ทั้งสองด้าน
 

มองสู่อนาคต e-Service ภาครัฐ

 
ดร.ศักดิ์ มองว่าในยุคต่อไปที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัลหมด เอกสารจากภาครัฐ ที่ ETDA เองก็ผลักดันในเรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ประเด็นคือจะส่งให้ประชาชนอย่างไร กรมการปกครอง จะส่งบัตรประชาชน ส่งทะเบียนบ้านอิเล็กทรอนิกส์ให้เราอย่างไร ก็น่าจะเป็นอีเมล
 
“พอพูดถึงอีเมล คนไทยเราจะใช้อะไรเป็นชื่ออีเมล ตอนนี้ผมว่าตอบโจทย์มาก ก็คือ ชื่อนามสกุล คนไทยคนนั้น แล้วก็ @คน.ไทย กลายเป็นที่อยู่ดิจิทัลของคนแต่ละคนเลย เคยคิดว่าเอาเลข 13 หลักมาใส่ มันไม่ใช่ มันไม่ควรจะเปิดเผย”
 
เพ็ญศรี เสริมว่า แนวคิดลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศเอสโตเนีย ซึ่งตัวบัตรประชาชนิจะมีอีเมลของคนคนนั้นติดมาด้วยเลย เมื่อไรก็ตามที่รัฐจะส่งเอกสารที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะส่งทางอีเมลนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมลบ็อกซ์นี้จะเป็นเมลบ็อกซ์ที่ติดตัวเราตั้งแต่เกิดจนจากโลกนี้ไป
 
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐได้ส่งเสริมเรื่องการใช้ Digital ID การมีตัวอีเมลภาษาไทยก็เหมือนการนำร่อง เริ่มให้เว็บไซต์ที่ให้บริการทั่วไป ใช้อีเมลภาษาไทยในการล็อกอินเข้าไปใช้บริการของระบบนั้นได้ เช่น THAIMOOC สามารถที่จะใช้ล็อกอิน คน.ไทย เข้าไปเรียนบทเรียนออนไลน์ได้ด้วย เป็นเหมือนแอปพลิเคชันเสริมที่อีเมลสามารถนำไปใช้ได้ ต่อไป หากบริการภาครัฐ เมื่อประชาชนทุกคนมีอีเมลภาษาไทย อาจตั้งขึ้นมาใหม่ก็ได้ ที่ว่าคนทั้งประเทศใช้ได้ ก็สามารถให้ภาครัฐที่จะให้บริการกับประชาชน ใช้อีเมลภาษาไทยนี้ในการล็อกอินหรือการเข้าไปยืนยันตัวตนได้ว่าเป็นตัวเขา เพื่อเข้าไปใช้บริการได้
 

มาร่วมส่งเสริมการใช้ .ไทย 

“เงินที่เรารับจดทะเบียนโดเมน .th หรือ .ไทย ได้ส่งกลับเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตให้กับประเทศ มูลนิธิฯ เองก็มีโครงการ เช่น การไปทำเน็ตถึงบ้าน พวกเน็ตชายขอบ หรือการที่เราพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศ จัดสัมมนาอบรม หรือว่าในด้านเทคโนโลยี การใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือการใช้อีเมลภาษาไทย ก็ยังต้องการจะให้ทุกคนในประเทศ อยู่ใน ecosystem เดียวกัน ก็พัฒนาให้รองรับภาษาไทย อีเมลก็ภาษาไทย เพื่อให้คนท้องถิ่นหรือในชุมชน สามารถใช้งานได้ เราควรจะมีข่องทางที่ให้ประชาชนคนไทยทุกคน เข้าถึงได้ เพ็ญศรี ย้ำถึงสิ่งที่ได้จากการส่งเสริมให้คนใช้ .ไทย
 
ที่ผ่านมา แนวทางที่ THNIC ดำเนินการคือการสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมและส่งเสริมแอปพลิเคชันต่าง ๆ ให้ใช้ .ไทย มากขึ้น หรือการผลักดันให้โครงการภาครัฐหรือหน่วยงานภาครัฐได้นำเอาชื่อโดเมนภาษาไทยไปใช้ มีการเข้าไปแนะนำในกลุ่มการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็สนใจ ที่จะนำโดเมนภาษาไทยไปใช้กับโครงการใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยว
 
ออกจากนั้นก็ตั้งกลุ่ม Community ของ Developer เพื่อพัฒนาให้เว็บไซต์รองรับตัวอีเมลหรือใช้อีเมลภาษาไทยในการสมัครสมาชิกของแต่ละเว็บได้ ซึ่งการทำงานของระบบต้องเป็นระบบนิเวศเดียวกัน ต้องย้ำให้ Developer ตระหนักว่า ต่อไปนี้ มีการใช้อีเมลภาษาไทย ควรจะเปิดช่องให้ใช้ได้ด้วย
 
ด้านผู้ฟังจากทางบ้าน เสริมว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยคุ้นชินกับการใช้ภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ การทำให้ทุกอย่างเป็นภาษาไทยจะทำให้สิ่งที่ภาครัฐอยากได้ประสบความสำเร็จ ในเรื่องโควิด-19 เราก็มีเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น เราชนะ, ไทยร่วมใจ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ได้ลงท้ายด้วย .ไทย เลยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยผลักดันว่า ให้ทุกอย่างเป็นภาษาไทยหมด หรือในประกาศของระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยงานสารบรรณ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ ที่อนุญาตให้ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ยอมรับเป็นหนังสือราชการประเภทหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานที่นำร่องทั้งหมดควรจะเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลยที่จะให้ชื่ออีเมล ลงท้ายด้วย .ไทย ที่เป็นภาษาไทยทั้งหมด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและขยายผลไปเลย หรือที่มีการประกาศว่า ให้ยอมรับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการจัดซื้อจัดจ้างได้ ถ้าผลักดันตรงนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นการขยายผล ถ้าภาครัฐใช้ ก็จะนำไปสู่ความสนใจกับคนทั่วไป จะขยายผลและมีการประยุกต์ใช้งานอย่างรวดเร็วได้
 
ด้าน ศิรณัชชา วุฒิประพันธ์พงศ์ จาก THNIC ปิดท้ายว่า การลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ที่ผ่านมาว่า หากภาครัฐไม่ช่วยสื่อสารด้วย คนในชุมชนหรือผู้นำชุมชน ก็อาจไม่เห็นความสำคัญ เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น หากทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีความสนใจที่ร่วมมือกันในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ว่ากันว่า "โดเมนเนมภาษาไทย” เป็นอีกเครื่องมือนึงที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงเว็บไซต์และบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ และยังลดปัญหาที่อาจเกิดจากการแอบอ้างและลดการสับสนของผู้บริโภคได้อีกด้วย

Rating :
Avg: 0 (0 ratings)