Digital Service
- 12 เม.ย. 64
-
11062
-
ETDA Live Ep.5: ลงทะเบียน D.DOPA ติดต่อราชการแบบออนไลน์ได้เลย
ที่ผ่านมา บัตรประชาชน คือหลักฐานยืนยันตัวบุคคล (Thai National ID Card) มาโดยตลอด แล้วเมื่อบัตรนี้ ไปอยู่ใน Mobile App ในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด หรือ Digital ID ภายใต้ D.DOPA ของกรมการปกครอง และได้มาเข้าร่วม Sandbox ของ ETDA เป้าหมายที่มองไปข้างหน้าคือ ธุรกรรมที่มั่นคงปลอดภัย เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ ต้นทุนและค่าบริการที่ถูกลง พร้อมความสะดวกสบาย เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น
จากการที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้นำ D.DOPA เข้ามาร่วม โครงการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Service Sandbox Sandbox ของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนับเป็นการทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการที่ประเทศไทยจะก้าวไปเป็น Digital Nation ได้ นั่นคือ Digital ID ได้นำมาสู่การพูดคุยของ ETDA Live Ep.5 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
พัฒนาการของ ID สู่ Digital ID
สุชาติ ธานีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เท้าความถึงพัฒนาการของ ID สู่ Digital ID ว่า จริง ๆ แล้ว D.DOPA เกิดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป พอพูดถึง Digital ID ก็ยังสับสนกันอยู่ บางคนยังเข้าใจว่าเป็นบัตรใบที่ 2 แม้ที่ผ่านมาบัตรประชาชนจะพัฒนาโดยมีชิปฝังในบัตร การให้บริการทำธุรกรรมจะมีการให้เสียบบัตรและอ่านข้อมูลผ่านเครื่องอ่านบัตร แต่ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์เรื่อง Digital ID แต่ยิ่งเมื่อโลกเปลี่ยน ล่าสุดคือ การเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการคิดต่อยอดเรื่อง Digital ID กับธุรกรรมบางอย่างของรัฐที่เริ่มได้ก่อน
“ก็มองว่าจะทำอย่างไร เช่น งานทะเบียน ประชาชนไม่ต้องไปนั่งรอที่อำเภอ สองชั่วโมง บางทีไปนั่งรอคัดเอกสาร สองชั่วโมง บางทีจะไปย้ายชื่อทะเบียนบ้านเพื่อไปเข้าบ้านของแม่ตัวเอง ก็ไปรอสองชั่วโมง เราก็บอกถ้างั้น เอาธุรกรรมบางอย่างนี่แหละ มาทำเป็น Digital ID ก็เกิดเป็นแนวคิดเรื่องนี้ขึ้นมา”
ศุภโชค จันทรประทิน เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์นโยบาย พัฒนามาตรฐานและหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ETDA เสริมในเรื่องนี้ว่า ตัว ID หรือบัตรประชาชนนั้นมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อย่างบัตรในปัจจุบันที่มีชิปเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของบุคคล และสามารถอ่านข้อมูลด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ และเมื่อพูดถึงคำว่า Digital ID ซึ่งหมายความว่า ID พวกนี้จะอยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ซึ่งสามารถเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ที่เป็น Mobile Device ต่าง ๆ ได้
Digital ID การพิสูจน์ตัวตน และการยืนยันตัวตน
ศุภโชค ขยายความว่า Digital ID คือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เวลาที่เรานำไปใช้ยืนยันตัวตน ก่อนที่จะทำธุรกรรมออนไลน์ทุก ๆ ธุรกรรม เช่น username – password ที่เราใช้เข้าไปเช็กอีเมล ซื้อขายออนไลน์ ทำ Mobile Banking ฯลฯ
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกรรมออนไลน์ มีความจำเป็นที่จะต้องทราบว่าคนที่ทำธุรกรรมอยู่เป็นใคร ซึ่งระดับความน่าเชื่อถือว่า ใครเป็นคนทำธุรกรรมอยู่ จะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ความเข้มข้นในการพิสูจน์ตัวตนของคนที่จะทำธุรกรรมนั้นว่า ต้องการความเข้มข้นแบบไหน ถ้าเราต้องการความเข้มข้นมาก ก็ต้องตรวจสอบให้อย่างถ่องแท้ว่า คนที่ทำธุรกรรมอยู่เป็นคนคนนั้นจริง ๆ ไม่ได้เป็นคนที่ปลอมตัวมา
Digital ID จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกรรมทางออนไลน์ทุกอย่าง
ที่ผ่านมา ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ก็มีความตื่นตัวมากในการใช้งาน Digital ID เพื่อเสริมการให้บริการออนไลน์ ซึ่งต้นทุนหนึ่งที่ธุรกิจประสบอยู่คือ กระบวนการพิสูจน์ตัวตน ที่ต้องให้ประชาชนหรือลูกค้า เดินทางมาที่สาขา เพื่อมาเสียบบัตรประชาชน กรอกข้อมูล หรือสอบถาม เพื่อทำกระบวนการพิสูจน์ตัวตนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยงานกำกับ ทาง ETDA ก็เป็นผู้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2561 เพื่อกำหนดมาตรฐานในการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตน
“พิสูจน์ตัวตน” คือ กระบวนการที่เราเริ่มทำความรู้จักกับคนที่จะมาทำธุรกรรม ว่าเขาเป็นใคร ส่วนใหญ่ก็จะทำครั้งแรก อาจจะทำครั้งเดียว หรือทำทุก ๆ บางช่วงเวลา ทุกปี ทุกเดือน แล้วแต่ความถี่ที่กำหนด แต่เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ทำบ่อย ส่วนใหญ่คือทำครั้งแรกแบบเข้มข้น ครั้งถัดไปก็เหมือนกลับมาอัปเดตว่า มีความถูกต้องหรือใช้ได้อยู่ไหม เพราะอาจมีการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล
“ยืนยันตัวตน” เป็นกระบวนการที่ทำทุก ๆ ครั้งที่มีการทำธุรกรรม ทุกครั้งที่มีการเข้าไปใช้งานออนไลน์ หรือใช้บริการออนไลน์ ซึ่งต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตนว่าเป็นเราจริง ๆ
“2 คำนี้เป็นคำที่อยู่คู่กันสำหรับเรื่อง Digital ID โดย พิสูจน์ตัวตน คือ ผูกตัวเราเข้ากับ Digital ID ก่อน หลังจากนั้น พอเราได้ Digital ID เราก็เอา Digital ID นั้นมายืนยันตัวตน เพื่อใช้บริการในการทำธุรกรรมต่าง ๆ”
D.DOPA Digital ID ของกรมการปกครอง
สุชาติ กล่าวว่า ด้วยการที่ กรมการปกครอง ได้เก็บอัตลักษณ์บุคคลของคนไทยตั้งแต่ 7 ขวบ ก็ควรจะเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องมาพิสูจน์ความเป็นตัวตนของคนคนนั้น วิธีการก็สามารถทำได้ง่าย ๆ คือ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน D.DOPA ซึ่งมีอยู่ในสองระบบทั้งแอนดรอยด์และ iOS แล้ว แล้วเดินไปที่อำเภอหรือสำนักงานเขต อย่างไรเสีย ทุก 8 ปีทุกคนก็ต้องทำบัตรประชาชน ดังนั้น เมื่อไปเพื่อทำบัตรแล้ว ก็แค่เดินไปเคาน์เตอร์แล้วบอกว่า ขอ Digital ID ด้วย
“กระบวนการง่าย ๆ คือ แสดงบัตร เสียบบัตร แล้วให้แปะนิ้ว ว่าเป็นคุณจริงหรือเปล่า พอผ่านกระบวนการตรงนี้ ก็ยืนยันตัวตน ยิง QR Code แล้วต้องใส่ PIN ตัวเลขสามหลักให้ถูก หลังจากนั้นก็ gen รหัสผ่านแปดหลัก”
สิ่งที่ผู้ขอ Digital ID จะได้รับคือ เมื่อล็อกอินเข้าไปในแอป D.DOPA แล้ว สิ่งที่จะได้เห็นคือ ข้อมูลของคนคนนั้นที่รัฐจัดเก็บทั้งหมด ไม่ใช่แค่ข้อมูลกรมการปกครอง แต่หมายถึงระบบ Linkage Center ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกันทุกหน่วยเลย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 223 ฐานข้อมูลแล้ว “ฉะนั้น ผมเห็นข้อมูลการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน ทำไมยังผิดอยู่ นามสกุลผิด อะไรก็ว่าไป ซึ่งประชาชนจะเป็นคน audit ได้อย่างดี เห็นข้อมูลผิด ก็ไปแก้” รวมทั้งยังสามารถใช้ระบบจองคิวออนไลน์ “จากสมัยก่อนเราไปนั่งรอทำบัตร นั่งรอทำธุรกรรมกับรัฐ ที่อำเภอ ที่เขต เราไปบางทีคิวเต็ม ก็มีระบบจองคิว เหมือนจะไปทำบัตรก็จองคิวผ่าน Digital ID”
ในอนาคต จะมีบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามาเรื่อย เพราะบริการภาครัฐต่าง ๆ กำลังทยอยเปลี่ยนระบบสู่อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีไม่น้อยกว่า 5 ส่วนราชการแล้วที่แจ้งความประสงค์ ว่าจะมาร่วมด้วย โดยสิ่งที่กรมการปกครอง อยากจะเห็นเป็นเป้าใหญ่คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีประชาชนอยู่ในระบบหลายสิบล้านราย อนาคต หากจะแจ้งเปลี่ยนสิทธิ์รักษาพยาบาล ก็ไม่ต้องไปที่ส่วนราชการแล้ว สามารถทำผ่าน Digital ID ได้เลย
D.DOPA กับ ETDA Sandbox
ศุภโชค กล่าวว่า เนื่องจาก ปัจจุบันมีนวัตกรรมในการให้บริการ Digital ID หลายรูปแบบมาก และแต่ละแบบก็มีความแปลกใหม่และความท้าทายอยู่ จึงเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามาร่วมทดสอบใน Sandbox ของ ETDA เพื่อจะให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่จะไปให้บริการสอดคล้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย ทำให้เกิดความมั่นใจกับผู้บริโภคที่จะมาใช้งานในอนาคต
ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ที่ปรึกษา ETDA ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Innovation Sandbox แลกเปลี่ยนว่า หลังจากที่ ETDA เปิด Sandbox แล้ว ได้มีการทดสอบหลาย ๆ บริการ แต่ Digital ID ก็เป็นพระเอก เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการใช้ได้อย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพมากกว่าบัตรประชาชนที่เราคุ้นชินด้วย
“Digital ID น่าจะเป็นมิติใหม่ของโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เราใช้ชีวิต โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น”
สุชาติ ให้เหตุผลว่า เมื่อเป็น Digital ID ก็ต้องให้ความสำคัญกับ ความน่าเชื่อถือ มีการหารือกับ ETDA ว่าต้องกำหนดมาตรฐานให้ จะต้องดำเนินการตามมาตรฐานอะไร ต้องการระดับที่เท่าไร และนำเข้าสู่การทดสอบนำร่องใน Sandbox ที่ ETDA ก่อน อย่างน้อยก็เพื่อให้ทาง ETDA รับรองให้
อนาคต Digital ID ไทย
ศุภโชค กล่าวว่า คนไทยรู้จัก Digital ID กันมานานแล้ว เช่น username-password ที่ล็อกอินเข้าอีเมล หรือเล่นเฟซบุ๊ก มี Facebook ID ใช้กูเกิล ก็มี Google ID ใช้ระบบของแอปเปิล ก็มี Apple ID ดังนั้น ทุกวันนี้ เรามี ID หลาย ๆ อย่างอยู่แล้วที่เป็น Digital ในชีวิตประจำวัน แต่ ID ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศล่ะ
เนื่องจากทุก ID ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดโดยหน่วยงานของรัฐ หรือว่าหน่วยงานของเอกชน ล้วนมาจากการที่ต้องพิสูจน์ตัวตนด้วยบัตรประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น หากบัตรประชาชนอยู่ในรูปแบบของ Digital ID แล้วกระบวนการได้มา ซึ่ง ID เฉพาะธุรกรรม เช่น บัตรผู้ป่วย บัตรของบริษัทต่าง ๆ บัญชีธนาคาร บัญชีหุ้น พอร์ตหุ้นบัตรนักศึกษา หรือใบขับขี่ พวกนี้ก็คือเกิดมาจากบัตรประชาชนทั้งสิ้น
“เมื่อเรามี D.DOPA ที่เป็นบัตรประชาชนที่อยู่ในรูปแบบ Digital ID แล้ว การที่ประชาชนจะไปสมัครใช้บริการ หรือธุรกิจจะเอาลูกค้าเข้ามาในระบบของเขา ก็ไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าเดินทาง แล้วถือบัตรประชาชนที่เป็นบัตรพลาสติกแล้วมีชิป มาพิสูจน์ตัวตนที่สาขาแล้ว สามารถเชื่อมต่อกับแอปของกรมการปกครอง และทำกระบวนการยืนยันตัวตน พิสูจน์ตัวตนลูกค้า ผ่านแอป D.DOPA ได้”
นี่คือจุดเปลี่ยนและเหมาะกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเจอโควิด-19 อยู่ เพราะเมื่อก่อน กรมการปกครองให้บริการแค่ตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชน แต่วันนี้กรมการปกครองลุกขึ้นมาทำในเรื่องของบริการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตนให้กับส่วนราชการในเฟสแรก และในอนาคตก็คงให้บริการกับเอกชนได้
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกภาคส่วนควรร่วมสนับสนุน เพราะว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกคน
ความท้าทายของทุกฝ่ายคือ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไร เพราะมีหลายเทคโนโลยี หลายมาตรฐาน แต่ละธุรกิจก็มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทุกฝ่ายต้องมาแลกเปลี่ยนและหาทางที่จะเชื่อมโยงข้อมูลด้วยกัน เพื่อให้ทุก ๆ วงของการทำ Digital ID สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ เพื่อจะได้ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมลง
เป้าหมายของ ETDA ไม่มีอะไรมาก คือ ธุรกรรมมั่นคงปลอดภัย เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ ต้นทุนของการทำธุรกิจถูกลง และ ค่าบริการที่ถูกลง ไม่ใช่ว่า ถ้าเกิดว่าทำธุรกรรมปกติ ราคา 10 บาท พอเรามาทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 20 บาท ก็ไม่ได้ตอบโจทย์แล้ว มันต้องถูกลง แล้วก็สะดวกมากขึ้น เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจไทยให้ดีกว่าที่อื่น ๆ
เป้าหมายที่มองไปข้างหน้าของการใช้ Digital ID คือ ธุรกรรมที่มั่นคงปลอดภัย เชื่อมโยงข้อมูลกันได้ ต้นทุนและค่าบริการที่ถูกลง พร้อมความสะดวกสบาย เพื่อจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น